โลกร้อนรุกราน จับตา 5 โรค สัตว์สู่คน "ไวรัสรีเทิร์น"

สิ่งแวดล้อม
8 มิ.ย. 66
11:40
1,106
Logo Thai PBS
โลกร้อนรุกราน จับตา 5 โรค สัตว์สู่คน "ไวรัสรีเทิร์น"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“หมอล็อต” เตือนเฝ้าระวัง 5 โรคจากสัตว์สู่คน ชี้เชื้อโรคปรับตัวให้อยู่รอดยิ่งแข็งแกร่ง ยิ่งก่อโรครุนแรง ห้ามนักท่องเที่ยวมุดโพรงต้นไม้-เข้าถ้ำต้องใส่แมสก์-สวมแว่น

ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” และ “ลานีญา”ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ พืช และสัตว์ ที่อาศัยอยู่ในจักรวาลนี้เท่านั้น แต่อานุภาพสภาวะโลกร้อน หรือ “ Climate change”

ยังสะเทือนไปถึงเชื้อโรคนานาชนิด ที่ถูกกลบฝังและแช่แข็งนานนับพันปี ให้ฟื้นคืนชีพกลับมา เมื่อน้ำแข็งขั้วโลกเริ่มละลาย ด้วยว่าสัญชาติญาณในการปรับตัวเพื่ออยู่รอดของสิ่งมีชีวิต ทั้งคน-สัตว์ และเชื้อโรคนั้นไม่ต่างกัน โดยเฉพาะเชื้อโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุของ "เชื้ออุบัติใหม่"

ในข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ เชื้อโรคดังกล่าว บางชนิดได้หายจากสารบบของไทยไปนานแล้ว แต่มันก็ฟื้นคืนชีพและปรับตัวให้แข็งแกร่งขึ้นตามสภาพแวดล้อม

น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หรือ "หมอล็อต" หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช อธิบายกับไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า หลังการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า เชื้อโรคดึกดำบรรพ์ที่ถูกแช่แข็งไว้นับล้านปีได้ผุดออกมา เมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสงแดดจึงละลายออกมา และแพร่กระจายสู่สิ่งมีชีวิต

มีการตรวจสอบไขกระดูกซากแมมมอธ พบโรคสำคัญเชื้อ “พิษสุนัขบ้า” จึงวิเคราะห์ว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้แมมมอธสูญพันธุ์ และปัจจุบันเรายังเอาชนะเชื้อโรคชนิดนี้ไม่ได้

ภาพ : เสื้อมุ้งกันยุงแจกจ่าย จนท.พิทักษ์ป่า ป้องกันโรคติดต่อ

ภาพ : เสื้อมุ้งกันยุงแจกจ่าย จนท.พิทักษ์ป่า ป้องกันโรคติดต่อ

ภาพ : เสื้อมุ้งกันยุงแจกจ่าย จนท.พิทักษ์ป่า ป้องกันโรคติดต่อ

หมอล็อต อธิบายต่อว่า เชื้อโรคจะเข้าหามนุษย์ หากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ขณะที่สัตว์ก็มีการปรับพฤติกรรม ย้ายถิ่นหนีหนาวสู่พื้นที่อุณหภูมิอบอุ่น ที่ผ่านมาเราอาจตื่นเต้นประหลาดใจกับการอพยพของนกบางชนิดเข้ามาในไทย แต่การเดินทางข้ามทวีปนานนับเดือน นกแวะพักปีก คลายความเหนื่อยล้าตามประเทศต่าง ๆ กลายเป็นความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังโรคระบาดในประเทศทางผ่าน

ดังนั้นจึงต้องเตรียมมาตรการจัดการความเสี่ยงเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัสบางตัว เพราะอาจเป็นเชื้อโรคของสายพันธุ์ย่อยที่ไม่เคยพบมาก่อน และมนุษย์ไม่มีภูมิคุ้มกันทำให้เกิดโรครุนแรงมาก

หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่าฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ในมุมมองทางระบาดวิทยา สัตว์อพยพย้ายถิ่นมาหากินในบ้านเรา หรือใช้เป็นเส้นทางทางผ่าน ต้องสงสัยว่าเขาเอาอะไรมาด้วย เป็นความเสี่ยงที่มองข้ามไม่ได้

สำหรับกรมอุทยานฯ นับตั้งแต่เกิดเหตุโรคไข้หวัดนกระบาดในไทยปี 2546 ได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ กรมควบคุมโรค สำรวจเฝ้าระวังนกในธรรมชาติและนกอพยพ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยต้องตรวจหาโรคไข้หวัดนก และไวรัสชนิดอื่น ๆ ด้วย

หมอล็อต บอกว่า นอกจากการเฝ้าระวังเชื้อโรคต่างถิ่นที่มาพร้อม ๆ กับการอพยพของนกแล้ว ปัญหาการบริโภคสัตว์ป่า โดยเฉพาะเมนูเปิบพิสดาร ก็เพิ่มโอกาสสัมผัสตัวสัตว์โดยตรงจากสารคัดหลั่ง เลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำลาย และเนื้อ ไม่ควรชะล่าใจว่า เนื้อปรุงสุกแล้วไม่เป็นอะไร เพราะคนจะรับเชื้อโรคจากขั้นตอนประกอบอาหาร

การกระจายโรคจากสัตว์สู่คน ครอบครัว คนใกล้ชิด และระบาดในวงกว้าง เช่นเดียวกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วงแรกไม่รู้จัก จึงเรียกว่า "Disease X" เพราะเป็นโรคที่ยังไม่เคยพบมาก่อน

แม้แต่ "ค้างคาว" ซึ่งพบว่า เป็นแหล่งรังโรคที่พบเชื้อไวรัสหลายชนิด ซึ่งเชื้อโรคจากค้างคาวไม่ได้ติดต่อสู่มนุษย์โดยตรง แต่ผ่านโฮสต์ตัวกลาง คือ สัตว์เลี้ยง ปศุสัตว์ สัตว์ป่า เช่น เชื้อไวรัสอีโบลาที่พบค้างคาว และลุกลามไปติดมนุษย์ เนื่องจากมนุษย์ไปกินเนื้อกอลิลา หรือเชื้อเมอร์ส อูฐติดจากค้างคาว แล้วติดสู่คน, ซาร์ส ชะมด-อีเห็นติดจากค้างคาว แล้วติดสู่คน,

รวมทั้งเฮนดราไวรัส ม้าติดจากค้างคาว แล้วติดสู่คน, โควิดพบในค้างคาว ติดสู่โฮสต์ตัวกลางในตลาดค้าสัตว์ป่า หรือตัวลิ่น เมื่อเชื้อกลายพันธุ์จึงเพิ่มโอกาสติดสู่คน เป็นต้น

หมอล็อต กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีโรคติดต่อระหว่างสัตว์เเละคนที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ 5 อันดับ ได้แก่ โรคไข้หวัดนก (Zoonotic avian influenza) โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19, SARS, MERS) โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah virus) โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) และโรคอีโบลา (Ebola)

หรือกรณีล่าสุดการแพร่ระบาดของมาลาเรียโนวไซที่เกาะช้าง จ.ตราด ซึ่งมีลิงเป็นรังโรคและมียุงก้นปล่องตัวเมียเป็นพาหะกระจายสู่คนในชุมชน จึงต้องเก็บตัวอย่างยุงมาตรวจหาเชื้อและวางแผนป้องกันโรคไม่ให้ระบาดเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ หมอล็อต ยังอธิบายเพิ่มเติม กรณีนักท่องเที่ยวป่วยโรคระบบทางเดินหายใจโดยไม่ทราบสาเหตุ หลังกลับจากเที่ยวป่าที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อปลายปี 2565 ต่อมาแพทย์ได้สอบสวนโรคพบว่า สาเหตุจากการเข้าไปถ่ายภาพในโพรงต้นช้าม่วง ซึ่งเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นที่อาศัยของค้างคาว และนักท่องเที่ยวได้ติดเชื้อจากมูลค้างคาวที่ลอยอยู่ในอากาศภายในโพรงต้นไม้ดังกล่าว

การที่นักท่องเที่ยวป่วยหลังรับเชื้อจากมูลค้างคาว นำไปสู่แผนงานเชิงรุก สำรวจติดตามโรคในกลุ่มสัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ขอแนะนำไม่ให้นักท่องเที่ยว มุดโพรงต้นไม้ เมื่อเข้าไปในถ้ำต้องใส่แมสก์ สวมแว่นตา ใส่หมวกคลุมผม ไม่กินอาหาร เพื่อป้องกันการรับเชื้อโรค

Climate change กระทบทุกสิ่งมีชีวิตบนโลก ทั้งคน พืช และสัตว์ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตติท้องทะเล ไม่เว้นแม้แต่จุลินทรีย์ เชื้อโรคตัวเล็ก ๆ ล้วนต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

ในอนาคตอันใกล้มนุษย์อาจเผชิญโรคจาก Disease X ไวรัสชนิดใหม่ ๆ หรือเชื้อโรคดึกดำบรรพ์ ไวรัสที่ซ่อนตัวอยู่นับล้านปี และฟื้นชีพคืนกลับมาใหม่ก็เป็นได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"หมอล็อต" เตือนอย่ามุดโพรงต้นไม้ เสี่ยงป่วยฮิสโตพลาสโมซิส 

2566 โลกร้อน อากาศแปรปรวน การพยากรณ์ไม่ง่าย 

โลกร้อน “ลานีญา” สลับขั้ว "เอลนีโญ"ไทยเผชิญฝนน้อย-แล้งยาว 19 เดือน 

"หมีพิซลี" สัตว์กำเนิดใหม่จาก "ภาวะโลกร้อน" 

โลกร้อนในมุม “KongGreenGreen” สิ่งแวดล้อมทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง