ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แนะตรวจสอบปางช้างเดวิด เข้าข่าย “ทารุณสัตว์-หลอกลวง” หรือไม่

สังคม
6 มี.ค. 67
13:43
1,546
Logo Thai PBS
แนะตรวจสอบปางช้างเดวิด เข้าข่าย “ทารุณสัตว์-หลอกลวง” หรือไม่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรณีเดวิด ชาวสวิตเซอร์แลนด์ ที่ทำร้ายหมอ ที่ จ.ภูเก็ต จนมีการตรวจสอบธุรกิจปางช้างที่เขาเป็นเจ้าของ

นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย ระบุว่า เจ้าของปางช้างต่างชาติรายนี้ อ้างตัวเป็นองค์กรดูแลช้าง แต่เป็นเพียงการผลทางธุรกิจ และให้ข้อมูลบิดเบือนโจมตีคนเลี้ยงช้างชาวไทย จึงเรียกร้องภาครัฐขยายผลการตรวจสอบปางช้างอื่น ๆ ที่มีพฤติกรรมคล้ายกัน ซึ่งคาดว่ามีจำนวนกว่า 70 แห่งทั่วประเทศ

นายธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย เปิดเผยว่า สมาคมสหพันธ์ช้างไทยทำงานให้ความช่วยเหลือช้างทั่วประเทศ และติดตามจับตาการทำงานของกลุ่มคนเลี้ยงช้างต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มของผู้อ้างตัวเป็นนักอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของมูลนิธิ NGOs หรือ ในรูปแบบขององค์กรที่อ้างตัวว่า มาปกป้องมาดูแลรักษาช้างในประเทศไทย

ในกรณีที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งกำลังเป็นประเด็นในปัจจุบัน เราทราบมานานแล้วว่า ปางช้างแห่งนี้ เป็นสถานที่ ที่มีรูปแบบการประกอบกิจการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวช้าง ในลักษณะของการอ้างรับบริจาค ซึ่งสร้างความไม่สบายใจมาตลอด เพราะจุดขายทางการตลาดที่เขาใช้กับชาวตะวันตก หรือคนไทย เป็นการนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง ถึงวิธีการเลี้ยงของช้างไทย สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย หรือ สร้างความเข้าใจผิดต่อคนเลี้ยงช้างในประเทศไทยอย่างมาก

โดยมูลนิธิ หรือองค์กรต่างชาติที่มาแฝงตัวหากินกับการช่วยเหลือช้างในประเทศไทย มักจะบอกว่า ตัวเองเป็นผู้ที่จะมาช่วยเหลือช้างให้มีอิสระ หรือช่วยเหลือช้างให้หลุดพ้นจากการถูกทำงานหนัก หรือการทำทารุณกรรม

ความจริงแล้ว วิธีการที่เขาเลี้ยงช้าง เป็นวิธีการที่ตัดรูปแหรือทักษะการเลี้ยงช้างของไทย ที่มีการเลี้ยงช้างแบบมัดย้าย พาช้างไปกินน้ำ พาช้างไปเดินออกกำลังกาย และหันมาใช้วิธีการที่ตัวเองถนัด ก็คือการสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ถาวร ไม่ว่าจะเป็นคอกเหล็ก คอกปูน และปล่อยช้างไว้ในนั้น

นายธีรภัทร ระบุว่า ช้างมีอิสระ ภาพถ่ายที่สื่อออกไปก็อาจจะเป็นภาพของช้างเดิน แต่จริง ๆ แล้ว หากมองในภาพที่กว้างขึ้น หรือรู้เท่าทันก็จะพบว่า ช้างไม่ได้มีอิสระ เพราะว่า ถูกกักขังอยู่ในพื้นที่ไม่ว่าคอกเหล่านั้นจะใหญ่เท่าสนามเทนนิส หรือสนามฟุตบอล ยังไงมันก็คือคอกอยู่ดี

ช้างเหล่านั้นจะต้องอยู่ในนั้นไม่ใช่เวลาแค่ 1-2 วัน หรือ 1-2 ปี แต่อยู่ตลอดชั่วชีวิตของช้าง ซึ่งเท่ากับการลิดรอนสิทธิ์ของสัตว์ ที่ควรจะได้อยู่ในพื้นที่ที่กว้าง ได้กินอาหารที่หลากหลาย และสัตว์ที่อยู่ในคอก แน่นอนว่า จะไม่สามารถทำได้ตามสัญชาตญาณ ช้างที่ถูกกักขัง ก็จะดุขึ้นและอันตรายมากขึ้น

สำหรับปางช้างของเดวิดที่ จ.ภูเก็ต ทำธุรกิจมาประมาณ 6-7 ปี คนในวงการช้างรู้ดีว่าเขาเป็นผู้เล่นรายใหม่ แต่บางแห่งในประเทศไทย ทำกิจการมาเกิน 20 ปี โดยกรณีปางช้างของเดวิด มีช้างของตัวเองแค่เชือกเดียว แต่เป็นช้างเช่า 14 เชือก ยังร่ำรวยขนาดนี้

สำหรับคนที่ทำมานาน และเป็นต้นแบบของธุรกิจที่อ้างการอนุรักษ์ช้างในลักษณะนี้ ก็เชื่อว่า ที่ผ่านมา คงจะทำเงินมหาศาล คำถามก็คือว่า เงินที่ได้เป็นเงินที่ได้กลับคืนสู่ประเทศไทย หรือ กลับคืนสู่ประเทศต้นกำเนิดของชาวต่างชาติ ที่มาหากินในลักษณะนี้

ในขณะที่ชาวต่างชาติเหล่านี้ มาลงทุนใช้ประเทศไทย ใช้ช้างไทย แล้วทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อควาญช้าง และคนเลี้ยงช้างของประเทศไทย แต่ตัวเองทำเงินมหาศาล สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย มันตีเป็นมูลค่าไม่ได้

นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย เห็นว่า นอกจากสังคมที่ควรจะรับรู้แล้วทางภาครัฐควรจะตระหนัก และให้ความสำคัญในการติดตาม ไม่ใช่แค่ไปตรวจสอบแค่ 1-2 วัน แล้วก็เห็นว่า เขาก็เลี้ยงดูช้างดี แต่ควรต้องไปดูรายละเอียดด้วยว่าในวันๆ หนึ่ง เขาพูดอะไรกับนักท่องเที่ยวบ้าง

เรื่องราวบางอย่างที่เขาพูดออกไป อยู่ในพื้นฐานของข้อเท็จจริงหรือไม่ หรือเป็นเรื่องราวดราม่าที่สร้างขึ้นมา เพื่อให้เกิดความสงสารช้าง แล้วก็นำมาซึ่งรายได้ ซึ่งหลายๆ เรื่องราว อาจเรียกได้ว่า เป็นการหลอกลวงผู้บริโภคด้วยซ้ำ

ทั้งนี้กลุ่มธุรกิจอ้างอนุรักษ์โดยใช้ความน่าสงสารของช้างมาเป็นตัวดึงรายได้จากชาวต่างชาติ น่าจะมีจำนวนช้างเป็นพันเชือก โดยมีผู้ประกอบการ หรือ ผู้ลงทุนไม่ว่าจะเป็นชาวยุโรป หรือ ชาวไทยเอง ก็น่าจะมีประมาณ 70 ราย

เดวิดก็เป็นเพียงแค่หนึ่งในหลายรายที่ถูกเปิดเผย แต่ยังมีอีกหลายที่ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ก็ยังมีองค์กรเหล่านี้แฝงตัวอยู่ โดยใช้ชื่อที่มีคำว่า ศูนย์บริบาลช้าง เพื่อที่จะให้เกิดภาพลักษณ์ว่าเป็นสถานที่ในการปลดปล่อยช้างให้สู่อิสระ ซึ่งมันไม่ใช่ข้อเท็จจริง

นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทยระบุอีกว่า แม้ประเทศไทยจะมีหน่วยงานดูแลช้าง แต่เป็นการทำงานแบบแยกส่วน อาทิ การจดทะเบียนช้าง เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ดูเรื่องสุขภาพช้าง เป็นหน้าที่ของกรมปศุสัตว์

จึงเสนอให้ภาครัฐมีหน่วยงานเฉพาะกิจที่ทำงานแบบเบ็ดเสร็จ หรือ สำนักงานช้างแห่งชาติ เพื่อดูแลทั้งในเรื่องของ สวัสดิภาพของช้าง รวมถึงติดตามผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับช้าง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการเลี้ยงช้าง ไม่ให้มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงเหมือนเช่นที่ผ่านมา

อ่านข่าว : How To ฮุบ “ชายหาด” เป็นของตัวเอง มายากลที่ “ยามู” ภูเก็ต

ลุ้นวีซา ฝรั่งทำร้ายหมอ หมด 13 มี.ค. ผู้ว่าฯภูเก็ตสั่งสอบมาเฟียต่างชาติ

หนังสือด่วนที่สุด! รองผู้ว่าฯภูเก็ต ส่งถึง ตม.เพิกถอนวีซา "ฝรั่งทำร้ายหมอ"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง