ที่มาขนมไหว้พระจันทร์ "ขนมกู้ชาติ ปลดแอกมองโกล"
เมื่อกว่าพันปีที่ผ่านมา ในสมัย "กุบไลข่าน" ผู้นำชาวมองโกล ชาวจีนถูกชาวมองโกลรุกรานผืนแผ่นดินและเข้าครอบครองนานเกือบร้อยปี ชาวจีนในยุคนั้นต้องเผชิญกับความแร้นแค้น และความแค้น เพราะชาวมองโกลใช้วิธีเข้าไปอยู่ในแต่ละบ้าน แล้วให้ชาวจีนหาเลี้ยง
ชาวจีนหลายคนคิดก่อกบฏ ต้องการกอบกู้เอกราชคืนแก่แผ่นดิน "หลิวปั๋วเวิน" หนึ่งในขบวนการใต้ดินที่ต้องการโค่นล้มพวกมองโกล จึงนัดหมายในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 โดยเอาประเพณีมอบขนมไหว้พระจันทร์ให้กันมาบังหน้า ตบตาพวกมองโกล แอบสอดจดหมายนัดแนะวันก่อกบฏไปในขนมที่จงใจออกแบบให้เป็นขนมเปี๊ยะก้อนใหญ่ไส้หนาเป็นพิเศษ ในที่สุดสามารถโค่นล้มราชวงศ์หยวนที่ปกครองโดยมองโกลได้สำเร็จ
หลิวปั๋วเวิน ตั้งตนเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์หมิง และยึดเอาวันเพ็ญเดือน 8 เป็นวันไหว้พระจันทร์สืบมาเพื่อรำลึกถึงการปลดแอกจากพวกมองโกล
ในปัจจุบัน ขนมไหว้พระจันทร์ เป็นของที่ใช้สำหรับเซ่นไหว้ดวงจันทร์ ในวันไหว้พระจันทร์ ลักษณะของขนมมีทรงกลม คล้ายขนมเค้ก ทำจากแป้งนวด แล้วกดใส่แป้นพิมพ์ที่มีลวดลายต่าง ๆ จากนั้นนำไปอบ และเคลือบผิวหน้าด้วยน้ำเชื่อม ภายในบรรจุไส้ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธัญพืช อาทิ เมล็ดบัว, แมคคาเดเมีย, พุทราจีน เป็นต้น แต่ปัจจุบันก็ได้มีดัดแปลงใส่เนื้อสัตว์ต่างๆ เข้าไปด้วย
ไส้สื่อความมงคลของขนมไหว้พระจันทร์
ในประเทศไทย กระแส "ขนมไหว้พระจันทร์" ในช่วงเทศกาลนับว่ายังได้รับความนิยมอยู่อย่างต่อเนื่อง มีผู้ผลิตและจำหน่ายมากมาย อีกทั้งมีการดัดแปลงใส่ไส้ต่างๆ เพิ่มขึ้นจากในอดีตมาก นอกจากธัฐพืชและเนื้อสัตว์แล้ว ก็ยังมี ช็อคโกแล็ต, ชาเขียว, คัสตาร์ด, อัลมอนด์ เป็นต้น หรือดัดแปลงไปเป็นแบบต่างๆ เช่น ดัดแปลงคล้ายขนมโมจิ หรือไอศกรีม และกลายมาเป็นธุรกิจสำคัญที่มีมูลค่าการตลาดและการแข่งขันสูงมากในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์แต่ละปี
การประยุกต์ขนมไหว้พระจันทร์ที่หลากหลายมากขึ้น
อ่าน 10 ความหมายมงคล จากไส้ขนมไหว้พระจันทร์
ตามดั้งเดิมนั้น ไส้ของขนมไหว้พระจันทร์จะมีอยู่ไม่มาก ได้แก่ เมล็ดบัว, ถั่วแดง, โหงวยิ้ง หรือ ธัญพืช 5 ชนิด แต่เมื่อเวลาผ่านมา ก็มีการดัดแปลงมากขึ้น ถูกพัฒนาให้มีความหลากหลายเพื่อตอบสนองความชอบของแต่ละคน
- ไส้ถั่วแดง ชาวจีนโบราณเชื่อว่า "ไต" เป็นอวัยวะที่ผลิตความกลัวออกมา ซึ่งการรับประทานถั่วแดงนั้นจะช่วยเพิ่มความกล้าหาญได้
- ไส้เม็ดบัว เม็ดบัวที่ขาวสะอาดเป็นสัญลักษณ์ของจิตใจที่บริสุทธิ์ มีอายุยืนยาว มีเกียรติยศ ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความสงบสุข
- ไส้โหงวยิ้ง (ธัญพืช 5 ชนิด ถั่วแดง งาขาว เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดแตงโม และอัลมอนด์) เป็นสัญลักษณ์ของโชคลาภ และความอุดมสมบูรณ์
- ไส้เกาลัด คนจีนนิยมรับประทานเกาลัดมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในประวัติศาสตร์จีนได้บันทึกไว้ว่าเกาลัดถือเป็นของมงคล ซึ่งหมายถึงลูกชาย และสิ่งอันเป็นที่รัก
- ไส้ไข่แดง (ไข่เค็ม) เป็นไส้ยอดฮิตของขนมไหว้พระจันทร์ที่สามารถนำไปรวมกับไส้อื่นๆ ไข่แดง หรือ ไข่เค็ม นั้นสื่อถึงความสุกสว่างของดวงจันทร์ แทนความหมายของการมีชีวิตที่ส่องสว่างเหมือนแสงจันทร์ในยามค่ำคืน
- ไส้ชาเขียว เป็นไส้ที่เพิ่มมาใหม่ตามยุคสมัย ตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ ชาเขียวมีประโยชน์ในการช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและโรคมะเร็งบางชนิด
- ไส้คัสตาร์ด เป็นไส้ยอดฮิตที่ผลิตตามความนิยมของคนรุ่นใหม่ คัสตาร์ดอุดมไปด้วยโปรตีนจากไข่ ครีม และนมที่นำมาผสมกัน มีประโยชน์ในการช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต สื่อถึงการเจริญเติบโตและความอุดมสมบูรณ์
- ไส้ทุเรียน เป็นไส้ที่ถูกปากคนไทยสุดๆ ขนมไหว้พระจันทร์ไส้ทุเรียนสื่อถึงความฉลาดหลักแหลม ความเข้มแข็ง และความอุดมสมบูรณ์ มั่งมีเงินทอง
- ไส้งาดำ งาดำเป็นสุดยอดธัญพืชที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย สื่อถึงความมีอำนาจ และความสง่างาม
- ไส้ลูกพลัม ลูกพลัมเป็นพืชที่สามารถเติบโตได้ดีในช่วงฤดูหนาว สื่อความหมายถึงความมานะอุตสาหะ การไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ความกล้าหาญ และความหวังในการเริ่มต้นใหม่ที่ดี
ไส้สื่อความมงคลของขนมไหว้พระจันทร์
ข้อมูลจากโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาการุณย์ ระบุว่า ขนมไหว้พระจันทร์เป็นขนมที่มีพลังงาน น้ำตาล และ ไขมันสูง โดย 1 ชิ้น (น้ำหนัก 150 กรัม) ให้พลังงานสูงถึง 500 - 600 กิโลแคลอรี หรืออาจเทียบเท่กับอาหารจานเดียวทั่วไป 1 จาน และมีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ยสูงถึง 8 ช้อนชา ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำตาลที่ควรบริโภค ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้
หากรับประทานขนมไหว้พระจันทร์วันละ 1 ชิ้น ร่วมกับการรับประทานอาหารปกติ จะทำให้ได้รับพลังงานภาพรวมต่อวันมากเกินไป ส่งผลในระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ ตามมาได้
ความหมายเชิงสัญลักษณ์ 12 ของไหว้บนโต๊ะไหว้พระจันทร์
- ขนมไหว้พระจันทร์ รูปทรงกลมเหมือนพระจันทร์เต็มดวง เป็นสัญลักษณ์ของการกลับมาพบกันของครอบครัว
- เป็ด สื่อถึงการปลดแอกจากการต่อสู้กับชาวมองโกล ในสมัยก่อนชาวมองโกลถูกเรียกว่า "ต้าซี" (鞑子 Dázi) ซึ่งฟังดูเหมือน "เป็ด" (鸭子 yāzi) ในภาษาท้องถิ่นทางเหนือ ดังนั้น "กินเป็ด" จึงเป็นวลีรหัสลับที่หมายถึงการกู้ชาติ
- ปูขน เป็นอาหารอันโอชะตามฤดูกาลพิเศษในเทศกาลไหว้พระจันทร์
- เผือก ในภาษาท้องถิ่นภาคใต้ เผือกหมายถึง ความโชคดี เชื่อกันว่าจะช่วยขจัดโชคร้ายและนำโชคลาภและความมั่งคั่งมาให้
- รากบัว เป็นสัญลักษณ์ของความผูกพันในครอบครัวที่เข้มแข็ง
- ฟักทอง สื่อถึงสุขภาพดี มีตำนานเล่าว่ามีครอบครัวหนึ่งที่พ่อแม่ป่วย ลูกสาวนำฟักทองมาปรุงอาหารให้ จากนั้นพ่อแม่ก็หายดี
- หอย เชื่อกันว่าจะช่วยขับไล่โชคร้าย และยังให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ
- ชาดอกไม้หอมหมื่นลี้ หมายถึงการกลับมาพบกันของครอบครัวและชีวิตที่มีความสุข
- ส้มโอ ในภาษาจีน "ส้มโอ" (柚子 youzi) ฟังดูเหมือน 游子 ซึ่งแปลว่า "สมาชิกในครอบครัวที่อยู่ไกลบ้าน" การรับประทานส้มโอสื่อถึงการกลับมารวมตัวกันของสมาชิกในครอบครัว
- ทับทิม จะช่วยดึงดูดโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ให้กับครอบครัว
- แตงโม เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และมีรูปร่างทรงกลมซึ่งแสดงถึงการกลับมาพบกันของครอบครัว
- ลูกแพร์ หรือ สาลี่ เป็นคำพ้องเสียงกับคำว่า "แยก" (离 lí) ปกติถือว่าเป็นอาหารที่ไม่เป็นมงคล คนจีนจะหลีกเลี่ยงในช่วงเทศกาล แต่ยกเว้นในเทศกาลไหว้พระจันทร์ การกินลูกแพร์หมายถึง การกินโดยไม่แยกจากกัน ทำให้กลับมาพบกันใหม่
การไหว้เจ้าในเทศกาลมงคลต่างๆ
การไหว้พระจันทร์กับความเชื่อดั้งเดิม
คตินิยมการกลับมาเจอกันในวันไหว้พระจันทร์มีมาตั้งแต่อดีต คนต้องรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน เมื่อไหว้พระจันทร์เสร็จแล้วแม่บ้านจะแบ่งขนมไหว้พระจันทร์ให้กินคนละชิ้นทุกคน ถ้ามีคนไม่ได้กลับมาก็ต้องเก็บไว้ให้หนึ่งชิ้น โดยคนนั้นมักจะกลับมากินขนมนี้ในวันตรุษจีน
การไหว้เจ้าในเทศกาลมงคลต่างๆ
พิธีไหว้พระจันทร์ ทำวันไหน เวลาไหน ?
ช่วงเวลาการไหว้นั้น แต่เดิมเริ่มจากไหว้เทพแห่งแผ่นดินในเวลาก่อนเที่ยงวัน ต่อมาตอนเย็นไหว้บรรพบุรุษ ตกค่ำจึงไหว้พระจันทร์ การจัดโต๊ะไหว้พระจันทร์มักเป็นหน้าที่ของผู้หญิง จัดไว้ที่หน้าบ้านที่เป็นลานโล่ง
ผลไม้ไหว้พระจันทร์ มีอะไรบ้าง ?
ของไหว้เทพแห่งแผ่นดินและของไหว้บรรพบุรุษนั้นโดยพื้นฐานแล้วเหมือนกับของไหว้เทศกาลอื่น แต่ที่พิเศษออกไปคือ มีขนมไหว้พระจันทร์ ส่วนผลไม้นิยมเป็นทรงกลมตามหลักโบราณของจีน เช่น เผือก ส้มโอ แตงโม
กิจกรรมช่วงค่ำในเทศกาลไหว้พระจันทร์
นอกจากการไหว้แล้ว ยังมีการเที่ยวชมจันทร์ การละเล่น และมหรสพเฉลิมฉลองด้วย ในยุคราชวงศ์หมิงและชิง จะมีประเพณีท่องแสงจันทร์สำหรับหญิงสาวโดยเฉพาะ ปกติสาวจีนโดยเฉพาะลูกคนมีชาติตระกูลมักไม่ค่อยมีโอกาสเที่ยวเล่นนอกบ้าน แต่คืนไหว้พระจันทร์แตกต่างออกไป
วันไหว้พระจันทร์ วันที่เท่าไหร่?
วันไหว้พระจันทร์ 2566 ปีนี้ ตรงกับ 29 ก.ย.2566
ขนมไหว้พระจันทร์ หรือภาษาจีนเรียกว่า
อ่าน : "วันไหว้พระจันทร์" เทศกาลบูชาความรักของ "โฮวอี้" ต่อ "เทพธิดาฉางเอ๋อ"
ที่มา : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาการุณย์, China Highlights
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
- วันไหว้พระจันทร์
- ขนมไหว้พระจันทร์
- เทศกาลไหว้พระจันทร์
- ไหว้พระจันทร์2566
- วันสำคัญเดือนกันยายน2566
- วันสำคัญ
- วันไหว้พระจันทร์ คือ
- วันไหว้พระจันทร์ ประวัติ
- ไหว้พระจันทร์ วันไหน
- ไหว้พระจันทร์ วันที่เท่าไหร่
- Moon Cake
- ความหมายขนมไหว้พระจันทร์
- ตำนานขนมไหว้พระจันทร์
- ความเชื่อขนมไหว้พระจันทร์
- ขนมกู้ชาติ
- ขนมไหว้พระจันทร์ มีไส้อะไรบ้าง