ศึก "อิสราเอล-ฮามาส" ขยายวง?

ต่างประเทศ
12 ต.ค. 66
10:48
3,378
Logo Thai PBS
ศึก "อิสราเอล-ฮามาส" ขยายวง?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

แม้การสู้รบรุนแรงจะเกิดขึ้นบริเวณพรมแดนอิสราเอลกับกาซา โดยเฉพาะเขตกาซาเป็นหลัก แต่ความเคลื่อนไหวในพื้นที่ทางตอนเหนือของอิสราเอลขณะนี้น่ากังวลไม่น้อย ทำให้กองทัพอิสราเอลต้องเพิ่มกำลังทหารประจำการตามแนวพรมแดนที่อยู่ติดกับเลบานอน

หลังจากอิสราเอลยิงโจมตีพื้นที่ทางตอนใต้ของเลบานอนเมื่อวานนี้ (11 ต.ค.) เพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มเฮซบอลลาห์ ซึ่งยิงขีปนาวุธต่อต้านรถถังอย่างน้อย 2 ลูก พุ่งเป้าไปยังจุดประจำการทหารในพื้นที่ทางตอนเหนือของอิสราเอล ทำให้บ้านเรือนของชาวเลบานอนอย่างน้อย 10 หลัง และฐานยิงจรวดได้รับความเสียหาย โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 คน

ขณะที่เฮซบอลลาห์ ระบุว่า การโจมตีดังกล่าวเป็นการตอบโต้อิสราเอลที่สังหารสมาชิกของกลุ่มในระหว่างการปะทะกันเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

บรรยากาศตึงเครียดในจุดนี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น นับตั้งแต่ฮามาสบุกโจมตีอิสราเอล ท่ามกลางความกังวลว่า การสู้รบรุนแรงจะปะทุขึ้นในบริเวณนี้เพิ่มอีก 1 จุด ซึ่งเฮซบอลลาห์เป็นกลุ่มที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับฮามาส

พันธมิตรของฮามาสไม่ได้มีแค่กลุ่มติดอาวุธที่อยู่ในเลบานอนเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มสนับสนุนกระจายตัวอยู่ในหลายประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีจุดร่วมเป็นความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิหร่าน เช่น ซีเรีย มีรายงานว่า อิสราเอลต้องยิงปืนใหญ่ เพื่อตอบโต้การโจมตีที่มาจากฝั่งซีเรียในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

ขณะที่ผู้นำกลุ่มฮูตีในเยเมน ล่าสุดออกมาประกาศความพร้อมที่จะร่วมมือกับกลุ่มอื่น ๆ รวมทั้งขู่ว่าจะยิงขีปนาวุธ ใช้โดรนโจมตีและใช้ยุทธวิธีทางทหารต่าง ๆ เพื่อตอบโต้ หากสหรัฐฯ เข้าไปยุ่งกับความขัดแย้งในกาซาโดยตรง

ส่วนกลุ่มติดอาวุธในอิรักจำนวนหนึ่ง ออกมาแสดงจุดยืนไม่ต่างกับฮูตี คือหากสหรัฐฯ เข้าไปแทรกแซงทางการทหารในกาซา ทางกลุ่มจะเปิดฉากโจมตีฐานทัพและผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในดินแดนอิรักและตามจุดต่าง ๆ ในภูมิภาค

ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ไม่ได้เรียกเสียงวิจารณ์จากฝั่งผู้สนับสนุนฮามาสหลักเท่านั้น แต่ตุรกีเองก็ออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านด้วยเช่นกัน โดยประธานาธิบดีเรเซป ทายยิบ เออร์ดวน ออกมาโจมตีกรณีสหรัฐฯ ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าใกล้อิสราเอล ว่า อาจจะนำไปสู่การสังหารหมู่ในกาซา

ขณะที่อดีตผู้นำฮามาส ขณะนี้อยู่ในกาตาร์ โดยออกมาเชิญชวนให้โลกมุสลิมและอาหรับออกมารวมตัวประท้วงพร้อมกันในวันพรุ่งนี้ (13 ต.ค.) เพื่อแสดงพลังสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลและประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งจอร์แดน ซีเรีย เลบานอน และอียิปต์ ออกมาทำหน้าที่ที่สำคัญที่สุดในการช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์

ข้อมูลจากสำนักสถิติกลางปาเลสไตน์ ชี้ว่า ปัจจุบันมีชาวปาเลสไตน์อยู่ในกาซาและเวสต์แบงค์ รวมกันมากกว่า 5,000,000 คน และอีกหลายล้านคนกระจัดกระจายอยู่ในหลายประเทศ แต่ทั้งสามประเทศนี้ เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่รับดูแลผู้อพยพชาวปาเลสไตน์เป็นจำนวนมาก โดยอยู่ในจอร์แดนมากที่สุด ประมาณ 2,300,000 คน ขณะที่ตัวเลขในซีเรีย UN ระบุว่า อาจจะมีน้อยกว่านี้ เพราะพบว่าผู้ลี้ภัยที่ลงทะเบียนในซีเรียจำนวนหนึ่งอพยพไปอาศัยในประเทศอื่น ๆ แทน

สิ่งหนึ่งที่ต้องแยกออกจากกันให้ชัด คือ ชาวปาเลสไตน์ทั้งหมดไม่ใช่กลุ่มฮามาส ดังนั้นในช่วงหลายวันที่ผ่านมา แม้จะมีภาพความโหดร้ายของเหตุโจมตีในอิสราเอล แต่ในหลายเมืองทั่วโลกก็ยังคงเห็นภาพการชุมนุมสนับสนุนและเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่อง

จุดนี้กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ของอิสราเอล เพราะจะทำอย่างไรให้การโจมตีกลุ่มติดอาวุธกระทบกับพลเรือนน้อยที่สุด เพื่อไม่ให้สร้างเงื่อนไขที่จะยิ่งทำให้กลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงได้ประโยชน์

การโจมตีทางอากาศในแต่ละวันถ้าสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของสงครามที่ขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น

วิเคราะห์ : ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อิสราเอลถล่ม "มหาวิทยาลัย" กาซา อ้างใช้เป็นศูนย์ข่าวกรองฮามาส 

กต.เผย "แรงงานไทย" เสียชีวิตอีก 2 คน - ถูกจับเป็นตัวประกันเพิ่ม 3 คน 

ประเมิน "อิสราเอล" บุก "กาซา" ได้คุ้มเสียหรือไม่ ? 

เปิดค่าใช้จ่ายไป "อิสราเอล" แรงงานไทยยอมจ่าย แลกเสี่ยงทำงาน 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง