มาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ใหม่ ความท้าทายและโอกาส

ภูมิภาค
1 มิ.ย. 66
15:22
973
Logo Thai PBS
มาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ใหม่ ความท้าทายและโอกาส
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เดือนมกราคม – เมษายน ที่ผ่านมา ชาวเหนือต้องอยู่กับฝุ่นควันนานนับเดือน ข้อมูลจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 ระบุว่า จังหวัดเชียงใหม่ มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานมากที่สุด 98 วัน รองลงมาคือจังหวัดลำพูน 90 วัน จังหวัดเชียงราย 81 วัน และจังหวัดแม่ฮ่องสอน

วันที่ 1 มิ.ย.2566 ประเทศไทยเริ่มใช้ค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ใหม่ โดยค่า PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ลดจากเดิมที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เหลือ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ส่วนค่าเฉลี่ย 1 ปี ลดจาก 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เหลือ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบเท่า ประเทศสหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ และมาเลเซีย

ดร.ณัตติพร ยะบึง ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะทำงานด้านวิชาการ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ค่ามาตรฐานใหม่ ซึ่งมีความเข้มงวดกว่าเดิม จำเป็นต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ

ที่สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานใหม่ให้ได้ มาตรการต่างๆ ต้องเข้มงวดมากขึ้น และนโยบายต่างๆ ก็จะต้องมีความชัดเจนครอบคลุมมากขึ้น

ที่ผ่านมาในช่วงฤดูแล้ง ค่าฝุ่น จ.เชียงใหม่ ค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยรายวัน อาจสูงกว่าเกณฑ์ถึง 5 เท่า และ ตั้งแต่ปี 2555-2565 ค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยรายปี ของ จ.เชียงใหม่ มีเพียง 3 ปี เท่านั้น ที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เมื่อมีการประกาศใช้มาตรฐานใหม่ที่ต่ำกว่าเดิม จึงเป็นความท้าทายอย่างมากในการควบคุมฝุ่นควัน

โดยเฉพาะ 2 มิติหลักๆ คือ มิติในเรื่องของเวลาฤดูหมอกควัน ซึ่งกินเวลาประมาณ 3-4 เดือน ว่าจะสามารถลดแหล่งกำเนิดฝุ่นควันได้อย่างไร รวมทั้งมิติของพื้นที่ เช่น พื้นที่ภาคเหนือ จะมีช่วงวิกฤตตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน

แต่หากเป็นกรุงเทพฯ หรือ ภาคกลางจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี แต่ละพื้นที่เกิดขึ้นไม่พร้อมกัน คำถามคือ จะมีมาตรการไหนที่จะลดแหล่งกำเนิดฝุ่นควันให้เหมาะสมได้

เกณฑ์มาตรฐานใหม่ หมายความว่าเราพร้อมสำหรับการปรับตัว พร้อมสำหรับการจะมีนโยบายใหม่ๆ ที่ใช้ได้ผลมากขึ้น ก็คาดหวังว่าหลังจากนี้ เราจะมีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

นายประดิษฐ์ สีใส ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 เปิดเผยว่า ค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ใหม่ ทำให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงาน ต้องเตรียมปรับมาตรการควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นควันให้เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับแผนงานในแหล่งกำเนิดมลพิษ

ทั้งการเผาในพื้นที่เกษตร ไฟป่า ฝุ่นจากการก่อสร้าง สถานประกอบการ การคมนาคม รวมทั้งฝุ่นควันข้ามแดน

ในส่วนของกรมควบคุมมลพิษต้นปีที่ผ่านมา ได้เพิ่มสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเพื่อแจ้งเตือนประชาชนในครอบคลุมพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนห่างไกล

ส่วนระยะนี้ หลังฝุ่นควันคลี่คลาย ก็ได้เร่งซ่อมบำรุงเครื่องวัดคุณภาพอากาศ และอยู่ระหว่างประสานไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อสอบถามความต้องการในการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเพิ่มเติมหรือไม่

ส่วนการรับมือในฤดูฝุ่นควันต้นปีหน้า จ.เชียงใหม่ จะมีการประชุมถอดบทเรียน และปรับแผนรับมือฝุ่นควัน ภายในเดือนนี้

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง