ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ค้นพบ "เปราะนพรัตน์" พืชเฉพาะถิ่นพันธุ์ใหม่ของโลก

สิ่งแวดล้อม
13 มี.ค. 67
16:00
1,113
Logo Thai PBS
ค้นพบ "เปราะนพรัตน์" พืชเฉพาะถิ่นพันธุ์ใหม่ของโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัย NSM ค้นพบ “เปราะนพรัตน์” พืชเฉพาะถิ่นของไทยพันธุ์ใหม่ของโลก มีอยู่ที่ อ.ดอยสะเก็ดและ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารระดับนานาชาติประเทศฟินเเลนด์ เผยสถานะใกล้สูญพันธุ์ เตรียมต่อยอดด้านอนุรักษ์พันธุกรรม

วันนี้ (13 มี.ค.2567) ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM เปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยของ NSM ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์

ค้นพบ “เปราะนพรัตน์” (K. noctiflora var. thepthepae Noppornch. & Somnoo) พืชเฉพาะถิ่นของไทยพันธุ์ใหม่ของโลก อยู่ในวงศ์ขิงข่า สกุลเปราะหอม สกุลย่อยดอกดิน (โพรแทนเธียม) มีสถานะทางอนุกรมวิธานอยู่ภายใต้ชนิด “เปราะใบม่วง” (Kaempferia noctiflora Noppornch. & Jenjitt.) พบเฉพาะที่ อ.ดอยสะเก็ด และ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เท่านั้น ผลงานการค้นพบได้ถูกตีพิมพ์ลงวารสารระดับนานาชาติ Annales Botanici Fennici (Q2) ประเทศฟินเเลนด์ ฉบับที่ 61 เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2567

ผอ.NSM กล่าวต่อว่า “เปราะนพรัตน์” ถูกค้นพบในปี 2558 จากนั้นนำเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ทราบจนสามารถยืนยันได้ว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก มีลักษณะเด่นคือมีดอกสีขาวแต้มสีม่วง ขนาดประมาณ 6 คูณ 6 เซ็นติเมตร บานตอนเช้า มีกลิ่นหอมเย็น ออกดอกเฉพาะเดือน พ.ค.ของทุกปี โดยภายใน 1 เดือนจะออกดอกทุกวัน ต้นหนึ่งจะออกดอก 1 – 2 ดอก ขณะที่ใบมีลวดลายสวยงาม ใบอ่อนสามารถนำไปรับประทานได้ ประชากรของเปราะนพรัตน์ จะขึ้นตามป่าชุมชนและป่าชายเขาทั่วไป

ปัจจุบันสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากการคุกคามของมนุษย์ที่มีการนำพื้นที่ที่มีเปราะนพรัตน์ไปทำการเกษตรหรือนำขยะไปทิ้ง นอกจากนั้นบางส่วนนำเปราะนพรัตน์ไปทำอาหาร เนื่องจากใบอ่อนสามารถรับประทานได้โดยส่วนใหญ่นำไปทำยำหรือผัดใส่หมูสับ รวมทั้งมีการลักลอบขุดนำไปขาย

ผศ.ดร.รวิน กล่าวต่อว่า การค้นพบครั้งนี้ ถือเป็นการขยายขอบเขตองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางพันธุกรรมของดอกดินสกุลเปราะในประเทศไทยและจะนำไปสู่การวางแผนการจัดการทรัพยากรและการอนุรักษ์พันธุกรรมในอนาคต เนื่องจากสถานะใกล้สูญพันธุ์ นอกจากนี้ ยังมีแผนจะนำไปจัดแสดงให้เยาวชนและประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้ผ่านนิทรรศการประมาณช่วงเดือน มิ.ย. - ส.ค. ณ สวนรุกขชาติ อพวช. ส่วนจัดแสดงภายในอาคารพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ต.คลองห้า จ.ปทุมธานีต่อไป

อ่านข่าวอื่นๆ : 

ปลอกคอจีพีเอส "ช้างป่า" ติดนาน 6 ปี "ไม่มีอะไร เร็วเท่าใจคน"

1 ปี "วัคซีนทำหมันช้าง" ไปไม่ถึงฝัน ติดขั้นตอนอนุญาตนำเข้า

"พะยูน" ตรัง ลดฮวบเหลือ 36 ตัว ส่อสูญพันธุ์ หลังหญ้าทะเลเสื่อมโทรม

FC "แม่มะลิ" ฮิปโปอายุยืน 58 ปียังแข็งแรง-หลบแช่น้ำทั้งวัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง