นโยบายต่างประเทศของไทย ความท้าทายในโลกยุคแบ่งขั้ว-เลือกข้าง

ต่างประเทศ
22 ต.ค. 66
09:31
8,790
Logo Thai PBS
นโยบายต่างประเทศของไทย ความท้าทายในโลกยุคแบ่งขั้ว-เลือกข้าง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ในช่วงเวลากว่า 9 ปีภายใต้รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นโยบายทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการดำเนินการทางการทูตของไทยถูกจับจ้องและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นท่าทีต่อวิกฤติในเมียนมา การวางตัวท่ามกลางการแข่งขันในด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical rivalry) ระว่างสหรัฐอเมริกากับจีน สงครามในยูเครน และแม้แต่การแสดงบทบาทของไทยในเวทีอาเซียน (ASEAN)

อดีตปลัดกระทรวงต่างประเทศ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ดูเหมือนจะมีคำเปรียบเปรยที่ทำให้เห็นภาพได้ชัดที่สุดว่า “ประเทศไทยหายไปจากจอเรดาร์ของการทูตระหว่างประเทศ” ในการให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอส เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของไทยภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับข้อสังเกตของนักการทูต นักวิเคราะห์ทางด้านการต่างประเทศ และนักการเมืองส่วนใหญ่ที่มองว่านโยบายต่างประเทศและการทูตของประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมีสภาพ “เฉื่อยชา” และ “ขาดทิศทาง” และที่ตกเป็นเป้าของการถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดก็คือท่าทีและแนวทางการทูตของประเทศไทยต่อวิกฤติในเมียนซึ่งถูกมองโดยประเทศตะวันตก นักวิเคราะห์ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนว่าโอนเอียงเข้าข้างและเอาใจรัฐบาลทหารเมียนมาที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนมาตั้งแต่ปี 2564

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายดอน ปรมัตถ์วินัย เรียกแนวทางนี้ว่า “การทูตแบบเงียบๆ” (quiet diplomacy) หรือ “ปิดทองหลังพระ” โดยอาศัยความเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกันที่สุดและความสัมพันธ์ที่มีอยู่ระหว่างผู้นำเหล่าทัพของสองประเทศผ่านการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการเพื่อเปิดทางให้มีการแก้วิกฤติในเมียนมา

ความพยายามของไทยตามแนวทางนี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นหลังจากที่ “ฉันทามติ 5 ข้อ” (ASEAN’s five-point consensus) ของอาเซียนไม่ประสบความสำเร็จในการหว่านล้อมให้ผู้นำทหารในเมียนยอมผ่อนปรนเพื่อให้ยุติความขัดแย้งอย่างสันติ แต่แนวทางดังกล่าวของไทยถูกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าเป็นการให้ท้ายผู้นำทหารในเมียนมากกว่าช่วยแก้ปัญหา

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกันตธีร์ ศุภมงคล ตั้งข้อสังเกตว่าถึงแม้ “การทูตแบบเงียบๆ” เป็นแนวทางที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไป แต่ต้องดูว่าได้ผลหรือไม่ “ถ้ามันเป็นแค่การทูตแบบเงียบ ๆ และไม่มีผลลัพธ์ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เมื่อนั้นคุณจะมีปัญหา และคุณต้องผสมผสานเข้ากับการทูตที่ไม่เงียบเพื่อให้ได้ผล ” นายกันตธีร์กล่าวกับไทยพีบีเอส

เพราะฉะนั้นบทบาทของไทยในการช่วยคลี่คลายหรือแก้วิกฤติในเมียนมา ตลอดจนการบริหารจัดการกับปัญหาผู้หนีภัยสงครามจากเมียนมาบริเวณชายแดนไทยหลายพื้นที่จึงถูกมองว่าเป็นบทพิสูจน์บทหนึ่งว่าภายใต้รัฐบาลใหม่ประเทศไทยจะมีบทบาทที่มีความหมายและเป็นที่ยอมรับในระดับที่กว้างขึ้นในอาเซียนแค่ไหน

การที่ประเทศไทยถูกประเทศตะวันตกกดดันหลังการยึดอำนาจโดยทหารภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ในปี 2557 ทำให้รัฐบาลไทยเขยิบเข้าไปหาจีนมากขึ้น จนทำให้ประเทศตะวันตกมองไทยว่าได้เลือกอยู่ข้างจีนท่ามกลางการแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์หรือ “สงครามเย็นยุคใหม่” ระหว่างสองมหาอำนาจ

เศรษฐา พบ ปูติน

เศรษฐา พบ ปูติน

เศรษฐา พบ ปูติน

ยิ่งกว่านั้น ประเทศไทยเป็น 1 ใน 35 ประเทศที่งดออกเสียงในการลงมติประณามความพยายามของรัสเซียในการผนวกรวมดินแดนในภูมิภาคทางตะวันออกของยูเครนในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในเดือนตุลาคม 2565 ได้ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับจุดยืนของไทยต่อวิกฤติในยูเครน ซึ่งก็จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลใหม่เช่นกัน

ที่สำคัญพอ ๆ กัน ก็คือการก่อเกิดของกลุ่มประเทศความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ที่ประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาว่าจะเข้าไปส่วนร่วมด้วยมากน้อยแค่ไหน รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เสนอให้ประเทศไทยเข้าร่วมกับกลุ่มความร่วมมือทางด้านการค้าและเศรษฐกิจ และกลุ่มประเทศที่มีบทบาทในการกำหนดกฎระเบียบใหม่ของโลกอย่างเช่น BRICs ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ และมีอีกหลายประเทศจะกำลังจะเป็นสมาชิกใหม่

ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำถึงการเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและรุนแรงในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าเป็นเทคโนโลยี การเมือง เศรษฐกิจ และการแข่งขันที่โลกใบนี้กำลังเผชิญอยู่ ที่เรียกกันว่า VUCA world ซึ่งเป็นคำย่อของคำสี่คำ คือ V-volatility (ความผันผวน) U-uncertainty (ความไม่แน่นอน) C-complexity (ความซับซ้อน) และ A-ambuguity (ความคลุมเครือ) ซึ่งประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีนโยบายต่างประเทศและการทูตที่ทำให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายเหล่านี้
ต้องสื่อสารกับประชาชนให้ชัด

ถึงแม้นโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเป็นเรื่องที่ฟังดูแล้วอาจเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนไทยทั่วไป แต่ในความเป็นจริงแล้วในโลกปัจจุบันนโยบายต่างประเทศเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการผลักดันผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง

นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของสภาแทนราษฎรเชื่อว่าพรรคการเมืองและนักการเมืองจำเป็นต้องสื่อสารให้คนในสังคมรับรู้ว่าในโลกยุคโลกาภิวัตน์ นโยบายต่างประเทศเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อกับปากท้องของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ก็เป็นที่น่าสนใจว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา แทบไม่มีพรรคการเมืองไหนชูเรื่องนโยบายต่างประเทศในการหาเสียงอย่างจริงจัง แม้แต่นโยบายของพรรคส่วนใหญ่ที่ประกาศออกมาเว็บไซต์หรือในโซเชียลมีเดียก็พูดถึงนโยบายต่างประเทศน้อยมากหรือถ้ามีก็จะเป็นแนวคิดอย่างกว้าง ๆ

จุดยืนทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ถูกพูดถึงในเวทีอภิปรายที่ไทยพีบีเอสและองค์กรสื่ออื่นๆ ได้จัดขึ้น ในเวทีเหล่านี้ตัวแทนทุกพรรคการเมืองยอมรับว่าความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นในโลก ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญหน้าในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสองมหาอำนาจ การแผ่อิทธิพลในด้านต่างๆ ของจีน การแข่งขันทางการค้าและเศรษฐกิจ สงครามในยูเครนซึ่งกำลังมีผลกระทบไปทั่วโลก ภาวะโลกร้อน และวิกฤตในเมียนมาเป็นโจทย์ใหญ่ที่รอรัฐบาลใหม่ของไทย

พรรคร่วมรัฐบาลไม่มีนโยบายที่ชัดเจน

ถึงแม้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนหลักของรัฐบาลผสมภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และยังเป็นพรรคที่ดูแลกระทรวงการต่างประเทศด้วยจะบรรจุนโยบายต่างประเทศอยู่ในนโยบายหลักระหว่างการหาเสียง แต่ก็เป็นเพียงแนวคิดกว้าง ๆ ที่ระบุเพียงว่าจะให้ความสำคัญกับการใช้นโนบายต่างประเทศเป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาสทางด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่ในตลาดโลกและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและทำให้การท่องเที่ยวเติบโต

พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่าเป็นเรียกคืนเสถียรภาพทางการทูตให้ประเทศไทยเพื่อให้มีสิทธิ์มีเสียงในเวทีการเมืองโลกอีกครั้งแต่ไม่มีแนวทางที่ชัดเจน พร้อมๆ กับการทำให้หนังสือเดินทางไทยเดินทางได้ทั่วโลกโดยไม่ต้องขอวีซ่า (universal passport) ซึ่งตามข้อมูลล่าสุดของกระทรวงการต่างประเทศ ปัจจุบันมีเพียง 30 กว่าประเทศเท่านั้นที่คนไทยสามารถเดินทางไปได้โดยไม่ต้องมีวีซ่า

แต่ในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา รัฐบาลเสนอเพียงแค่ยกระดับหนังสือเดินทางไทยให้สามารถเดินทางได้หลายประเทศมากยิ่งขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องขอวีซ่า

ส่วนนโยบายต่างประเทศของพรรคภูมิใจไทยเน้นการสร้างโอกาสทางด้านเศรษฐกิจ โดยชูนโยบายสร้าง land-bridge เส้นทางเชื่อมระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน โดยมีเป้าหมายยกระดับการคมนาคมของประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางคมนาคมอาเซียน (ASEAN transportation hub) แต่นโยบายดังกล่าวก็ไม่ปรากฏอยู่ในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา

พรรคชาติไทยพัฒนาดูเหมือนจะเป็นพรรคการเมืองที่มีนโยบายต่างประเทศที่ครอบคลุมมากกว่าพรรคอื่น ๆ โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ เป็นมิตรกับทุกประเทศ ปฏิบัติตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยธรรม และพันธกรณีที่ทำไว้กับนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ

นอกจากนั้นยังเน้นการใช้ประโยชน์จากการจัดระเบียบการค้าใหม่ในระดับภูมิภาคและระดับโลก และใช้นโยบายเชิงรุกในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในกรอบองค์การการค้าโลก เขตการค้าเสรีอาเซียน พร้อม ๆ กับการทำให้ประเทศไทยมีบทบาทในเวทีองค์กรระหว่างประเทศที่เด่นชัดมากขึ้น

ในการให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสในเรื่องนโยบายประเทศ นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้านของไทยโดยเฉพาะประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกันเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการเผชิญกับความท้าทายและปัญหาที่คล้ายกัน โดยตัวอย่างผลกระทบที่เกิดจาก ฝุ่นควัน PM 2.5 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเผาไหม้ที่เกิดขึ้นในเพื่อนบ้าน

พรรคพลังประชารัฐ พรรคร่วมรัฐบาลอีกพรรคหนึ่งก็ไม่มีนโยบายต่างประเทศที่ชัดเจน แต่ในการให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอส นายอุตตม สาวนายน ประธานจัดทำนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันว่าประเทศไทยจะต้องไม่ยอมถูกกดดันให้เลือกข้างมหาอำนาจประเทศใดประเทศหนึ่ง

“ไทยต้องมีต้องมียุทธ์ศาสตร์ด้านต่างประเทศที่ชัดเจน เพื่อที่จะสามารถแสดงจุดยืนต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้บนพื้นฐานของผลประโยชน์ของประเทศ และประเทศไทยต้องไม่ยอมให้ถูกผลักดันให้เลือกข้างโดยมหาอำนาจ” เป็นความเห็นของนายอุตตม ซึ่งอธิบายว่าการไม่เลือกข้างหมายถึงความจำเป็นในการบริหารจัดการกับความสัมพันธ์กับสองมหาอำนาจนี้ซึ่งเป็นคู่ค้ารายสำคัญของประเทศไทยเพื่อให้ไทยได้ประโยชน์มากที่สุด ความท้าทายท่ามกลางโลกแบ่งขั้ว

เป็นจุดยืนที่สอดคล้องกับความเห็นของ ร.ศ.ปณิธาน วัฒนายากร อดีตประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่ย้ำว่าประเทศไทยต้องเลือกจุดยืนที่เป็นกลางท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจ

ขณะที่นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของสภาแทนราษฎรเห็นว่าประเทศไทยต้องไม่ยอมตกอยู่ในสภาวะที่ถูกบีบบังคับให้เลือกข้าง “ประเทศไทยต้องมีจุดยืนของตัวเอง บนผลประโยชน์ของไทย และอย่างมีศักดิ์ศรี” นายเกียรติกล่าว

ในนโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่แถลงต่อรัฐสภานั้นรัฐบาลไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับทิศทางในการดำเนินการ นอกจากให้คำมั่นที่จะสร้างบทบาทในเวทีโลกและให้ความสำคัญกับการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่าง ๆ อย่างสมดุลบนผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ในระดับภูมิภาคที่รัฐบาลจะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และรักษาบทบาทนำของประเทศไทยในภูมิภาคและอนุภูมิภาค รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศ องค์กรทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงของประเทศไทย

นายกรัฐมนตรีพบหารือทวิภาคีกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน

นายกรัฐมนตรีพบหารือทวิภาคีกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน

นายกรัฐมนตรีพบหารือทวิภาคีกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน

ในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา รัฐบาลยอมรับถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องกำหนดบทบาทและวางตัวอย่างเหมาะสมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ ส่งเสริมสันติภาพ และสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนคนไทย ท่ามกลางผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป รัฐบาลระบุในคำแถลงนโยบายว่ายุคสมัยของเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์กำลังสิ้นสุดลงและได้เปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจโลกแบบแบ่งขั้ว ซึ่งจะเป็นความท้าทายใหม่ในเวทีโลก ขณะที่ความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างประเทศของชาติมหาอำนาจจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น

รัฐบาลยังจะให้ความสำคัญกับการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อเปิดประตูการค้า สู่ตลาดใหม่ ๆ ให้สินค้าและบริการของประเทศไทย อาทิกลุ่มสหภาพยุโรป กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง อินเดีย แอฟริกา อเมริกาใต้รวมถึงการให้ความสำคัญกับตลาดเดิมที่รวมถึง ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง พร้อมๆ กับการเร่งการเจรจากรอบความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ (FTA)

คนที่รับหน้าที่หลักในการผลักดันนโยบายเหล่านี้ ก็คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปานปรีย์ พหิทธานุกร ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีพอสมควรในฐานะนักการเมืองที่มีประสบการณ์ทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเคยมีบาทเป็นหัวหน้าคณะเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีในกลุ่มประเทศ BIMSTEC ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือทางวิชาการและเศรษฐกิจระหว่าง 7 ประเทศในภูมิภาคอ่าวเบงกอล ประกอบด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย และในฐานะผู้แทนการค้าไทย

คงไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจนักถ้าจากนี้ไปบทบาทของรัฐมนตรีต่างประเทศจะถูกจับตามองไม่น้อยไปกว่าผู้บริหารกระทรวงอื่น ๆ เพราะนโยบายต่างประเทศและการทูตในยุคนี้มีผลโดยตรงไม่ใช่เฉพาะต่อสถานะและศักดิ์ศรีของประเทศไทยในเวทีโลก แต่ยังส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจ และปากท้องของประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง