"พิธา" รับโอนหุ้น ITV ให้ผู้อื่นแล้ว ปัดหนีความผิด

การเมือง
6 มิ.ย. 66
12:36
9,682
Logo Thai PBS
"พิธา" รับโอนหุ้น ITV ให้ผู้อื่นแล้ว ปัดหนีความผิด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"พิธา" โพสต์เฟซบุ๊กแจงเรื่องหุ้น ITV โอนให้ทายาทอื่นแล้วและไม่ได้เจตนาโอนเพราะหลีกหนีความผิด พร้อมชี้แจง กกต. ยันเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลที่มี "นายพิธา" เป็นนายกให้สำเร็จ

วันนี้ (6 มิ.ย.2566) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก ชี้แจงในประเด็นหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้นใจความว่า คลื่นไอทีวีที่ถูกบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงาน เมื่อ 7 มี.ค.2550 ทำให้ไม่สามารถใช้คลื่นเพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคมได้จนถึงปัจจุบัน จนคลื่นดังกล่าวส่งมอบต่อให้ TPBS ตามกฎหมาย พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และสถานะคลื่นไอทีวีสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.2550 เป็นต้นมา จนมูลค่าหุ้นก็ต่ำลงจนไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ

และต่อมาศาลแต่งตั้งให้ตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของบิดาได้รับมอบหมายจากทายาท ให้ถือครองไว้แทนทายาทอื่น จนเข้ามาทำงานการเมือง ในพรรคอนาคตใหม่ก็ได้ชี้แจงเรื่องนี้ต่อ ป.ป.ช. อย่างบริสุทธิ์ใจ จนพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบและตนได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล และสิ้นสุดเลือกตั้ง 14 พ.ค.จนได้รับความไว้วางใจสูงที่สุด 14 ล้านเสียง

จนมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการตีความการถือหุ้นของผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งในข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ว่า ITV ไม่ได้เผยแพร่ออกอากาศตั้งแต่ยกเลิกสัญญาวันที่ 7 มี.ค.2550 โดยให้ข้อสังเกตว่าปัจจุบันกลับมีความพยายามที่จะฟื้นคืนชีพให้ ITV กลายเป็นสื่อมวลชนเพื่อนำมาใช้เล่นงาน

พร้อมหยิบยกข้อมูลนำส่งงบของ ITV บัญชีปี 2561 ถึง 2562 ที่ประเภทธุรกิจว่า กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก และในบัญชีธุรกิจปี 2563 ถึงปี 2564 ระบุประเภทธุรกิจว่า สื่อโทรทัศน์ โดยในส่วนสินค้าบริการระบุว่า ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดคดีความ

ขณะที่บัญชีในปี 2565 ระบุประเภทธุรกิจว่าสื่อโทรทัศน์ โดยในส่วนสินค้าบริการระบุว่า สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน โดยเนื้อหาหมายเหตุงบการเงินไม่ปรากฏรายได้จากกิจการสื่อโทรทัศน์และสื่อโฆษณาแต่อย่างใด และงบการเงินบัญชีปี 2565 มีการนำส่งเงินต่อ DBD ก่อนวันเลือกตั้ง 4 วัน คือ ในวันที่ 10 พ.ค.2566

นายพิธา ระบุว่า แสดงให้เห็นว่าในการจัดทำแบบนำส่งงบการเงินและข้อมูลในหมายเหตุประกอบกลับงบการเงินมีความไม่สอดคล้องกัน ถ้าเป็นข้อพิรุธมีการเปลี่ยนแปลงข้อความที่ระบุในแบบนำส่งงบการเงินจากเดิม "กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก" แก้เป็น "สื่อโทรทัศน์" ทั้งที่ ประกอบกิจการไม่ได้และล่าสุดแก้เป็น "สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน" ทั้งที่ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน รายได้จากดอกเบี้ยและการลงทุนในตราสารหนี้

โดยในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2566 การตั้งคำถาม จากผู้ถือหุ้นบางรายว่าบริษัทไอทีวีมีการดำเนินการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ โดยตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการตั้งคำถามที่ขอให้ทุกท่านที่มีใจเป็นธรรมพิจารณาว่ามีความมุ่งหมายทางการเมืองหรือไม่ และให้ตอบตัวท่านเองว่านี่คือพฤติการณ์ความพยายามฟื้นคืนชีพ ITV กลับมาเป็นสื่อมวลชนใช่หรือไม่

วิเคราะห์พิรุธหลายอย่างนายพิธาตัดสินใจหารือกับทายาทที่ได้รับถือครองหุ้นไว้แทนจนได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะมีการจัดแบ่งมรดกหุ้นดังกล่าวให้ทายาทอื่นไปโดยสิ้นเชิงเพื่อป้องกันปัญหาจากกระบวนการฟื้นคืนชีพความเป็นสื่อมวลชนให้กับบริษัท ITV และมั่นใจมากก่อนที่จะโอนหุ้น ITV บริษัท ITV ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนใดใด และการโอนหุ้นไม่ใช่เป็นการโอนเพราะหลีกหนีความผิดแต่อย่างใด

นายพิธา ระบุ นายกคดีถือหุ้นสื่อตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญประกอบกับคำสั่งศาลฎีกาล่าสุดหลายคดี ซึ่งการพิจารณาว่าบริษัทใดประกอบกิจการสื่อหรือไม่และบุคคลใดมีลักษณะต้องห้ามในการถือหุ้นสื่อหรือไม่ศาลจะพิจารณาจากข้อเท็จจริงหลายองค์ประกอบ

หากศาลเดินตามคำวินิจฉัยที่ผ่านมาและรักษาความเป็นเอกภาพในการตีความบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายพิธาแสดงความมั่นใจว่า ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้งและไม่มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด

สำหรับกระบวนการหลังจากนี้ นายพิธายืนยันความพร้อมอย่างเต็มที่ในการชี้แจง ต่อ กกต. โดยไม่มีความเป็นห่วงหรือกังวลใด ๆ และหลังจากนี้จะมุ่งทำงานเตรียมเปลี่ยนผ่านอำนาจจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลที่มีนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีให้สำเร็จจงได้ โดยไม่มีใครหรืออำนาจไหนจะมาสกัดกั้นฉันทานุมัติของประชาชนที่แสดงออกจากการเลือกตั้ง 14 พ.ค.กว่า 14 ล้านเสียง จึงขอให้ทุกคนสบายใจและเดินหน้าเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ไปด้วยกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง