3 อาการ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ขาซ้ายงอตึง-ตาขวาเสี่ยงต้อ-โปรตีนสูงในฉี่

Logo Thai PBS
3 อาการ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ขาซ้ายงอตึง-ตาขวาเสี่ยงต้อ-โปรตีนสูงในฉี่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สัตวแพทย์ เตรียมแนวทางรักษาอาการ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ขาซ้ายงอตึง คาดเกิดจากกล้ามเนื้ออักเสบนาน เตรียมเอกซเรย์ และใช้การประคบรักษาแบบบรรเทาอาการ ส่วนตาขวาเสี่ยงต้อ ต้องรออัลตราซาวด์ พบโปรตีนสูงในฉี่ อาจมาจากการทำงานของไตบกพร่อง คาดพ้นปล่อยตัว 18 ส.ค.นี้

วันนี้ (9 ส.ค.2566) นายประสิทธิ์ เกิดโต โฆษกองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เปิดเผยความคืบหน้าสุขภาพ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ซึ่งกักตัวครบ 1 เดือน ภาพรวมพบว่าปรับตัวเข้ากับพื้นที่ และควาญทั้ง 3 คนโดยยอมให้ขึ้นคอ เข้าใกล้สัมผัสตัวอย่างใกล้ชิด การกินนอนและล้มตัวลงนอนเฉลี่ยวันละ 2-3 ชม.ต่อวันถือว่าเขามีความสุข

ขณะที่การตรวจโรคช้าง 2 ครั้งแรกไม่พบเชื้อโรคอะไร โดยล่าสุดมีการเก็บตัวอย่างเลือดตรวจสอบรอบที่ 3 เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าผลจะออกในช่วงวันที่ 18 ส.ค.นี้ จากนั้นถ้ากรมปศุสัตว์ อนุมัติให้ปล่อยตัวแล้ว จึงจะสามารถเคลื่อนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์ไปฝั่งศูนย์อนุรักษ์ช้าง จ.ลำปาง

ตอนนี้เริ่มฝึกให้พลายศักดิ์สุรินทร์ ซ้อมขึ้นรถบรรทุกเพื่อเตรียมย้ายไปฝั่งศูนย์อนุรักษ์ช้าง พบว่าร่วมมือดี ยอมให้ควาญขึ้นคอได้แล้ว
คืบหน้าสุขภาพ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ซึ่งกักตัวครบ 1 เดือน

คืบหน้าสุขภาพ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ซึ่งกักตัวครบ 1 เดือน

คืบหน้าสุขภาพ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ซึ่งกักตัวครบ 1 เดือน

3 แนวทางรักษาอาการบาดเจ็บ “พลายศักดิ์สุรินทร์”

ด้าน นสพ.ดร.ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ (อ.อ.ป.) กล่าวว่า จากการประเมินแผนการรักษาร่วมกับสัตวแพทย์จากหลายหน่วยงานทั่งองค์การสวนสัตว์ คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พบมีอาการเจ็บป่วยภายในและภายนอกร่างกาย คือตาขวามีอาการคล้ายต้อกระจก ขาหน้าด้านซ้ายมีอาการเหยียดตึงและผิดรูป และมีการทำงานของไตบกพร่อง

นสพ.ดร.ทวีโภค กล่าวว่า สำหรับแนวทางการรักษาขาหน้าด้านซ้ายที่มีอาการอาการเหยียดตึงและผิดรูป น่าจะเรื้อรังมานานแล้วต้องเอกซเรย์ขา ตรวจด้วยคลื่นความถี่สูงอัลตราซาวด์ ตรวจวัดการเดิน เพื่อวินิจฉัยว่าผิดปกติในส่วนไหน แต่เบื้องต้นจะเรื่มกระบวนการรักษาแบบบรรเทาอาการไปพร้อมกัน ด้วยการให้ช้างเดินออกกำลังเบาๆ ด้วยการเดิน การว่ายน้ำ และการประคบร้อนด้วยลูกประคบ รวมทั้งการนวดด้วยคลื่นความถี่สูง

อาการบาดเจ็บที่ขาซ้าย อาจจะเกิดจากการอักเสบที่กล้ามเนื้อ แต่ได้ทดสอบให้เดินวันละ 100-200 เมตร แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะกลับมาเหยียดตรงได้เหมือนเดิมหรือไม่ และใช้ระยะเวลานานกี่เดือน

นสพ.ดร.ทวีโภค กล่าวอีกว่า ส่วนอาการตาด้านขวาที่มีคล้ายต้อกระจก หลังจากนี้ จะหาความผิดปกติและเทียบตาทั้ง 2 ข้าง ตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นอัลตราซาวด์เพื่อหาเลนส์ตาก่อน โดยทางเลือกคือการสลายต้อ ถ้าพบว่าผิดปกติ และรักษาตามอาการ ส่วนแผลฝีที่สะโพกภาพรวมไม่น่าเป็นห่วงพบแผลเริ่มแห้งลดลง

นสพ.ดร.ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ

นสพ.ดร.ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ

นสพ.ดร.ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ

พบโปรตีนในฉี่สูง อาจเครียดสะสม

ส่วนอาการที่พบเพิ่มเติมคือมีโปรตีนปนในปัสสาวะ รวมทั้งค่าความถ่วงจำเพาะผิดปกติ อาจบ่งชี้ถึงการทำงานของไตบกพร่องได้ ซึ่งประเด็นนี้ถ้าพ้นระยะกักตัวแล้ว ทางโรงพยาบาลช้าง จะตรวจวัดค่าความดันเลือด รวมทั้งคลื่นหัวใจไปพร้อมๆ กัน ซึ่งอาการนี้อาจเกิดจากช้างที่มีความเครียด จนเกิดภาวะที่พบโปรตีนปนในปัสสาวะได้ จึงต้องติดตามระยะยาว

ควาญช้าง 3 คนคือ ควาญปลิว ควาญโอ้ต และเคน ได้รับการยอมรับจากพลายศักดิ์สุรินทร์ ได้ในระเวลาเพียง 1 เดือนเศษถือว่าเร็วเป็นข้อดี เพราะการที่ช้างยอมรับควาญจะนำไปสู่การดูแลช้างในระยะต่อไป

นอกจากนี้หลังจากย้ายไปอยู่ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างแล้ว จะมีเวลาให้ปรับตัวกับพื้นที่ใหม่อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ แต่จะมีการตรวจรักษาไปพร้อมกัน รวมทั้งจะหาเพื่อนช้างที่เข้ากับพลายศักดิ์สุรินทร์ ให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ครั้งแรกของโลก! อ.อ.ป.สอบคุณวุฒิอาชีพ "ควาญช้าง

เตรียมสปาเล็บ "พลายศักดิ์สุรินทร์" เลื่อนกักโรครอผล 18 ส.ค.นี้

คำบอกเล่า 2 รุ่น "สมุนไพรรักษาช้าง" ภูมิปัญญา 100 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง