ภัยจากหน้าฝน "โรคฉี่หนู"

สังคม
31 พ.ค. 66
11:57
397
Logo Thai PBS
ภัยจากหน้าฝน "โรคฉี่หนู"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ นอกจากโรคที่เกิดตามฤดูกาล เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ แล้ว ยังต้องระวังการแพร่ระบาดของ "โรคฉี่หนู" ที่สามารถติดจากสัตว์สู่คนได้ทั้งทางตรง ทางอ้อม หากรับเชื้อแล้วไม่รักษาจะเสี่ยงต่ออันตรายแก่ชีวิตได้

หนูเป็นสัตว์รังโรค (reservoir) ทางด้านสาธารณสุข ถือเป็นพาหะนำโรค และเป็นเครื่องบ่งชี้ด้านสุขลักษณะของสถานที่ แสดงให้เห็นถึงสภาวะความบกพร่องทางด้านสุขาภิบาล ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อต่างๆ

โรคสำคัญที่เกิดจากหนู แบ่งออกเป็นกลุ่ม ดังนี้

  1. กลุ่มโรคที่เกิดจากตัวหนูโดยตรง ได้แก่ โรคไข้ฉี่หนู หรือ เล็บโตสไปโรซิส โรคไข้หนูกัด โรคไข้สมองอักเสบ โรคพยาธิตาบวม โรคไข้สมองอักเสบไวรัส 
  2. กลุ่มโรคที่เกิดจากหมัดหนู ได้แก่ กาฬโรค ไข้รากสาดใหญ่ 
  3. กลุ่มโรคที่เกิดจากไรหนู ได้แก่ ไข้รากสาดใหญ่ 
  4. กลุ่มโรคที่เกิดจากเหาหนู ได้แก่ ไข้กลับช้ำ ไข้รากสาดใหญ่
  5. โรคที่เกิดจากเห็บหนู ได้แก่ ไข้กลับซ้ำ 

กรมควบคุมโรคได้ออกประกาศเตือนประชาชนระวังอันตรายและโรคที่มากับหนู โดยเฉพาะ "โรคฉี่หนู" ที่จะระบาดหนักให้ช่วงฤดูฝน 

โรคนี้เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน สามารถติดต่อได้ทั้งทางตรงโดยการสัมผัสกับปัสสาวะ หรืออวัยวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักติดโรคทางอ้อม ได้แก่ การดื่มน้ำ หรือกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน ยิ่งช่วงฤดูฝน การเดินลุยน้ำฝน ย่ำดินที่ชื้นแฉะที่มีเชื้อปนเปื้อน  จะทำให้คนที่อยู่บริเวณดังกล่าวมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เมื่อเชื้อเข้าร่างกายจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1-2 สัปดาห์

ผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อโรคฉี่หนู

  • ผู้อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยที่มีน้ำท่วมชัง มีการเดินย่ำน้ำ ลุยน้ำท่วม
  • ผู้ทำงานในภาคเกษตร 
  • คนงานขุดลอกท่อระบายน้ำ
  • ผู้ที่ชอบเดินป่า ท่องเที่ยวตามแหล่งน้ำ
  • นักกีฬาทางน้ำตามธรรมชาติ

อาการโรคฉี่หนู แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มอาการไม่รุนแรง มีอาการไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ สับสน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาการคล้ายโรคไข้เลือดออก อาการเฉพาะโรคฉี่หนู ได้แก่ ปวดกล้ามเนื้อรุนแรง ตาแดง หรือ เลือดออกใต้ตาขาว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ถ้าได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงของโรค และเป็นอยู่ได้นานถึง 1 สัปดาห์แล้วอาการจึงดีขึ้น

  • กลุ่มอาการรุนแรง พบน้อยกว่ากลุ่มแรก ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อย เหมื่อนกลุ่มแรก และจะมีอาการแทรกช้อนของโรคอื่นร่วมด้วย เช่น ตาเหลือง ตัวเหลือง คอแข็ง ความดันโลหิตต่ำ การทำงานของไตลดลง ปอดอักเสบ เลือดออกผิดปกติ รายที่รุนแรงมากอาจพบเลือดออกในปอดได้ กลุ่มนี้ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิต

การป้องกันการติดเชื้อ

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำหรือสิ่งแวดล้อม เพราะอาจปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ที่อาจมีเชื้อโรคฉี่หนู 
  • เมื่อมีบาดแผลตามร่างกาย เช่น รอยถลอก รอยขีดข่วน หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูท เพื่อป้องกันน้ำไม่ให้ถูกแผล และระวังอย่าให้มีน้ำขังในรองเท้าบูท
  • กำจัดขยะไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของหนู
  • กำจัดหนูตามแหล่งที่อยู่อาศัย
  • หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในแหล่งน้ำที่อาจมีเชื้อโรคฉี่หนูปนเปื้อนอยู่
  • ผู้ที่ทำงานเสี่ยงต่อโรคควรใช้ถุงมือยาง
  • รองเท้าบูท หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำ ถ้าต้องลุยน้ำเป็นเวลานาน หรือจำเป็นต้องทำงานในสภาวะดังกล่าว ควรสวมใส่เครื่องป้องกัน
  • หากไปแช่หรือย่ำน้ำที่อาจมีเชื้อโรคฉี่หนูปนเปื้อนอยู่ ควรรีบอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายโดยเร็วและเช็ดตัวให้แห้ง

ที่สำคัญคือการบอกประวัติการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือการสัมผัสน้ำ ให้แก่แพทย์ผู้รักษา เมื่อไม่สบาย เพราะหากไม่รีบรักษาและปล่อยไว้นานจน อาจเสียชีวิตได้

 ที่มา : โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์, กรมควบคุมโรค

อ่านข่าวเพิ่ม : โซเชียลแชร์ "บางแสน" หนูชุก-วิ่งกัดนักท่องเที่ยว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง