ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แอร์บัสจับมือคาร์บอนฯ เดินหน้าผลิตอุปกรณ์ หวังลดเชื้อเพลิง-ก๊าซคาร์บอน

เศรษฐกิจ
30 พ.ย. 66
13:34
367
Logo Thai PBS
แอร์บัสจับมือคาร์บอนฯ เดินหน้าผลิตอุปกรณ์ หวังลดเชื้อเพลิง-ก๊าซคาร์บอน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แอร์บัส จับมือคาร์บอน แอโร่สเปซ (ประเทศไทย) ผลิตขอบหน้าของปีกแพนหางดิ่งให้กับเครื่องบินตระกูล A 320

วันนี้ (30 พ.ย.2566) เบิร์ท พอร์เทอแมน ผู้แทนแอร์บัส ประเทศไทย เปิดเผยว่า การลงทุนของแอร์บัส และ คาร์บอน แอโร่สเปซ (ประเทศไทย) ในการผลิตขอบหน้าของปีกแพนหางดิ่งให้กับเครื่องบินตระกูล A 320 โดยเฉพาะ A 320neo ที่เป็นเครื่องบินทางเดินเดี่ยวที่ขายดีที่สุดในโลก เพราะรวมเทคโนโลยีล่าสุด ลดการใช้เชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซคาร์บอน ร้อยละ 25

หลังจากนี้ ชิ้นส่วนที่ผลิตก็จะถูกส่งไปยังโรงงานผลิตของ แอร์บัส แอโร่สตรัคเจอร์ (Airbus Aerostructures) ในประเทศเยอรมนี ก่อนที่ชิ้นส่วนของแพนหางดิ่ง ที่ผลิตเสร็จสิ้นแล้วจะถูกส่งไปยังโรงงานผลิตและประกอบเครื่องบินตระกูล A 320 ทั่วโลก

นอกจากนี้มั่นใจว่า การร่วมลงทุนนี้ จะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีทักษะ และมองว่าการลงทุนครั้งนี้เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นการสร้างโอกาสในวงจรเศรษฐกิจ เพราะเกิดการหมุนเวียนวัตถุดิบ ที่ต้องจัดซื้อจากบริษัทในประเทศ (Supply chain) รวมถึงจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมการบินของไทยได้ในอนาคต

ปัจจุบัน แอร์บัสยังมีศูนย์บริการปฏิบัติการการบินของแอร์บัสในกรุงเทพฯ ศูนย์บริการแห่งนี้ได้จัดทำคู่มือการใช้งานการบินมาตรฐานฉบับอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับเครื่องบินแอร์บัสทุกประเภท รวมถึงบริการวิเคราะห์ข้อมูลที่ตอบโจทย์แต่ละสายการบิน รวมถึงมีสัญญาจัดหากับ Triumph Aviation Services Asia ใน จ.ชลบุรี

ซึ่งครอบคลุมการตรวจสอบ ทดสอบ ซ่อมแซม โอเวอร์ฮอลเครื่อง หรือการฟื้นฟูสภาพเครื่องยนต์เก่าให้มีประสิทธิภาพเหมือนเดิมมากที่สุด และดัดแปลงโครงสร้างเฟรมเครื่องบินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเครื่องบิน A320 และ A330 ที่ดำเนินการโดยสายการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงโครงสร้างต่าง ๆ เช่น หางเสือดิ่ง (Rudder) อีเลเวเตอร์ (elevator) อุปกรณ์ปลายปีก แฟลบ และ Slat แผ่นชิ้นส่วนที่ติดอยู่กับขอบของปีกด้านหน้าของเครื่องบิน

แมทธิว กอเดียน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท คาร์บอน แอโร่สเปซ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การผลิตของบริษัทเป็นวัสดุคอมโพสิท โดยนำของสองชนิดที่คุณสมบัติแตกต่างหรือคล้ายกันนำมาเป็นวัสดุใหม่ที่มีความแข็งแรงมากกว่าเดิม

โดยการผลิตไม่มีการผลิตชิ้นส่วนที่เป็นโลหะ เนื่องจากมีข้อจำกัดจากเครื่องมือที่ใช้ในการผลิต โดยชิ้นส่วนที่บริษัทผลิตเป็นชิ้นส่วนของเครื่องบินรุ่น A 320 330 และ 350 รวมถึงการผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ของโรลสรอยส์

สำหรับว่า VTP หรือ ส่วนประกอบด้านหน้าของพื้นผิวแนวดิ่งในส่วนหางของเครื่องบินที่หันเข้าสู่กระแสลม ได้รับการออกแบบมาเพื่อโต้ตอบกับการไหลของอากาศ เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของเครื่องบิน และต้านทานการเคลื่อนที่ของการหันเห เช่น ที่เกิดจากลมขวาง ความไม่สมดุลของแรงขับของเครื่องยนต์ หรือแรงทางอากาศพลศาสตร์อื่น ๆ มีหน้าที่ ช่วยควบคุมเส้นทางบินของเครื่องบิน โดยชิ้นส่วนเครื่องบินคาดว่าจะใช้เวลาในการผลิตชิ้นละประมาณ 2 สัปดาห์

ย้อนความสัมพันธ์ระหว่างแอร์บัสกับประเทศไทย การบินไทยทำการสั่งซื้อครั้งแรกในปี 2520 หลังจากนั้นเครื่องบินแอร์บัสเข้าประจำการต่อเนื่อง รวมถึงในสายการบินอื่น ๆ ด้วย และขณะนี้ยังให้บริการกับสายการบินบางกอก แอร์เวย์ ไทยแอร์เอเชีย ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ไทยไลอ้อนแอร์ และไทยเวียตเจ็ท รวมแล้วกว่า 130 ลำ ที่ให้บริการโดยสายการบินที่อยู่ในประเทศไทย

แอร์บัสมั่นใจว่า จะเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการบิน สร้างความร่วมมือทางอุตสาหกรรมในประเทศไทย และสนับสนุนการเติบโตของการบินในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง