เบาหวาน (Diabetes Mellitus) คืออะไร ?
ในสภาวะปกติของร่างกาย เมื่อรับประทานอาหารแล้ว ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้น ร่างกายจะหลั่ง "ฮอร์โมนอินซูลิน" ที่สร้างโดยตับอ่อน นำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์
โรคเบาหวาน คือ โรคที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าปกติอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง เกิดจากความผิดปกติของตับอ่อน ทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยกว่าปกติ หรือเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่
โรคเบาหวาน สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 9
โรคเบาหวานเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 9 ของผู้หญิงทั่วโลก โดยคิดเป็นอัตรา 2.1 ล้านคน/ปี พฤติกรรมการบริโภคทำให้ ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น เนื่องจากอาหารและโภชนาการที่ไม่ดี การไม่ทำกิจกรรมการออกกำลังกาย การสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนก่อให้เกิดอันตราย
ภาพประกอบข่าว : พฤติกรรมการบริโภคหรือใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานแบ่งเป็น 4 ชนิด
- โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน ส่วนใหญ่พบในเด็ก จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาอินชูลิน
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคเบาหวานที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลิน ส่วนใหญ่พบในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ มักมีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน ร่วมด้วยในระยะแรกสามารถรับประทานยาลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่ถ้าเป็นนานๆ บางรายจำเป็นต้องใช้ยาอินชูลิน
- โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ เช่น ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง โรคที่ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อบางชนิด หรือการรับประทานยาที่มีสารสเตียรอยด์
- โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นหนึ่งในภาวะครรภ์เสี่ยง ที่เกิดจากฮอร์โมนของรกหรือสารเคมีที่ไปยับยั้งการทำงานของอินซูลินที่ทำหน้าที่ควบคุมน้ำตาลในเลือด เกิดจากความเสี่ยงหลายปัจจัย เช่น
- ผู้ตั้งครรภ์ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป
- มีประวัติเคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อน
- เคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักเกิน 4,000 กรัม
- มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน
ภาพประกอบข่าว : ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
ผู้หญิงทุก 2 ใน 5 คนที่เป็นเบาหวานอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ หญิงที่เป็นเบาหวานประสบปัญหามีบุตรยากอาจเกิดผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์จากการตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 ทำให้อัตราการเสียชีวิตและทุพพลภาพของมารดาและทารกเพิ่มขึ้น เด็กที่เกิดมา 1 ใน 7 คน เกิดผลกระทบจากแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
นอกจากนี้แล้วคนที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจเกิดภัยคุกคามที่รุนแรงต่อสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูงแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ อาจเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 หลังคลอด ซึ่งหญิงที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานในอนาคตร้อยละ 8.4 (หรือในอีก 8 ปีข้างหน้า) เมื่อเทียบกับหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่เป็นเบาหวาน
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ อันตรายต่อแม่และทารก
- ความพิการแต่กำเนิด
- ทารกเสี่ยงเสียชีวิตในครรภ์
- ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น หัวใจโต ตัวเหลือง หายใจลำบาก ระดับน้ำตาล, แคลเซียม, แมกนีเซียมต่ำ
- ทารกมีขนาดตัวโตมากกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดปัญหาในการคลอดได้
- แม่เสี่ยงภาวะครรภ์เป็นพิษ (Toxemia of pregnancy)
ภาพประกอบข่าว : อาการครรภ์เป็นพิษ
- คลอดก่อนกำหนด เนื่องจากเกิดภาวะน้ำคร่ำมากผิดปกติ
- มีภาวะตกเลือดหลังคลอดมากขึ้น
- คุณแม่มีโอกาสเป็นเบาหวานซ้ำได้
เช็กสัญญาณอันตราย "เบาหวานขณะตั้งครรภ์"
- ปัสสาวะบ่อย
- หิว-กระหายน้ำบ่อย
- เหนื่อยง่าย
เมื่อไปฝากครรภ์ แพทย์จะตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะ โดยค่าปกติ คือ น้ำตาลในเลือดเมื่ออดอาหารน้อยกว่า 95 mg/dl, ค่าน้ำตาลในเลือดหลังกินกลูโคส 1 ชั่วโมง น้อยกว่า 180 mg/dl และมีค่าน้ำตาลในเลือดหลังกินกลูโคส 2 ชั่วโมง น้อยกว่า 155 mg/dl ถ้าค่าที่ตรวจได้แม้เพียงค่าใดค่าหนึ่งเท่ากับหรือสูงกว่าค่าปกติ ให้วินิจฉัยว่า "เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์" หากไม่ได้รับการรักษาและควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติ คุณแม่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามที่กล่าวมาได้
ภาพประกอบข่าว : หญิงตั้งครรภ์ดื่มน้ำผสมกลูโคสเพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือด
การควบคุมระดับน้ำตาล เพื่อลดความเสี่ยงการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความเข้มงวดในขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ทุกคนควรได้รับการควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด ให้ใกล้เคียงภาวะปกติมากที่สุด
เมื่อคุณแม่อายุครรภ์ได้ 24–28 สัปดาห์ แพทย์จะทำการตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพื่อประเมินภาวะสุขภาพของทั้งมารดาและทารก รวมทั้งตรวจเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาลเพื่อประเมินและปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสม
การปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ อย่างเคร่งครัด
- ควบคุมปริมาณอาหารให้ถูกสัดส่วนและถูกเวลา โดยลดอาหารจำพวก แป้งหรือน้ำตาล และเปลี่ยนมารับประทานข้าวจากข้าวขาวมาเป็นข้าวซ้อมมือ
ภาพประกอบข่าว : อาหารคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- เพิ่มอาหารจำพวกโปรตีน เนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ เลือกเป็นเนื้อล้วน ไม่ติดหนัง
- รับประทานผักหลากหลายชนิด เน้นผักกากใยสูง
- ดื่มนมสดชนิดจืดและพร่องมันเนย
- หลีกเลี่ยงของหวาน ผลไม้ที่มีรสหวานจัด
- งดอาหารที่มีเกลือสูง เช่น ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ
- งดอาหารที่มีไขมันสูง (ควรใช้น้ำมันพืชในการประกอบอาหารแทน เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกทานตะวัน)
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เช่น เดินหรือการวิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ เต้นรำ ให้ได้วันละ 30 นาที แต่ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์
ภาพประกอบข่าว : หญิงตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- รับการตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์นัดในระหว่างการฝากครรภ์ (แพทย์อาจนัดมาตรวจครรภ์บ่อยกว่าปกติ)
- ยาที่ใช้รักษาเบาหวานจะต้องใช้แบบชนิดฉีด ในบางรายจะต้องฉีดวันละหลายครั้ง
- ในกรณีที่มีความผิดปกติ เช่น อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวขึ้นมากจนเกินไป ท้องไม่โตขึ้น ลูกดิ้นน้อยลงหรือหยุดดิ้น มีอาการของครรภ์เป็นพิษ มีความผิดปกติอื่นๆ เช่น เบาหวานขึ้นตา ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
หลังจากคลอดแล้วจะหายหรือไม่ ?
หลังคลอดบุตร อาการเบาหวานจะหายไป หากตั้งครรภ์อีกโอกาสจะเป็นเบาหวาน มากกว่าร้อยละ 30 หลังคลอด 6 สัปดาห์ควรเจาะหาระดับน้ำตาล ถ้าปกติให้เจาะเลือดทุกปี เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีโอกาสเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิต ดังนี้
ภาพประกอบข่าว : หญิงตั้งครรภ์สามารถหายจากเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้
- ลดน้ำหนัก ช่วยลดความเสี่ยงเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
- รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ เพิ่มผัก ผลไม้ไม่หวาน ลดอาหารไขมันโดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว
- การออกกำลังกายเป็นประจำ
ที่มา : รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, รพ.พญาไท, รพ.สมิติเวช, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่