กระบวนยุติธรรม "ไร้สัญญานตอบรับ" เสียงเพรียกผู้หญิงถูกกระทำ

สังคม
31 ม.ค. 67
10:45
298
Logo Thai PBS
 กระบวนยุติธรรม "ไร้สัญญานตอบรับ" เสียงเพรียกผู้หญิงถูกกระทำ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

“หนีออกจากนรก 5 ปีในบ้านตัวเอง เพื่อมาถูกทำร้ายซ้ำซากผ่านกระบวนการยุติธรรม” เรื่องเล่าจากผู้หญิงที่ถูกกระทำ สู่การออกแบบกระบวนการยุติธรรมใหม่ให้เน้นคุ้มครองเหยื่อมากขึ้น

ส่วนหนึ่งของผู้หญิงที่ต้องเขาไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำด้วยความผิดร้ายแรงคือ พวกเธอ เป็นคนลงมือ ฆ่า หรือ ทำร้าย สามี หรือ คนในครอบครัวของตัวเอง

และเกือบทั้งหมดของผู้หญิงที่ถูกจำคุกด้วยเหตุผลนี้  ล้วนเคยถูกทำร้ายมาก่อน อย่างต่อเนื่อง ยาวนาน

แต่ ... กระบวนการยุติธรรม กลับมองไม่เห็นชีวิตในนรกอันแสนทรมานของพวกเธอ

บางคน อับอายเกินกว่าจะไปขอความช่วยเหลือจากกระบวนการยุติธรรม

บางคนพยายามผลักดันตัวเองออกมาจากนรกในบ้าน กลับยังต้องมาพบประสบการณ์ที่ไม่ต่างจากการถูกทำร้าย ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เสียงเรียกร้องจากผู้ถูกกระทำซ้ำซาก

“เราไปแจ้งความว่าถูกสามีทำร้ายมาต่อเนื่อง 5 ปี แต่ตำรวจไม่รับแจ้ง บอกว่าเป็นเรื่องผัวเมีย แม้ว่าเรายืนยันจะแจ้งความ เขาก็ใช้ท่าทีพูดเสียงดังให้เราอับอาย ตะคอก ไปจนถึงการขู่ว่าจะยัดข้อหา”

“คู่กรณี (อดีตสามี) มีฐานะดี มีทนายความเก่ง แจ้งความเรากลับอีกประมาณ 20 คดี ส่วนเราไม่มีทนายความ ต้องใช้ทนายความอาสา ... พอขึ้นศาล เราถูกทนายของคู่กรณีซักถามซ้ำ ๆ ตั้งแต่ 9 โมงเช้า ถึง 6 โมงเย็น”

“ครั้งหนึ่ง บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมบอกเราว่า เรื่องของคุณ ทำไมไม่ตกลงกันเอง เอาเรื่องมาให้คนอื่นที่ไม่รู้เรื่องด้วยตัดสินทำไม ... เราฟังแล้ว ร้องไห้เลย”

นี่คือส่วนหนึ่งประสบการณ์จริง ที่ถูกบันทึกไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรของผู้หญิงวัย 40 กว่าปีคนหนึ่ง ซึ่งจะเรียกเธอว่า “กุหลาบ” (นามสมมติ) ก่อนหน้านี้เธอเป็นนักธุรกิจ จบการศึกษาจากสถาบันชื่อดัง แต่งงานและมีครอบครัวที่ดูเหมือนจะเป็นไปตามค่านิยมหลักของสังคมไทย คือ “ครอบครัวอบอุ่น”

แต่ในชีวิตจริง “กุหลาบ” ถูกสามีทำร้ายร่างกายติดต่อกันเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานถึง 5 ปี จนในที่สุดเธอตัดสินละทิ้งความอับอายทั้งหมดที่จะถูกตราหน้าว่า “มีครอบครัวที่ล้มเหลว” เพื่อขอความช่วยเหลือจาก “กฎหมาย” ที่เธอเชื่อว่าจะให้ความยุติธรรมกับเธอได้

กุหลาบ เล่าว่า ชีวิตเหมือนอยู่ในนรก ถูกสามีทำร้ายครั้งละ 10-20 นาที มาตลอด 5 ปี บางวันเขาจะจิกหัวเราโขกกับผนังซ้ำไปซ้ำมา แม้แต่เวลานั่งในรถ ก็กำหมัดทุบมาที่หัวเรา มีครั้งหนึ่งที่เขาเอาเก้าอี้พลาสติกที่อยู่ใกล้ตัวฟาดเราจนเก้าอี้หัก และลากตัวจากชานพักบันไดลงมาซ้อม และจะหยุดก็ต่อเมื่อได้ลงไม้ลงมือจนหนำใจแล้ว

“พอเราเลือกจะเปิดเผยว่า ถูกทำร้าย ก็ถูกมองว่าเป็นฝ่ายผิดด้วยซ้ำ และจะมาในรูปแบบของคำนินทาจากคนใกล้ตัว เช่น ไปด่าผู้ชายก่อนละสิ ถึงโดนเค้าซ้อม โกหกหรือเปล่า การหย่าเป็นเรื่องน่าอายของพ่อแม่และวงศ์ตระกูล  แล้วฉันจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน”

กุหลาบ บอกว่า เหตุที่ต้องบันทึกเรื่องราวทั้งหมดไว้ เพราะตัดสินใจใช้วิธีทางกฎหมายเป็นที่พึ่งสุดท้าย แต่กลายเป็นต้องถูกทำร้ายซ้ำ จากคนและระบบขั้นตอนต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่า เหตุใดจึงมีผู้หญิงอีกมาก เลือกที่จะเก็บเงียบ และทำไมบางคนจึงทนไม่ไหว จนต้องตอบโต้ และกลายเป็นผู้กระทำผิดเสียเองในภายหลัง

ในบันทึกของกุหลาบ มีข้อความที่บรรยายให้เห็นถึงความไม่เข้าใจปัญหาของเจ้าหน้าที่เมื่อผู้ถูกกระทำรุนแรงจากครอบครัวตัวเองต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การที่ต้องไปนั่งรอพนักงานสอบสวนเป็นเวลานาน การถูกซักถามด้วยเสียงดังทำให้เกิดความอับอาย

การเล่าเหตุการณ์ซ้ำไปซ้ำมากับตำรวจโดยไม่มีพื้นที่ส่วนตัวที่ทำให้รู้สึกปลอดภัยมากพอ หรือไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาเข้ามาช่วยเหลือ รวมไปถึงความพยายามไกล่เกลี่ยเพื่อทำให้ความรุนแรงที่เธอได้รับมา กลับไปมีสถานะเป็นเพียง เรื่องส่วนตัว หรือ เรื่องระหว่างสองคนในครอบครัว ซึ่งมีความหมายว่า ให้กลับไปจัดการปัญหากันเอง

บันทึกฉบับนี้ ยังบอกเล่าถึงความรู้สึกของเธอ ในฐานะที่ต้องต่อสู้กับคู่กรณีซึ่งเชื่อว่า มีอำนาจเหนือกว่า ในทุกรูปแบบ ตั้งแต่ช่วงที่ถูกทำร้ายในบ้านของตนเอง ช่วงของการแจ้งความที่เธอรู้สึกว่าคู่กรณีมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหน้าที่มากกว่า

หรือแม้แต่ช่วงการสืบพยานที่ต้องต่อสู้คดีโดยใช้ทนายความอาสาไปสู้กับทนายความราคาแพงจนทำเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในระหว่างขั้นตอนการซักถาม เกิดความแตกต่างในการเลือกใช้เทคนิคทางกฎหมาย รวมทั้งความสามารถในการรวบรวมเอกสารต่าง ๆ ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอ จนทำให้ถูกฟ้องร้องกลับหลายคดี

ทนายฝ่ายตรงข้ามใช้คำถามเชิงเทคนิค ให้เราตอบว่า ทำไมถึงไม่มีใบแจ้งความมาแสดงต่อศาล เพื่อยืนยันเหตุการณ์ในวันที่เราอ้างว่า ถูกสามีข่มขู่จะทำร้ายร่างกาย เพื่อให้ลงนามทำธุรกรรมบางอย่างซึ่งทำให้ในคำพิพากษาเขียนคำว่า เราไม่ได้ถูกข่มขู่ว่าจะทำร้ายจริงเพราะเราไม่มีใบแจ้งความ และถูกตัดสินให้มีความผิดต่อการทำธุรกรรมที่ถูกข่มขู่ให้ทำ

นี่เป็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นจากความสามารถในการใช้เทคนิคทางกฎหมายของทนายความ เพราะเขาได้คำพิพากษาเช่นนั้นไป ทั้งที่เรามีทั้งใบแจ้งความ และใบรับรองแพทย์ว่าเราถูกทำร้ายร่างกายจริง แต่เป็นคนละวันกันเท่านั้นเอง กุหลาบ ยกตัวอย่าง

เส้นทางใหม่ยุติความรุนแรงในครอบครัว

เป็นตัวอย่างที่ถูกบันทึกไว้โดยผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแต่กลับต้องได้ผลตอบรับที่น่าผิดหวัง ปัจจุบัน เธอยังคงต้องพบแพทย์เพื่อเข้ารับการบำบัดสภาพจิตใจอย่างสม่ำเสมอ แม้เหตุการณ์นั้นจะผ่านมาหลายปีแล้ว

และหากจะรวมไปถึงตัวอย่างการตัดสินใจของผู้หญิงอีกหลายคนที่ต้องปกป้องตัวเองจากการถูกทำร้ายซ้ำๆจนกลายเป็นผู้ก่อเหตุเสียเอง เช่น ผู้หญิง เด็ก หรือคนในครอบครัวถูกทำร้ายจนเสียชีวิต ปรากฎเป็นข่าวใหญ่รายวัน

หรือตัวอย่าง ผู้หญิงถูกคู่รักทำร้ายจนเสียชีวิต ก่อนจะมีผู้หญิงอีกหลายคนทยอยออกมาเปิดเผยด้วยตัวเองว่า เคยถูกผู้ชายคนเดียวกันนี้ทำร้ายมาก่อน

ทั้งหมดพอจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ “ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว” (Domestic Violence) ถูกหยิบยกขึ้นมาอยู่ในลำดับเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นที่กระบวนการยุติธรรมไทย ต้องมองหาหนทางใหม่ ๆ ในการจัดการปัญหานี้

แนวคิด การสร้างระบบยุติธรรมที่ปกป้องคุ้มครองผู้ถูกกระทำ (Victim Support System) เป็นหนึ่งในข้อเสนอใหม่ๆ ที่กำลังได้รับความสนใจจากกลุ่มคนหลากหลายสาขาอาชีพที่ให้ความสนใจกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ยังเป็นประเด็นที่ยังอ่อนไหวและเป็นดาบสองคม

และเมื่อนำมาใช้กับกระบวนการยุติธรรมปกติของไทย เช่น การยึดหลักสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ ทำให้ผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้กระทำรุนแรงได้รับสิทธิในการปกป้องคุ้มครอง

ส่วนผู้ถูกกระทำรุนแรงต้องมีหน้าที่ในการไปแสวงหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ให้ได้เอง ทั้งที่เป็นเรื่องที่พิสูจน์ยาก เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในบ้าน และเป็นเรื่องที่มีผบลกระทบทางจิตใจต่อผู้ถูกกระทำอย่างมาก

ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะระดมความเห็นจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น นักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ คนทำงานเรื่องผู้หญิง เด็ก และกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมไปถึงนวัตกรที่สนใจจะสร้างเครื่องมือใหม่ ๆ ขึ้นมาแก้ปัญหานี้

เป้าหมายไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงหลักสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ และไม่ใช่เพื่อจำกัดสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของผู้ถูกกล่าวหา แต่เป็นการค้นหาเครื่องมือใหม่ ๆ ที่จะทำให้สังคมเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมไทยยังสามารถมีกลไกที่ดีในการปกป้องคุ้มครองและฟื้นฟูเยียวยาผู้เสียหายด้วย และหากทำสำเร็จ ก็จะทำให้ผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว สามารถพึ่งพากระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้น

บราซิลนำร่อง "สถานีตำรวจเฉพาะทางสำหรับผู้หญิง"

สำหรับแนวคิดระบบยุติธรรมที่ปกป้องคุ้มครองผู้ถูกกระทำ มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วจากหลายประเทศ โดยเฉพาะตัวอย่างล่าสุด เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2023 ประธานาธิบดี Luiz Inácio Lula da Silva ของประเทศบราซิล ได้ลงนามออกกฎหมายฉบับใหม่ให้ดำเนินการจัดตั้ง

“สถานีตำรวจเฉพาะทางสำหรับผู้หญิง” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้หญิงที่ตกเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศโดยเฉพาะ เพื่อให้กระบวนการของรัฐมีความสามารถนอกจากการดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว ยังจะต้องมีกลไกปกป้อง ดูแล และเยียวยาผู้ถกกระทำรุนแรงไปด้วยทันที นับตั้งแต่เริ่มเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม

ในสถานีตำรวจเฉพาะทาง ได้ถูกออกแบบให้เหมาะสมกับบริบทของปัญหาที่มีอ่อนไหว คือ จะต้องมีเจ้าหน้าที่หลักเป็นตำรวจหญิงที่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อให้สามารถดูแลผู้ถูกกระทำได้อย่างมีประสิทธิผลและมีมนุษยธรรม มีผู้เชี่ยวชาญปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมาให้คำปรึกษา และต้องเปิดให้บริการทุกวัน

พร้อมปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลาไม่มีวันหยุด และการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงจะต้องเกิดขึ้นในห้องที่มีความเป็นส่วนตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงเท่านั้น ...โดยต้องจัดให้มีระบบที่ประชาชนสามารถส่งข้อมูลแจ้งเตือนมายังเจ้าหน้าที่ของสถานีตำรวจเฉพาะทางได้ทันทีที่พบการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง

ที่มา https://www.loc.gov/item/global-legal-monitor/2023-04-28/brazil-new-law-creates-specialized-police-stations-for-women/

ส่วนข้อเสนออื่น ๆ ก็มีตัวอย่างมาจากต่างประเทศ เช่น การจัดให้มีบ้านพักสำหรับผู้หญิงที่ถูกทำร้ายจากครอบครัวของตัวเอง การจัดเงินทุนสำรองให้ผู้ถูกกระทำไม่ต้องตกอยู่ในภาวะพึ่งพิงสามีหรือทำให้อยู่ได้ในกรณีที่ไม่ต้องการกลับไปอยู่ที่บ้านซึ่งเป็นที่เกิดเหตุ

การจัดให้มีกลุ่มทนายความที่มีความเชี่ยวชาญในคดีลักษณะนี้มาให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำมีความสามารถที่จะสู้คดีได้ดีกว่าการใช้ทนายความอาสาทั่วไป รวมไปถึงการสร้างช่องทางแจ้งเหตุเมื่อมีผู้หญิงถูกทำร้ายโดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตนของผู้แจ้ง แต่ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที

“เมื่อก่อน เราเคยเชื่อว่าเราไม่ใช่ฝ่ายผิด เราไม่มีอะไรต้องกลัว แต่พอเราก้าวขาเข้าไปในระบบนี้ เราพบความจริงว่า เราจะต้องมีเงินเยอะๆเพื่อจ้างทนายเก่งๆมาสู้คดี ต้องมีเงินเยอะๆเท่านั้น นั่นคือคำตอบที่เราได้รับ” ... ย่อหน้าหนึ่งในข้อความของ “กุหลาบ” ที่บันทึกไว้

รายงานโดย : สถาพร พงศ์พิพัฒน์วัฒนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง