เปิดกลวิธี "หนี ซ่อน สู้" เอาตัวรอดเหตุกราดยิง

อาชญากรรม
4 ต.ค. 66
12:17
3,875
Logo Thai PBS
เปิดกลวิธี "หนี ซ่อน สู้" เอาตัวรอดเหตุกราดยิง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
โซเชียลชื่นชม รปภ.-พนักงานห้างพารากอน ตั้งสติพาผู้ใช้บริการหลบหนี-ซ่อนตัวหลังเสียงปืนดัง ลดความสูญเสียเหตุยิงในห้าง ขณะที่ ตร.แนะกลวิธี "หนี-ซ่อน-สู้"

เหตุยิงในห้างสรรพสินค้าใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อช่วงเย็นนี้ (3 ต.ค.2566) เมื่อเสียงปืนดังขึ้น เป็นจังหวะชุลมุนผู้ใช้บริการบางส่วนวิ่งกรูออกจากพื้นที่ แต่อีกส่วนหนึ่งใช้วิธีเอาตัวรอด "หนี-ซ่อน-สู้"

ในสื่อโซเชียลมีเดีย ชื่นชมและพูดถึงวิธีช่วยเหลือประชาชนของพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ภายในห้างสรรสินค้า และพนักงานร้านต่าง ๆ ที่ผ่านการอบรมและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ จนลดความสูญเสียเพิ่มขึ้นได้ กรณี รปภ.ได้ปิดประตู และเรียกผู้ใช้บริการให้เดินไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้ รวมทั้งนำทางไปยังช่องทางหลบหนี หรือปิดห้องจัดงานชั้นบนของห้าง ไม่ให้คนเข้า-ออก ป้องกันความวุ่นวาย

ส่วนกรณีพนักงานร้านค้าต่าง ๆ ได้เปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการหลบด้านหลังร้าน ปิดไฟ ล็อกประตูทุกบ้าน ปิดเสียงโทรศัพท์มือถือ เฝ้าดูสถานการณ์ผ่านกล้องวงจรปิด และติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียล พร้อมทั้งคอยอธิบายให้นักท่องเที่ยวตั้งสติได้ กระทั่งตำรวจจับกุมผู้ก่อเหตุและควบคุมสถานการณ์ได้ ผู้ใช้บริการจึงออกจากร้านอย่างปลอดภัย

เปิดกลวิธี "หนี-ซ่อน-สู้"

กลวิธี "หนี-ซ่อน-สู้" หรือ "Run Hide Fight" เป็นหลักสากลที่ FBI และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในหลาย ๆ ประเทศ นำมาใช้แนะนำประชาชนเอาชีวิตรอดในเหตุกราดยิง ซึ่งหน่วยงานของไทยได้ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุกราดยิงในห้างดัง จ.นครราชสีมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

"หนี" เมื่อหาเส้นทางหลบหนีไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้

  • เมื่อไปสถานที่ต่าง ๆ ให้จดจำทางเข้า-ออก และทางออกฉุกเฉินให้เป็นนิสัย
  • เมื่อเกิดเหตุต้องตั้งสติให้ดี และมองหาเส้นทางหลบหนี
  • ทิ้งของทุกอย่างที่ไม่จำเป็น
  • ช่วยเหลือคนอื่นเท่าที่สามารถช่วยได้

"ซ่อน" เมื่อไม่สามารถหลบหนีออกจากพื้นที่ได้ ให้หาสถานที่ปลอดภัยซ่อนตัว

  • ล็อกประตูและหาสิ่งที่ของมาใช้กีดขวางคนร้ายไม่ให้มาถึงตัว
  • ซ่อนให้พ้นสายตาโดยหลบหลังสิ่งของขนาดใหญ่และแข็งแรง เช่น โต๊ะ กำแพง
  • ปิดไฟในห้อง และปิดเสียงโทรศัพท์มือถือ
  • อยู่ให้เงียบที่สุด ไม่พูดคุยหรือใช้เสียง

"สู้" ทางเลือกสุดท้ายเมื่อไม่สามารถหนีหรือซ่อนตัวได้ และคนร้ายกำลังจะเข้าถึงตัว

  • ร่วมกันสู้สุดกำลังเพื่อให้มีโอกาสรอด
  • ใช้การซุ่มโจมตีโดยไม่ให้คนร้ายรู้ตัว เพื่อหยุดยั้งคนร้าย
  • ใช้สิ่งของทุกอย่างที่หาได้มาเป็นอาวุธ
  • ใช้ทุกวิธีการที่นึกได้ ในการต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ ผกก.ฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 2 สํานักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ ไทยพีบีเอสออนไลน์ แนะวิธีการเฝ้าระวังและป้องกันอาชญากรรม คือ การรับรู้สถานการณ์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาชญากรรม โดยเฉพาะ สามเหลี่ยมอาชญากรรม ซึ่งประกอบด้วย 1.เป้าหมาย 2.ผู้ก่อเหตุ และ 3.โอกาส (เวลาและสถานที่)

หากเยาวชน หรือ ประชาชนสามารถทราบเบื้องต้นถึงหลักการเหล่านี้ก็จะช่วยความเสี่ยงในการเกิดอาชญากรรมได้ เช่น การเดินเข้าไปในสถานที่ใด เราเห็นคนกำลังใช้อาวุธปืนก็สามารถหลบเลี่ยงได้ แต่ในโลกปัจจุบันที่เรามักที่จะไม่รับรู้สถานการณ์ เพราะใช้มือถือกันเยอะ เดินไปไหนก็จะดูมือถือด้วย ตรงนี้จะทำให้สมาธิเราขาดหายไป การรับรู้สถานการณ์ก็จะลดน้อยลง แทนที่จะเห็นผู้ก่อเหตุในระยะไกลแล้วหลบหนีได้ แต่ก็เดินไปจนใกล้ถึงสถานการณ์นั้น ก็จะแก้ไขจะปัญหาลำบาก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สถานทูตจีน ออกแถลงการณ์เหตุยิงในห้าง คนจีนเสียชีวิต 1 คน 

ผบ.ตร.เผยเด็ก 14 ปีมีประวัติรักษาจิตเวช ตร.ตรวจบ้านหาหลักฐานเพิ่ม 

จิตแพทย์เด็ก แนะหยุดส่งต่อความเกลียดชัง หยุดพฤติกรรมเลียนแบบ 

ตรวจค้นบ้าน "เด็กชาย 14 ปี" พบกระสุนปืนจำนวนมาก

แนะเยาวชนรู้จักสามเหลี่ยมอาชญากรรม เฝ้าระวังก่อนเกิดเหตุร้าย 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง