วิเคราะห์ : ชิงดำรัฐมนตรีกลาโหม จับตา "นิพัทธ์ ทองเล็ก"

การเมือง
29 พ.ค. 66
14:00
1,961
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ : ชิงดำรัฐมนตรีกลาโหม จับตา "นิพัทธ์ ทองเล็ก"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กลับไปมีข่าวบนหน้าสื่ออีกครั้ง หลังมีกระแสข่าวลืออื้ออึงว่า มีชื่อติดโผ ครม. ในตำแหน่งใหญ่รัฐมนตรีกลาโหม จนผู้ว่าฯ ชัชชาติออกปากขอฝากเนื้อฝากตัว

ก่อนที่เจ้าตัวจะออกมาพูดเรื่องนี้ในทำนองว่า เป็นการพูดแซวกันเล่นแบบอารมณ์ดีของผู้ว่าฯ กทม. แต่กระนั้น เจ้าตัวไม่ได้ตอบรับหรือตอบปฏิเสธ นอกจากบอกว่าคงไม่สามารถพูดได้ เพราะมีปัจจัยหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเมือง

พล.อ.นิพัทธ์ หรือ บิ๊กแป๊ะ เป็น ตท.14 และจปร.รุ่น 25 ในตท.14 รุ่นเดียวกับนายทหารคนดังหลายคน อาทิ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร พล.อ.ธีรชัย นาควานิช อดีตผู้บัญชาการทหารบก ทั้งคู่

นอกจากนี้ยังมี พล.อ.อักษรา เกิดผล อดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ อดีต รมช.ศึกษาธิการ และยังมีเพื่อนร่วมรุ่นอีกคน คือ พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสมช. และอดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

เมื่อครั้งเป็นปลัดกลาโหม ปี 2556 มีบทบาทสำคัญอย่างหนึ่ง คือเป็นแกนนำของฝ่ายไทยในการเจรจายุติความขัดแย้งในชายแดนภาคใต้ กับตัวแทนขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี

ต่อมาหลังรัฐประหาร พ.ค.2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. มีคำสั่งให้ย้ายไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ภาพจำที่ถูกพูดถึงมากในช่วงเป็นปลัดกลาโหม คือช่วยเหลือรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังเกิดการชุมนุมอย่างต่อเนื่องของกลุ่ม กปปส.ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผลพวงจากการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านต่อต้าน

จึงตกอยู่ในสภาพรัฐบาลไร้ทำเนียบ ไม่มีที่ทำงาน หรือแม้แต่การประชุมครม.ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากกลุ่ม กปปส.จะตามไปกดดันและปิดล้อมสถานที่

พล.อ.นิพัทธ์ ได้ยื่นมือเข้าไปช่วย เปิดพื้นที่ในสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ที่เมืองทองธานี ให้ครม.ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นที่ทำงาน ก็ยังโดน กปปส. ไปชุมนุมปิดล้อมเป่านกหวีดไล่ และปราศรัยขับไล่ พล.อ.นิพัทธ์

พล.อ.นิพัทธ์ ต้องให้คนไปซื้อไก่ย่างส้มตำมาเลี้ยงเป็นอาหารกลางวันของ ครม. และอยู่ด้วยกันกระทั่งถึงตอนเย็น ดังที่นายชัชชาติ ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีคมนาคม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ด้วย เล่าเหตุการณ์ในอดีตครั้งนั้นให้ฟัง สะท้อนให้เห็นน้ำจิตน้ำใจเอื้ออารีต่อกัน ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก

ต่อมาในภายหลัง พล.อ.นิพัทธ์ จึงไปช่วยงานนายชัชชาติ สู้ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ จนชนะเลือกตั้ง

ส่วน พล.ท.พงศกร หรือเสธ.โหน่ง นายทหารที่แสดงออกถึงจุดยืนสนับสนุนการปฏิรูปกองทัพมาตั้งแต่ยังรับราชการ เคยเขียนบทความ ออกสื่อโซเชียลมีเดีย สื่อทีวีดาวเทียม วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช.อย่างเผ็ดร้อน กระทั่งถูกโยกไปนั่งตบยุงเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองบัญชาการกองทัพไทย

ก่อนที่ “เพื่อนเลิฟ” พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร หรือเสธ.แมว เตรียมทหารรุ่น 14 ด้วยกัน ขณะนั้นเป็นเลขาธิการ สมช.ได้ดึงตัวไปเป็น รองเลขาธิการ สมช.

พล.ท.พงศกร ได้รับการทาบทามจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล 2 แกนนำสำคัญของพรรคอนาคตใหม่ ชักชวนให้ไปทำงานใหญ่ปฏิรูปกองทัพด้วยกัน เสธ.โหน่งจึงถือเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ตัวจริง หลังเกษียณอายุราชการได้ไม่นาน

และวงในพรรคอนาคตใหม่เอง ก็ให้การยอมรับ พล.ท.พงศกรมาก ถึงขั้นมีเปรยตอนสู้ศึกเลือกตั้งปี 2562 ว่า หากชนะเลือกตั้งได้เป็นแกนนำรัฐบาล เสธ.โหน่งจะมีตำแหน่งรองรับ หากไม่ใช่ตำแหน่งรองนายกฯ หรือรมต.สำนักนายกฯ กำกับดูแลหน่วยงานการข่าว เช่น สมช.หรือสำนักข่าวกรอง แห่งชาติ ก็อาจได้เป็นรัฐมนตรีกลาโหม

ในเวลาต่อมา เสธ.โหน่งพลาดเอง ทั้งเรื่องแชร์ภาพข่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นั่งดื่มกาแฟแก้วละ 12,000 บาท โดยใช้งบสวัสดิการในตำแหน่ง จึงโดน พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ในขณะนั้นตั้งข้อหาทำผิดการเผยแพร่ข่าวปลอม และเรื่องเป็นนายทหารเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ยังอยู่บ้านพักทหาร

สวนทางกับนโยบายเดินหน้าปฏิรูป จัดระเบียบกองทัพ ของพรรคอนาคตใหม่ นำไปสู่การประกาศลาออกจากรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในที่สุด ก่อนจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองระยะหนึ่งจากกรณีศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่

ตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม แม้พรรคก้าวไกลต้องการให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะเข้าไปนั่งควบเพื่อเดินหน้าผลักดันนบายปฏิรูปกองทัพ แต่ในทางปฏิบัติ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกองทัพและทหาร จะมีธรรมเนียมขั้นตอน ที่ถือปฏิบัติกันมานาน

มีการจัดวางตัวบุคคลในตำแหน่งสำคัญล่วงหน้า เช่น กรณี ผบ.ทบ.และกองทัพยังยึดระบบอาวุโส เป็นสำคัญ การจะให้นายพิธา ที่อายุเพียง 42 ปี ไปนั่งหัวโต๊ะในตำแหน่ง รมว.กลาโหม จึงถูกวิพากษ์ถึงความไม่เหมาะสม และขัดกับหลักปฏิบัติของกองทัพ

ทางออกที่ดีที่สุดและถือเป็นการรอมชอมในระดับหนึ่ง คือต้องเลือกจากอดีตนายทหารที่มีบารมีเป็นที่ยอมรับในกองทัพ มีคอนเนคชั่น สามารถประนีประนอม ประสานกับผู้บัญชาการเหล่าทัพได้ ไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกลาโหม น่าเป็นทางออกที่เป็นไปได้มากกว่า

จึงอาจเป็นที่มาและองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้มีชื่อของ พล.อ.นิพัทธ์ โผล่ปรากฏอยู่ในโผครม. ที่ยังไม่มีใครรับประกันได้ว่า จะเป็นจริงหรือไม่

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง