รร.บ้านมูโนะ ทำแผนเผชิญเหตุ ฝึก "เด็ก" รับสถานการณ์ร้าย

ภูมิภาค
10 ต.ค. 66
18:15
599
Logo Thai PBS
รร.บ้านมูโนะ ทำแผนเผชิญเหตุ ฝึก "เด็ก" รับสถานการณ์ร้าย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ร่องรอยความเสียหายจากโกดังเก็บพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟระเบิด ในพื้นที่ชุมชนตลาดมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส โดยเฉพาะ ภายในบริเวณโรงเรียนบ้านมูโนะ ยังคงปรากฏให้เห็นชัดที่บริเวณตัวอาคารสองชั้น หรืออาคารเรียนประกอบ ด้านที่ติดกับหอประชุม แม้หลายจุดๆ จะถูกบูรณะซ่อมแซม จนมีสภาพไม่ต่างจากก่อนจะเกิดเหตุดังกล่าวเมื่อสามเดือนที่แล้ว

ในวันนี้เด็กๆ ยังเดินทางมาเรียนหนังสือตามปกติ แต่ยังมีการสลับชั้นและห้องเรียน เนื่องจากอาคารเรียนไม่พอ ทั้งๆ ที่ควรจะปิดเทอมเหมือนโรงเรียนปกติทั่วไปแล้ว แต่ช่วงหลังเกิดโศกนาฏกรรม ทำให้การเรียนการสอนของครูและนักเรียนต้องปิดลงชั่วคราว นานถึง 2 สัปดาห์ จึงทำให้ต้องมีการเรียนการสอนชดเชยช่วงเวลาที่ต้องหยุดไป

โสรยา อาแซ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านมูโนะ

โสรยา อาแซ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านมูโนะ

โสรยา อาแซ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านมูโนะ

ยากลบเลือนภาพจำในใจ

เสียงการพูดคุย เสียงหัวเราะ ท่าทางเหนียมอายของ นักเรียนตัวเล็กๆ ทั้งชายแหละหญิง เสมือนเป็นสัญญาณว่า อาการขวัญผวา ของครูและนักเรียน ได้จางลงบ้างแล้ว หรือหลายๆ คน ทั้งครูและนักเรียนอาจยังมีอยู่บ้าง แต่คงเทียบไม่ได้กับความรู้สึกๆ ลึกๆ ในใจของนักเรียนชั้น ป.1 เด็กน้อยวัย 6 ขวบที่บิดาต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ทุกเย็นหลังเลิกเรียน เขาจะไปนั่งคุยกับพ่อที่กุโบร์ ที่อยู่หน้าโรงเรียน ศพพ่อของเขาถูกฝังอยู่ตรงนั้น แล้วถามว่า เมื่อไหร่พ่อจะตื่น เมื่อไหร่พ่อจะกลับมา ใบหน้าของเด็กเศร้ามาก ครูได้แต่กอด เพราะสงสารเขา

โสรยา อาแซ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านมูโนะ เล่า โรงเรียนมูโนะ ถูกจัดให้อยู่ในโซนพื้นที่สีแดง หรือ"จุดอันตราย" เนื่องจากอยู่ห่างจากจุดที่เกิดระเบิดเพียง 300 เมตร เหตุการณ์นี้มีนักเรียนได้รับบาดเจ็บจำนวน 27 ราย และบาดเจ็บสาหัส 1 ราย คือ ด.ญ.นูรูกัสมี เจ๊ะหะ วัย 12 ขวบที่ต้องเสียดวงตาข้างขวา จากเศษกระจกจากแรงระเบิดกระเด็นใส่แก้วตา ทำให้ต้องพิการตาบอดตลอดชีวิต

นูรูกัสมี ได้รับการรักษาแล้ว และหยุดไป 1 เดือนยังไม่ได้มาโรงเรียน แม่ของเขาก็มาปรึกษากลัวว่า เด็กจะโดนล้อ ถูกพบบูลลี่ ครูก็ได้ทำความเข้าใจกับเด็กๆ เขาเข้าใจดี ทางกรมสุขภาพจิต ได้เข้ามาประเมินเด็ก พบว่า ทุกคนกลัว สงสารเพื่อน อยากมาโรงเรียน และครอบครัวของพวกเขาก็ได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกัน

ในสัปดาห์นี้โรงเรียนบ้านมูโนะ จะมีการประชุมและตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคัดแยกให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่ได้รับผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะรายของ ด.ญ นูรูกัสมี และเด็กชายวัย 6 ขวบที่บิดาเสียชีวิต

โสรยา กล่าวว่า สำหรับนูรูกัสมี นักเรียนชั้น ป.6 จะได้รับทุนเทอมละ 5,000 บาท หรือ ปีละ 30,000 บาท จนจบชั้นมัธยม ส่วนเด็กชายชั้น ป.1 เนื่องจากยังจัดอยู่ในชั้นเด็กเล็ก ก็จะได้รับ 30,000 บาทเท่ากัน แต่แบ่งจ่ายเป็นรายเดือน จนกว่าจะจบชั้นมัธยม

"เด็กชาย ป.1 เขาสนิทกับพ่อมาก ส่วนแม่ก็ยังตั้งท้องอยู่ ทั้งพ่อและแม่เขา เป็นลูกศิษย์ที่ครูเคยสอนมา …นอกจากเด็ก 2 คนนี้แล้ว โรงเรียนฯ ก็จะทยอยให้ความช่วยเหลือนักเรียนคนอื่นๆด้วย เช่น นักเรียนที่ยังมีอาการเยื่อแก้วหูทะลุ" ผอ.โรงเรียนบ้านมูโนะ กล่าว

เตรียมรับมือสถานการณ์ยากคาดเดา

ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่เด็กนักเรียน ที่กลัวดอกไม้ไฟ ตนเองก็กลัวเหมือนกัน และรู้ว่าต้องระวังอย่างไร

หลังเกิดเหตุการณ์ระเบิด โรงเรียนบ้านมูโนะได้รับเงินบริจาค จากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน และหน่วยงานต้นสังกัด จำนวน 3 ล้านบาท เพื่อนำมาซ่อมแซมและปรับปรุงและรื้อจุดที่เสียหายหนัก โดยการจ้างช่างจากในหลายพื้นที่ให้เร่งดำเนินการ เพื่อให้นักเรียนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพราะโรงเรียนเปิดสอนในตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-มัธยมปีที่ 3 มีนักเรียนจำนวน 910 คน และมีนักเรียนประจำอยูที่โรงเรียน 172 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กกำพร้า ยากจน และด้อยโอกาส

งบที่ได้มา 3 ล้านบาท ไม่เพียงพอ แต่ครูต้องบริหารจัดการให้ได้ ที่ผ่านมาโรงเรียนถูกน้ำท่วมหนักมากถึง 3 ครั้ง อุปกรณ์การเรียน การสอน คอมพิวเตอร์ เสียหาย ล่าสุดยังมาเจอโศกนาฏกรรมแบบนี้อีก เราเป็นโรงเรียนอยู่ชายขอบก็ต้องเตรียมความพร้อม และเตรียมรับมือทุกสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ 

สำหรับแผนเตรียมความพร้อมรับมือให้กับเด็กนักเรียน เนื่องจากโรงเรียนบ้านมูโนะ อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในทุกๆ ปีหน่วยงานท้องถิ่น เช่นเจ้าหน้าที่ตำรวจและ ฝ่ายปกครองในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น จะมีการซ้อมแผนรับมือก่อการร้าย เหตุการณ์กราดยิง ภัยคุกคามจากธรรมชาติ น้ำท่วม อัคคีภัย

และภัยล่าสุด คือ จากเหตุโกดังเก็บดอกไม้ไฟระเบิดว่า จะต้องใช้วิธีการ หมอบ หรือ เคลื่อนตัวอย่างไร โดยแผนรับมือดังกล่าวจะบรรจุไว้ในแผนของโรงเรียนใน ปี 2567 หรือปีการศึกษาหน้านี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

เสียงชาวบ้านมูโนะ "ค่าของคน" คนของใคร

แม่น้ำไหลกั้น "ไทยสยาม" สายสัมพันธ์ไม่เปลี่ยน

ขนมโบราณ 100 ปี "ตลาดยะกัง" ดินแดนปลายด้ามขวาน

"ร้านต้มยำ" โอกาสแรงงานไทย ในมาเลเซีย

"ตะโละมาเนาะ" จ.นราธิวาส มัสยิดเรือนไม้เก่าแก่ อายุเกือบ 4 ศตวรรษ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง