"กินข้าวกล่อง นอนกองร้อย คอยเงินกู้" ชีวิตตำรวจชั้นประทวน

สังคม
9 มิ.ย. 66
13:41
7,290
Logo Thai PBS
"กินข้าวกล่อง นอนกองร้อย คอยเงินกู้" ชีวิตตำรวจชั้นประทวน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เส้นทางดาวบนบ่าของ "ผู้กองแคท" กำลังเป็นกระแสโด่งดังราวจุดพลุในโลกโซเชียล อีกมุมหนึ่งของตำรวจชั้นประทวน ผู้มีเพียง "แง่งปลาปลาทู" แสดงชั้นยศตำรวจชั้นผู้น้อย เจ้าหน้าที่ คฝ. (ควบคุมฝูงชน) ด่านหน้าที่ประจันกับ "ม็อบ" และ "ผู้ชุมนุม"ทุกเหตุการณ์ประท้วงใน กทม.

แม้พวกเขาจะไม่ถูกมองข้าม แต่ในความเป็นจริงกลับถูกละเลย จากหน่วยงานและผู้บังคับบัญชาทั้งๆ ที่ รับภารหนักกว่า

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ลงพื้นที่พูดคุยกับตำรวจชั้นผู้น้อย เรื่องค่าครองชีพ ขณะปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ กทม.

กินข้าวกล่อง

"เบี้ยเลี้ยงในแต่ละวันที่ได้ ก็ไม่เหลือใช้แล้วครับ" สิบตำรวจตรีนายหนึ่งกล่าวถึงจำนวนเงิน 600 บาท ซึ่งเป็นเบี้ยเลี้ยงที่ได้จากการออกงานภาคสนาม ในช่วงเวลา 08.00-16.00 แต่หากทำงานไม่ถึงระยะเวลาที่กำหนดก็จะไม่ได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงในวันนั้น

แม้การออกปฏิบัติงานภาคสนาม จะได้รับข้าวกล่องครบ 3 มื้อ เช้า กลางวัน และเย็น แต่ค่าอาหารจะถูกหักจาก "เงินเบี้ยเลี้ยง" ที่ได้รับ เป็นค่าข้าวกล่องคิดเป็นจำนวนเงิน 50-60 บาทต่อมื้อ รวมทั้ง ค่าน้ำเปล่าและอื่นๆ อีก รวมแล้วถ้าทำงานเต็มวัน จะเหลือค่าเบี้ยเลี้ยงประมาณ 100-200 บาท

สำหรับค่าเบี้ยเลี้ยง ตำรวจนายนี้บอกว่า การเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยง ไม่ได้วันต่อวัน แต่จะเป็นระบบการเบิกจ่ายที่ต้องรอนานถึง 6-7 เดือน

นอนกองร้อย

หนึ่งในเพื่อนตำรวจของกลุ่มที่ออกปฏิบัติงานสนามร่วมกับ ส.ต.ต.คนเดิม เสริมข้อมูลว่า ชีวิตของตำรวจ คฝ. นอกจากต้องกินข้าวกล่องแล้ว ยังมีคำกล่าวเชิงเปรียบเทียบที่รู้กันในหมู่ตำรวจชั้นประทวนว่า หากครบสูตรจะต้อง "นอนกองร้อย" ไปก่อน เพื่อรอคอยที่พักคือแฟลตตำรวจ

เขาเล่าว่า ปัจจุบันยังมีตำรวจชั้นประทวนจำนวนมากอยู่ระหว่างรอคิวการเข้าพักอาศัยในแฟลตข้าราชการตำรวจ ซึ่งยังไม่รู้ทราบว่าคิวที่จองกันเป็นหางว่าวนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ ระหว่างนี้จึงต้องหาเช่าห้องพักในพื้นที่ที่ใกล้สถานที่ทำงานของแต่ละคน โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 5,000-6,000 บาท ต่อเดือน

คอยเงินกู้

สำหรับฐานเงินเดือนของตำรวจชั้นประทวน หากมี "แง่งปลาทูเดียว" ชั้นยศ ส.ต.ต. จะได้รับเงินเดือนและสวัสดิการรวม 15,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพในปัจจุบัน

นายตำรวจยศ ส.ต.ต.นายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย ค่าที่พักเดือนละ 5,000-6,000 บาท ค่าอาหาร ละ 5,000-6,000 บาท และอื่นๆ เช่น ค่าโทรศัพท์

เขายอมรับว่า เงินเดือนค่าราชการตำรวจไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นค่าครองชีพหลัก ยังไม่รวมค่าใช้จ่าย อื่นๆ เช่น ค่าอุปกรณ์ในการทำงานต่างๆต้องออกเอง

เมื่อรายจ่ายมีมากกว่ารายรับ จึงจำเป็นต้องกู้ยืมเงิน จากแหล่งต่างๆมาจุนเจือครอบครัว ทำให้แต่ละเดือน ไม่มีเงินเหลือเก็บ

แม้ตาม พ.ร.บ.ตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ว่าด้วยอัตราเงินเดือนตำรวจ 2566 ฉบับใหม่ได้ปรับเงินเดือนเริ่มต้น สิบตำรวจเอก สิบตำรวจโท และสิบตำรวจตรี ให้ได้รับเงินเดือนระดับ ป.1 อัตราเงินเดือน 8,610 –21,980 บาท ข้าราชการตำรวจยศจ่าสิบตำรวจ อัตราเงินเดือนจ่าสิบตำรวจ (พิเศษ) ให้ได้รับเงินเดือนระดับ ป.2 อัตราเงินเดือน 12,330 – 29,690 บาท

และข้าราชการตำรวจอาจได้รับเงินเพิ่มพิเศษรายเดือน เงินเพิ่มอื่น หรือเงินช่วยเหลือ ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เพื่อสร้างฐานเงินเดือนใหม่ที่เป็นธรรมต่อนายตำรวจชั้นผู้น้อย และป้องกันการคอร์รัปชัน หรือการเก็บส่วยของเจ้าหน้าที่รัฐ

แต่ปัญหาไม่เคยลดลง หากตำรวจชั้นผู้น้อย ยังต้อง กินข้าวกล่อง -นอนกองร้อย-และคอยเงินกู้ เป็นวัฏจักรเช่นนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ทบ.แจงภาพ "ผู้กองแคท" ถ่ายร่วมกับ "อดีตเจ้ากรมดุริยางค์ฯ"

ตร.ยัน "ร.ต.อ.หญิง" เลื่อนขั้นตามเกณฑ์ ปมกังขาหลักสูตร กอส.

รู้จักหลักสูตร กอส. คอร์สฮิตตำรวจ ใครบ้างมีสิทธิ?

นักร้องลูกทุ่ง โพสต์โชว์ 4 ปีติดยศ "ร.ต.อ.หญิง" ส่งโรม ขยี้ "ตั๋วช้าง" 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง