กรณีพบพลายงาทอง ต่อสู้พลายงาเดี่ยว จนทำให้งาซ้ายยาว 1 เมตรหายระหว่างการต่อสู้บนป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และก่อนหน้านี้เมื่อปี 2565 ก็มีพลายทองคำ-พลายงาทอง ต่อสู้กันจนงาหักมาแล้ว
วันนี้ (13 พ.ย.2566) นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน แถลงไขปริศนาช้างชนกันงาหักโดยเฉพาะกรณีเคสของศึกช้างป่าพลายทองคำ ปะทะพลายงาทอง ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เมื่อ 10 พ.ย.2565 และพบว่างาช้างของพลายทองคำด้านขวาหักเป็นสองท่อน
กรมอุทยานฯ นำตัวอย่างงาช้างพลายทองคำมาตรวจวิเคราะห์ ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน พร้อมทั้งนำตัวอย่างดินโป่งจากเขาใหญ่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จ.เลย และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ มาวิเคราะห์ร่วมด้วย เพื่อหาความเชื่อมโยงกับสุขภาพของช้างและสัตว์ป่า
เนื่องจากธาตุอาหาร ที่มีความจำเป็นต่อช้างและสัตว์ป่า เช่น แคลเซียม แมกนี เซียม โซเดียม โพแทสเซียม เหล็ก แมงกานีส สังกะสี แร่ธาตุอื่น ๆ ซึ่งช้างและสัตว์ป่าควรได้รับในปริมาณที่เหมาะสมหลากหลาย เพียงพอ
เนื่องจากมีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย ทั้งนี้ปัจจัยและช่วงสภาวะต่างๆ เช่น ชนิด เพศ ฤดูกาล วัยเจริญพันธุ์ ระบบสืบพันธุ์ และการเจ็บป่วย มีผลต่อความต้องการของแร่ธาตุแต่ละชนิดที่แตกต่างกัน
อ่านข่าว ตามหา "งา 1 ม." พลายงาทอง เพลี่ยงพล้ำศึกชนช้างเขาใหญ่
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หน.กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานฯ
งาช้างมีแคลเซียมต่ำ-ทำให้ไม่แข็งแรง
ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างงาช้างพลายทองคำ ด้วยเทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์ พบอัตราส่วนโดยมวลของธาตุแคลเซียมไม่เกิน 1.76 ส่วนต่อธาตุฟอสฟอรัส 1 ส่วน ซึ่งน้อยกว่าค่าอ้างอิงในตัวอย่างช้างเอเชีย ที่มีอัตราส่วนธาตุแคลเซียม 2.16 ส่วนต่อฟอสฟอรัส 1 ส่วน
จึงตรวจสอบเชิงลึกด้วยแสงซินโครตรอนเทคนิคการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์ (XRD) และเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ (XAS) ทำให้สามารถจำแนกสารประกอบของแคลเซียมในงาช้างเป็น 2 องค์ประกอบหลัก คือ สารประกอบไฮดรอกซีอะพาไทด์ที่มีแคลเซียมต่ำ และสารประกอบไดแคลเซียมฟอสเฟต
โดยปกติแล้วสารประกอบไฮดรอกซีอะพาไทด์เป็นสารประกอบสำคัญที่มีผลต่อความแข็งแรงของกระดูกและฟัน
ส่วนผลการวิเคราะห์แร่ธาตุในดินโป่งแต่ละแหล่ง ด้วยเทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์ (XRF) จากแสงซินโครตรอนและเครื่องมือในห้องปฏิบัติการ พบแร่ธาตุที่หลากหลาย ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับช้างและสัตว์ป่าทั้งแร่ธาตุหลัก และแร่ธาตุรอง ได้แก่ โพแทสเซียม แมกนีเซียม แคลเซียม โซเดียม เหล็ก แมงกานีส สังกะสี
มีข้อสังเกตที่สำคัญคือ พบว่าธาตุแคลเซียมมีปริมาณน้อย เมื่อเทียบกับข้อมูลจากรายงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง คาดว่าแร่ธาตุที่จำเป็นบางชนิดละลายได้ดีในน้ำ จึงถูกน้ำซะล้าง เจือจาง และช้างป่ายังไม่กินดินโป่ง เนื่องจากมีกลิ่นนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเหยียบย่ำโป่ง
อ่านข่าว ศึกชนช้างเขาใหญ่ "พลายทองคำ" งาหัก
งาของพลายทองคำที่หักเป็น 2 ท่อน (ภาพกรมอุทยานฯ)
อ่านข่าว "พลายทองคำ-พลายงาทอง" ประสานงาอีกรอบ ในอุทยานฯเขาใหญ่
ช้างป่าไร้งา-เสี่ยงหงุดหงิด
นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวว่า หากช้างป่าไม่มีงาแล้วจะเกิดอะไรขึ้น อย่างแรก ไม่หล่อ ไม่เท่ห์ ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกผู้พบเห็น จากนั้นเสียการทรงตัวจากการเหลืองาข้างเดียว เดินคอเอียง หงุดหงิด บางตัวพยายามงัดงาให้เหลือข้างเดียวเพื่อความสมดุล การกินพืชอาหารลำบาก ฉีก แกะเปลือกไม้ เถาวัลย์ หรือขุดกินโป่งลำบาก ส่งผลต่อสัตว์เล็กอื่นๆ เช่น เก้ง กวาง กระทิง ที่จะตามมากิน และยังเสี่ยงติดเชื้อ เมื่อเชื้อโรคเข้าไป อักเสบ ปวด ก็ฟาดงวงฟาดงา
การมีงาเดียวยังทำให้เสียเปรียบตัวอื่น เมื่อสู้ตัวมีงาไม่ได้ก็เลี่ยงการเผชิญหน้า ออกนอกพื้นที่ เกิดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า เช่น บุญช่วย บุญมี พวกนี้เคยมีงามาก่อนทั้งนั้น
ส่วนตัวไหนที่งายังเหลือ ก็ถวิลหาแร่ธาตุ ตามกลิ่นเกลือ รื้อครัวชาวบ้าน ถ้าอยู่ในอุทยานฯ ก็เข้าลุยลานกางเต็นท์จากกลิ่นเค็ม หนักหน่อยก็รื้อขยะกิน ติดเชื้อโรค ขยะอุดตันในลำไส้
ปัญหาตามมาอีกเยอะ เมื่อไม่มีงาก็ปรับยุทธวิธีการต่อสู้มาสู้ระยะประชิด เอาโหนกหัวชนหรือกระแทกหน้าอกหรือท้องทำให้เลือดตกในช่องอก และตายจากการหายใจไม่ออก
ช้างที่ต่อสู้กันจนตาย เกิดจากการกระแทกด้วยกำลังมหาศาลที่ช่องอกมากกว่าการใช้งาแทงกัน บางครั้งเลี่ยงถูกงาแทงก็เข้าสู้จากข้างหลังแล้วกัดหางขาด ก็ทำให้ตัวถูกกัดหางติดเชื้อและตายได้ ซึ่งมีโอกาสจะเกิดเหตุเช่นนี้
อีกสาเหตุที่ทำให้ช้างได้รับแร่ธาตุไม่เพียงพอคือช้างไม่กินโป่งเนื่องจากมีกลิ่นนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเหยียบย่ำโป่ง
งาของพลายทองคำที่หักเป็น 2 ท่อน (ภาพกรมอุทยานฯ)
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานฯ ให้ความสำคัญในการดูแลช้าง ไม่ต่างจากการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากช้าง ในส่วนของการทำโป่งหากโป่งที่ไหนส่งผลกระทบต่อช้างก็ต้องปรับปรุง
รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผอ.สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน สรุปผลการศึกษาครั้งนี้ว่า ผลจากการใช้แสงซินโครตรอน วิเคราะห์โครงสร้างองค์ประกอบงาช้าง พบว่างาช้างที่หักมีองค์ประกอบที่แสดงแนวโน้มของการรับธาตุแคลเซียมไม่เพียงพอ สอดคล้องกับผลการวัดแร่ธาตุจากดินโป่ง
ข้อมูลดังกล่าวอาจนำไปสู่การเผยแพร่แนวทางการทำโป่งใหม่และเสริมดินโป่งเดิมในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้มีความเหมาะสมอย่างแพร่หลาย และสามารถใช้ในการเฝ้าระวังและจัดการสุขภาพช้างป่า และสัตว์ป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ่านข่าว