"หมออินเทิร์น" ผู้ขับเคลื่อนวงการสาธารณสุขไทย?

สังคม
6 มิ.ย. 66
17:43
8,602
Logo Thai PBS
"หมออินเทิร์น" ผู้ขับเคลื่อนวงการสาธารณสุขไทย?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป อดีตหมออินเทิร์นปี 1 ยืนยันระบบสาธารณสุขไทยยังต้องใช้หมออินเทิร์น ต้องไม่ผลักภาระบริหารให้หมอเฉพาะทาง พร้อมจัดสรรเวลาพักให้สมดุลกับการทำงาน เพื่อรักษาหมอไม่ให้หลุดจากระบบ

หลังจาก "หมอปุยเมฆ" พญ.นภสร วีระยุทธวิไล หมออินเทิร์น โรงพยาบาลราชบุรี ระบายความในใจในเรื่องการแบกภาระการทำงานหนักพร้อมยืนใบลาออกจากราชการ สะท้อนให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับบุคลากรทางการแพทย์ เป็นเผือกร้อนทำให้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาเปิดเผยข้อมูลวิกฤติแพทย์ในระบบสาธารณสุข ว่าไม่ใช่แค่แพทย์ แต่รวมถึง พยาบาล ทันตแพทย์ นักรังสีการแพทย์ และ วิชาชีพอื่นๆ ด้วย

อ่าน : กางตัวเลขผลิตหมอ เท่าไหร่ไม่พอ "หมอลาออก-ลาศึกษา"

จบ 6 ปี มี 2 ทางเลือก 

ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ "แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป" ที่หลังจากเรียนจบแพทย์ 6 ปีแล้ว "คุณหมอ" เลือกเส้นทางใช้ทุนเพียง 1 ปี และออกมาทำงานในโรงพยาบาลเอกชน

"อินเทิร์น" หรือ หมอจบใหม่ใช้ทุน คือ นักเรียนแพทย์ที่เรียนหลักสูตรแพทยศาสตร์จบ 6 ปี จากนั้นจะมีทางเลือก 2 ทางหลักๆ

  1. เป็นหมออินเทิร์น เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์การรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนับเป็นการใช้ทุนคืนให้แก่รัฐไปในตัว 

  2. ไม่เป็นหมออินเทิร์น โดยการเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางในสาขาที่ขาดแคลนและมีข้อยกเว้นไม่ต้องเป็นอินเทิร์น หรือ อาจจะเลือกเรียนต่อต่างประเทศ แต่ต้องยอมจ่ายเงินราว 400,000 บาท หรือเรียกให้เข้าใจว่าค่าฉีกสัญญาอินเทิร์น
แต่หากใครเป็นอินเทิร์นแล้วอยากลาออก ก็ทำได้ เงินค่าฉีกสัญญาก็ลดหลั่นกันไป เช่น หมอใช้ทุน 1 ปี (เป็นอินเทิร์นมาแล้ว 1 ปี) เมื่อลาออกมา ก็ใช้ทุนคืนเป็นเงินแทน ประมาณ 200,000 บาท   

"อินเทิร์น" คือผู้ขับเคลื่อนวงการ สธ.ไทย

เหตุผลที่ คุณหมอ ยกให้ "อินเทิร์น" คือผู้ขับเคลื่อนวงการแพทย์ไทย เพราะเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนทั้งระบบ

  1. หมอที่ไม่อยากเป็น "หมอจับฉ่าย" ก็จะหาทางเรียนต่อเฉพาะทาง แต่เมื่อเรียนจบกลับมา ก็ต้องพ่วงด้วยตำแหน่งด้านบริหาร งานสอน งานเอกสาร เพราะ "ระบบคนไม่พอ" ทำให้ไม่มีเวลาเจอคนไข้ เพราะต้องทำงานบริหารโรงพยาบาล การรักษาคนไข้ก็ไปตกอยู่ที่หมออินเทิร์น

  2. การเป็นแพทย์เฉพาะทาง ทำให้มีทางเลือกให้ตัวหมอคนนั้นๆ เองมากขึ้น สามารถเลือกเข้าเวรได้ ไม่จำเป็นต้องทำงาน 8.00-17.00 น. และเข้าเวรนอกเวลาต่อ แต่คนไข้ไม่ได้ป่วยตามเวลาราชการ งานก็ไปตกอยู่ที่หมออินเทิร์นอีก

  3. โรงพยาบาลรัฐ หรือ โรงพยาบาลประจำอำเภอ มีบุคลากรไม่เพียงพอ หมอจบใหม่บางคนเข้ามาอยู่ไม่นาน ก็ถูกดันขึ้นไปรับตำแหน่งรอง ผอ. บ้างก็มี ก็วนเข้าลูปเดิม ไปทำงานบริหาร และคนไข้ก็ตกอยู่ที่อินเทิร์นอีก

  4. หากวันนี้หมออินเทิร์นลดลง การรักษาคนไข้จะวนกลับไปหาแพทย์เฉพาะทาง แต่แพทย์เฉพาะทางจะชำนาญเฉพาะเรื่องนั้นๆ การรักษาคนไข้ด้วยอาการทั่วไป อาจมีความเสี่ยงที่จะวินิจฉัยโรคให้คนไข้ผิดพลาดสูงกว่าสมัยที่ยังไม่ได้เรียนเฉพาะทาง คำตอบคือส่งผลเสียทั้งตัวหมอและคนไข้ทั้งคู่ 

  5. คนเรียนหมอคือเรียนเป็นหมอ ไม่ได้เรียนเป็นนักบริหาร แต่ระบบกลับผลักให้พวกเขาต้องทำงานในสายงานที่ไม่เคยถูกสอนมา ก็จะเป็นผู้บริหารที่ไม่ชำนาญเท่าการรักษา ส่งผลต่อบุคลากรในโรงพยาบาลนั้นๆ อีก  

เงิน สวัสดิการ โอกาส สิ่งผูกมัดอินเทิร์น

โรงพยาบาลเอกชน คือทางเลือกใหม่ที่จะทำให้หมอรอดจากระบบสาธารณสุข เพราะไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา แม้ค่าตอบแทนจะต่างกันไม่มาก แต่เมื่อเทียบกับสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ไม่ถูกกดดันเท่าโรงพยาบาลรัฐแล้ว ก็ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้หมอหลุดจากระบบสาธารณสุขไทยได้เช่นกัน

อ่าน : เปิดสถิติแพทย์ล่าสุด ปี 66 ไทยมีแพทย์ทั้งสิ้น 6.8 หมื่นคน อยู่ใน กทม. 3.2 หมื่นคน

ส่วนเรื่องของสวัสดิการที่ได้รับ เมื่อ 15 ปีก่อน หมออินเทิร์นจะถูกบรรจุเข้ารับราชการทุกคน ในขณะที่ปัจจุบัน หมออินเทิร์นถูกบรรจุเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้น เมื่อข้อเสียเปรียบคือความเหนื่อยและแรงกดดันในการทำงานที่พอๆ กันแล้วนั้น ข้อได้เปรียบที่ไม่เท่ากันจึงถูกมองเห็นได้อย่างชัดเจน 

หมอทุกคนรู้ว่าการรักษาคนไข้คืองานที่เหมือนกัน แต่สวัสดิการที่ไม่เท่ากันเลยทำให้เห็นชัดเจน 

ในขณะที่หมออินเทิร์นบางคน เลือกจะอยู่ในโรงพยาบาลนั้นๆ 3 ปี เพื่อหวัง "เส้นสาย" แห่งความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ทั้งทุนการเรียนต่อต่างประเทศ หรือโอกาสเลือกเรียนแพทย์เฉพาะทางที่งานไม่หนัก แต่ได้รายได้เยอะ

ถ้าคุณจะเรียนสาขาไหนที่รายได้ดี งานไม่ยุ่งมาก จะต้องมีเส้น มีคนรู้จัก เพราะการจะคัดคนเรียนต่อ จะคัดจากการสัมภาษณ์ ไม่มีการสอบเข้า จึงไม่มีเกณฑ์ที่แน่นอน

ภาระงานสร้างความเสี่ยงทั้งระบบ

เมื่อระบบตรวจสอบคุณภาพคือเกณฑ์วัดศักยภาพของโรงพยาบาล หมอเฉพาะทางถูกย้ายไปทำหน้าที่บริหาร การขับเคลื่อนการรักษาคนไข้จึงเป็นหน้าที่ของหมอบรรจุใหม่รวมถึงหมออินเทิร์น คุณหมอเล่าให้ฟังว่าเคยเจอหมอที่ต้องทำงานนานถึง 36 ชั่วโมงติด ซึ่งกระทบกับการวินิจฉัยอาการป่วยของคนไข้เป็นอย่างมาก และลักษณะงานเช่นนี้ยังคงวนเวียนอยู่ พอๆ กับหมออินเทิร์นที่ต้องวนราวน์วอร์ดต่อไป

มันคือความเสี่ยงทั้งระบบ มุมของหมอที่ทำงานมาทั้งวัน แล้วต้องเข้าเวรอีก ซึ่งไม่รู้เลยว่าจะมีคนไข้ป่วยเข้ามาตอนกี่โมง ถ้าร่างกายล้า แต่ต้องเจอภาวะวิกฤตของคนไข้ตรงหน้า ความผิดพลาดก็เกิดขึ้นได้ และแน่นอนคนไข้ก็ถูกรักษาแบบผิดๆ ไปด้วยอีก 

หมออินเทิร์นยังจำเป็น

การเป็นหมออินเทิร์น คือการเก็บเกี่ยวประสบการณ์กับคนไข้จริง ทำให้หมอมีทักษะมากขึ้น และตอบคำถามให้ตัวเองได้ว่า มีสาขาเฉพาะทางไหนที่อยากเรียนเพิ่มเติมเพื่อรักษาคนไข้ให้ได้มากขึ้นและดีขึ้นกว่าเดิมอีกหรือไม่ หรือจะพอแค่นี้ ลาออกไปเปิดคลินิกหรือทำงานโรงพยาบาลเอกชน  

จริงอยู่ที่ยิ่งทำงานเยอะ จะยิ่งเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้เยอะ แต่ถ้าต้องทำงานภายใต้การพักผ่อนที่น้อย เวลาทำงานที่มากเกินไป ก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงทั้ง 2 ฝ่าย หมอและคนไข้  

ส่วนเรื่องช่องว่างระหว่างวัยหรือกระแสสังคมที่มองว่า หมออินเทิร์นไม่สู้งาน ไม่อดทน คุณหมอมองว่า เรื่องของความอดทน ไม่ว่าจะเป็นหมอวัยรุ่นหรือหมออาวุโสก็ต่างมีความอดทนที่ต่างกัน หากว่าระบบดี จัดสรรเวลาพักผ่อนที่ดี หมอรุ่นพี่ให้ความช่วยเหลือ สอน แนะนำ หมอรุ่นน้องดี ชีวิตมีความสุขขึ้น ก็อาจจะทำให้หมอหลายคนอยากอยู่ในระบบมากขึ้น 

ผู้ใหญ่มักจะมองเด็กในลักษณะนี้มาโดยตลอด เมื่อก่อนเหนื่อยกว่านี้ยังทนได้ ทำไมเด็กสมัยนี้ทนไม่ได้ ซึ่งจริงๆ ไม่ควรจะทน เพราะทุกคนก็อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ว่าอาชีพไหนก็ตาม 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง