ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“Portfolio” ต้นทุนที่ต้องจ่ายเข้ามหาวิทยาลัย

สังคม
9 มี.ค. 67
23:56
615
Logo Thai PBS
“Portfolio” ต้นทุนที่ต้องจ่ายเข้ามหาวิทยาลัย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้ประกอบการรุ่นใหม่หอการค้าขอนแก่นร่วมกับ ม.ขอนแก่น ป.ป.ช. และหลายภาคส่วนเตรียมทำโครงการคอร์สอบรมทักษะความรู้ฟรี พร้อมมอบเกียรติบัตรใช้ทำ Portfolio หรือแฟ้มสะสมผลงาน ยื่นสมัครเรียนต่อมหา’ลัย หลังพบว่านักเรียนต้องจ่ายเงินหลายพันบาทเข้าอบรมคอร์สต่างๆ

กรณีสื่อสังคมออนไลน์ แห่ชื่นชมนักเรียนที่ยื่นแฟ้มสะสมผลงาน หรือ พอร์ตฟอลิโอ (Portfolio) ติด 15 คณะ ของหลายมหาวิทยาลัยชื่อดัง กลายเป็นกระแสในช่วงปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา

ทำให้การสมัครเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาในรอบยื่นพอร์ตปีนี้ ได้รับความสนใจ มีการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่แค่ในแง่มุมการชื่นชมเด็กที่มีความสามารถ แต่ยังมีมุมมองต่อวิธีการคัดเลือกเด็กเข้าศึกษาต่อ และการยื่นพอร์ตหลายมหาวิทยาลัย อาจเป็นการกีดกันนักเรียนคนอื่นหรือไม่

https://www.facebook.com/share/p/JQCCGboMw96GPscw/?mibextid=qi2Omg

มีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ตั้งคำถามถึงค่าใช้จ่ายในการทำพอร์ต ที่มาจากการจ่ายเงินเพื่อเข้าอบรมคอร์สต่างๆ หรือ ค่ายเตรียม Port ที่มีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่นบาท

การทำพอร์ตของนักเรียนหนึ่งคน จึงไม่ใช่แค่การรวบรวมเกียรติบัตร เพื่อยืนยันความสามารถ หรือยืนยันว่า เป็นผู้มีคุณลักษณะที่เหมาะสมกับการได้รับคัดเลือกเข้าเรียนต่อ แต่ยังหมายถึงต้นทุนที่ผู้ปกครองต้องจ่าย เพื่อให้บุตรหลานเข้าอบรมในแต่ละคอร์ส หรือเข้าค่ายอบรม เพื่อแลกกับเกียรติบัตรมาใส่แฟ้มผลงาน

ค่ายเตรียม Port ฟรีสร้างโอกาสเยาวชน

เมื่อ “ค่ายเตรียม Port” มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้นักเรียนส่วนหนึ่งเข้าไม่ถึงการอบรม เพื่อสะสมเกียรติบัตร ทำพอร์ตสมัครเรียนต่อ ทำให้หน่วยงานจากหลายภาคส่วนใน จ.ขอนแก่น เล็งเห็นถึงการสร้างโอกาสทางการศึกษา และจัดประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2567 เพื่อเตรียมทำโครงการจัดอบรมให้ความรู้เด็กและเยาวชนในพื้นที่

นายธีรัตน์ บางเพ็ชร ผอ.สำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต รักษาราชการแทน ผอ.ป.ป.ช.ขอนแก่น เป็นประธานการประชุม ระบุว่า โครงการนี้นำแนวทางการการอบรมหลักสูตรระยะสั้น เพื่อทำพอร์ตของนักเรียน

ซึ่งศูนย์อำนวยการประสานงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดภาคเยาวชน จ.ขอนแก่น (ศอ.ปส.ย.ภาค 4) เคยดำเนินการมาก่อน มีเป้าหมายสำคัญ คือ ให้ความรู้กับเยาวชน และแนะแนวทางการเลือกศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเพิ่มโอกาสเด็กยากจนเข้าถึงหลักสูตรระยะสั้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ซึ่งหาก จ.ขอนแก่น นำโครงการนี้มาต่อยอด และขยายโครงการให้นักเรียนระดับ ม.ปลาย ในพื้นที่จำนวน 84 โรงเรียน นักเรียนกว่า 30,000 คน ได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรม ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเยาวชน และลดค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง

โครงการนี้ นอกจากจะมีการอบรมหลักสูตรต้านทุจริต ของ ป.ป.ช. ที่เน้นคุณธรรม จริยธรรม การแยกแยะผลประโยชน์ส่วนรวมและส่วนตนแล้ว ยังมีหลักสูตรการอบรมที่ได้รับความร่วมมือ จากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หอการค้า จ.ขอนแก่น และจากคณะมนุษยศาตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รวมทั้งหลักสูตรการอบรมการทำคอนเทนต์โดยสื่อมวลชนมืออาชีพ ที่เน้นคุณธรรมจริยธรรมในการทำสื่อเพื่อประโยชน์สาธารณะ ท่ามกลางยุคที่ทุกคนทำสื่อเองได้ หรือมีสื่อโซเชียลของตัวเองเพื่อสื่อสารและสร้างรายได้

ขณะที่มุมมองจากนักศึกษาที่เคยทำพอร์ต เพื่อยื่นสมัครเรียนต่อ อย่างนายอนุภัทร โถนารัตน์ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยขอนแก่น มองว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี สร้างโอกาสให้นักเรียนเข้าถึงคอร์สอบรมระยะสั้นโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

การขายคอร์สอบรม เปิดค่ายเตรียมทำพอร์ต เป็นธุรกิจการศึกษาที่มีเงินหมุนเวียนหลายล้านบาท หากหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนที่มีความน่าเชื่อถือ มาทำโครงการจัดคอร์สอบรม ก็จะเพิ่มโอกาสให้เด็กเข้าถึงเกียรติบัตรได้

นายอนุภัทร ยังเสนอว่า การอบรมเพื่อรับเกียรติบัตรจะถูกแบ่งเป็น 2 แบบคือ Hard Skills ที่เป็นความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานตามสายอาชีพ หรือทักษะที่ตรงกับสาขาที่เลือกเรียน เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร

แต่หากเป็น Soft Skills จะเป็นทักษะและคุณลักษณะ ที่ไม่ว่าจะเรียนสาขาใด หรือประกอบอาชีพใดก็นำไปใช้ได้ อย่างหลักสูตรต้านทุจริตของ ป.ป.ช. และสื่อมวลชน การทำสื่อเพื่อประโยชน์สาธารณะ ที่บูรณาการร่วมกันได้ หรือบูรณาการกับหลักสูตรอื่นๆ ก็จะทำให้การอบรมระยะสั้น 1 วัน มีคุณภาพ และนักเรียนที่มาอบรมนำไปใช้ได้จริง

ด้านตัวแทนครู และครูแนะแนวจากโรงเรียนในจังหวัดขอนแก่น อาทิ โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน และเจ้าหน้าที่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 25 ก็ร่วมแลกเปลี่ยนเสนอแนะแนวทางการดำเนินโครงการว่า

หลักสูตรการอบรมต้องมีคุณภาพ เป็นการอบรมทักษะที่ตรงกับสาขาที่เด็กอยากสมัครเรียนต่อ จึงสามารถนำเกียรติบัตรที่มีความน่าเชื่อถือไปใช้ทำพอร์ตได้ เพื่อให้ได้พอร์ตที่ทำให้กรรมการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อของแต่ละมหาวิทยาลัยให้การยอมรับ โครงการนี้จึงจะได้รับความสนใจจากนักเรียน

การประชุมครั้งนี้ เป็นการรับฟังความเห็นจากหลายภาคส่วน ซึ่งหลังจากนี้ทั้ง เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ขอนแก่น และอาจารย์ประจำสาขารัฐประศาสนศาตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะหารือการออกแบบหลักสูตรการอบรมระยะสั้น ที่มีความน่าสนใจ และมีคุณภาพ เพื่อเดินหน้าโครงการ ให้เป็นโมเดลการทำโครงการด้านการศึกษาของ จ.ขอนแก่น ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด เมืองแห่งการเรียนรู้

หลังยูเนสโก ประกาศรับรองให้ 3 จังหวัดของไทย เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ คือ กรุงเทพมหานคร เทศบาลนครขอนแก่น และ เทศบาลนครยะลา

โดย จ.ขอนแก่น จะแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ สำหรับประชาชนทุกคนและทุกระดับ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง