วันนี้ (24 พ.ย. 2566 ) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการโรคจากการประกอบอาชีพ และโรคจากสิ่งแวดล้อมว่า จากสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พบว่า อัตราการป่วยด้วยโรคจากสารกำจัดศัตรูพืช โรคซิลิโคสิสจากฝุ่นซิลิกา โรคจากแอสเบสตอส โรคจากตะกั่ว ที่เกิดจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มลดลง ส่วนโรคผิวหนังจากการทำงาน และโรคประสาทหูเสื่อม พบผู้ป่วยมากกว่าปีก่อนหน้าเล็กน้อย
ส่วนสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวจึงส่งผลให้แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งในปี 2567 กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาหมอกควันมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องโดยมอบหมายคณะอนุกรรมการด้านวิชาการ จัดทำระบบและแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากสิ่งแวดล้อม
นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนกลุ่มเปราะบาง คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว 4 กลุ่มโรค ประกอบด้วยกลุ่มโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหืด ,กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน , กลุ่มโรคตาอักเสบ และกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ มีโรคผื่นลมพิษ และโรคผื่นผิวหนังอักเสบ
ทั้งนี้หากผู้ป่วยกลุ่มโรคดังกล่าวมีอาการรุนแรงมากขึ้นในช่วงฝุ่น PM2.5 มีค่ามากกว่า 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว