เปิดใจคุย “ต่อศักดิ์ สุขวิมล” ใช้หลักธรรมครองตน ก็ครองคนได้

การเมือง
22 มี.ค. 67
13:33
559
Logo Thai PBS
เปิดใจคุย “ต่อศักดิ์ สุขวิมล” ใช้หลักธรรมครองตน ก็ครองคนได้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เป็นเจ้านามเรียกขาน “พิทักษ์ 1”ได้เพียง 6 เดือน ในที่สุด “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.คนที่ 14 ก็ถูกย้ายไปช่วยงานที่สำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เมื่อ 20 มี.ค.2567 พร้อม “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร หลังมีปมเรื่องความขัดแย้งในองค์กรตำรวจ

จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น โดยมีระยะเวลาการปฎิบัติงาน 60 วัน ซึ่งน่าจับตาว่า หลัง จากครบกำหนดแล้ว พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ จะกลับมาปฎิบัติราชการต่อที่กรมปทุมวัน ในตำแหน่งเดิมหรือไม่

“รายการคุยนอกกรอบ กับ “สุทธิชัย หยุ่น” มีโอกาสเปิดใจ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ แบบเอ็กซ์คลูซีฟ ก่อนถูกเด้งเข้าทำเนียบ ในแง่มุมการบริหารงานขององค์กรตำรวจ เพื่อให้ทัดเทียมกับสากล โดยเฉพาะการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงสิ่งที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นในระยะเวลาที่เหลือนับจากนี้

“ 3 สิ่งที่ภูมิใจในชีวิตตลอดการรับราชการตำรวจ ที่ทำให้มายืนในตำแหน่งเบอร์หนึ่งของสำนักงานตำรวจฯ มองย้อนกลับไปไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องด้วยการก้าวเข้ามาเป็นตำรวจ โดยไม่ได้จบจากนักเรียนนายร้อย แต่ความพากเพียร และความอดทน ในขณะเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตร ทำให้ได้รับ เข็มทอง จากอาจารย์ของนักเรียนโรงเรียนนายร้อย เมื่อเข้ามาเป็นข้าราชการพลเรือนก็ได้รับ ครุฑทองคำ จากการทำงานเพื่อประชาชน รวมถึงผลงานที่ได้ทำมาหลายอย่างเป็นที่ประจักษ์ และสิ่งสำคัญที่สุดคือบนบ่าขวามี เครื่องหมายอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ที่ได้ทำหน้าที่ถวายความปลอดภัย” เจ้า ของรหัสพิทักษ์ 1 เผยความในใจ

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ย้ำว่า ที่ผ่านมาพยายามสอนน้องๆ ตำรวจว่า การเป็นข้าราชการ ต้องเข้าใจอาชีพก่อน วันนี้มีอาชีพข้าราชการ ต้องเข้าใจอาชีพตนเองว่า กำลังทำอะไร และต้องทำหน้าที่รับผิดชอบให้ดีที่สุด ข้าราชการหลายคนยังไม่เข้าใจอาชีพ ไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ถ้าทำสองอย่างนี้ได้ ประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุด เพราะคุณเข้าใจอำนาจหน้าที่ของคุณ

 “อาชญากรรมไซเบอร์”ตำรวจต้องพัฒนา ตามให้ทัน

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เปิดประเด็นว่า ปัจจุบันรูปแบบของอาชญากรรมเปลี่ยนจากเหตุ “ลัก วิ่ง ชิง ปล้น” แต่คดีอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เพิ่มสูงขึ้น เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก แม้ประชาชนคาดหวังให้ตำรวจเข้ามาแก้ไข โดยเฉพาะการลดคดีประเภทอาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cybercrime) ไม่ได้หมายความให้ตำรวจไปตามจับ เพราะการตามจับ หมายถึงมีคดีเกิดขึ้นแล้ว แต่การให้องค์ความรู้ประชาชนให้เท่าทันมิจฉาชีพที่ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนไทยตกเป็นเหยื่อบ่อยที่สุด

“การพัฒนาของตำรวจ จะต้องก้าวล้ำ ต้องคิดว่า เรามีองค์ความรู้ในเรื่องนี้ ถ้าเราเป็นคนร้ายคนร้ายจะทำอะไร ต้องคิดให้ทันเขา ไม่ใช่ตามเขา เพราะฉะนั้นเราจะไม่มีทางป้องกันได้เลย และถ้าเราคิดก่อนเขาได้ วางป้องกันไว้ก่อนเราก็จะลดได้ ซึ่งถือเป็นการทำงานเชิงรุก”

โดยรูปแบบการหลอกลวงโดยใช้เทคโนโลยี หรือ Cybercrime มีหลายรูปแบบ ทั้ง การหลอกลวงผ่านอีเมล (Email scam) SMS หรือ Email ปลอมที่ทุกคนรู้จัก มักจะอ้างว่ายินดีด้วยคุณถูกรางวัล….. หรือคุณได้รับเงินจาก…. และเชิญชวนทำงาน เพียงกดที่ลิงก์นี้ สิ่งที่มิจฉาชีพต้องการคือให้เหยื่อเข้าไปกรอกข้อมูลในหน้าเว็บไซต์ปลอมที่ถูกสร้างไว้

การหลอกลวงขายสินค้า (Sales scam) ‘การโดนโกงจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์’ พบเห็นได้บ่อยในลักษณะการหลอกขายสินค้าให้โอนเงินแต่ไม่ส่งสินค้า สินค้าไม่ตรงปกสั่งอีกอย่างส่งอีกอย่างมา และสินค้าไม่ได้มาตรฐานหรือได้สินค้าของปลอม ที่อ้างว่าลดราคาขายถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป

การหลอกรักออนไลน์ (Romance Scam) มิจฉาชีพเหล่านี้มักจะสร้างโปรไฟล์ที่ดูดี หล่อ สวย มีฐานะ ดูน่าเชื่อถือ เข้ามาพูดคุย ตีสนิทสนมสานสัมพันธ์ เมื่อเหยื่อหลงรัก หลงเชื่อใจจนขาดสติ จะให้โอนเงินหรือทรัพย์สินอื่น ๆ ให้มิจฉาชีพ และบางรายถูกหลอกใช้ขนส่งยาเสพติดหรือสิ่งผิดกฎหมายก็มี

การหลอกรักลวงลงทุน (Hybrid Scam) มิจฉาชีพพวกนี้จะสร้างโปรไฟล์ปลอมเป็นนักลงทุน มีทรัพย์สินจำนวนมาก จากนั้นส่งข้อความถึงเหยื่อเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจ หลอกให้เกิดความโลภอ้างว่ามีช่องทางการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสูง จะถูกหลอกให้ลงทุนเรื่อยๆ บทสรุปของเรื่องนี้ก็จะถูกเชิดเงินหนีหายไป

การหลอกลวงด้วยการโทรศัพท์โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Vishing Phishing) แก๊งคอลเซ็นเตอร์พวกนี้จะพยายามสร้างสถานการณ์ เล่นกับความกลัวให้เหยื่อตกใจ มักจะอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานต่างๆ อ้างว่าเหยื่อมีส่วนร่วมกับสิ่งผิดกฎหมาย บัญชีธนาคารถูกใช้ฟอกเงินหรือตรวจพบสิ่งของผิดกฎหมายจากบริการขนส่ง พอเหยื่อกลัวและตกใจจนขาดสติก็จะให้บอกข้อมูลส่วนตัวหรือให้โอนเงินเพื่อความสุจริต

และการหลอกให้ลงทุนแชร์ลูกโซ่ (Ponzi scheme) ขบวนการแชร์ลูกโซ่มีการพัฒนาให้ทันสมัยและทำให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น ทั้งในรูปแบบแอพพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ มักจะหลอกชักชวนให้ร่วมลงทุน อ้างว่าถ้าคุณลงทุนกับเราจะมีผลกำไรตอบแทนที่สูงในระยะเวลาสั้นๆ โดยช่วงแรกจะได้รับเงินจากการลงทุนจริง แต่เมื่อมีเหยื่อหลงกลร่วมลงทุนขยายเครือข่ายมากขึ้น สุดท้ายก็ไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่อ้างไว้ และหนีหายไปพร้อมกับเงินที่ลงทุน

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ยอมรับว่า การทำงานมีอุปสรรคพอสมควร เนื่องจากเซิร์ฟเวอร์ โปรแกรมที่มีหน้าที่ให้บริการด้านการจัดการเว็บไซต์ ทำหน้าในการเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตและควบคุมการใช้บริการอินเทอร์เน็ตให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ลูกข่าย อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านด้านตะวันตก 95% ด้านตะวันตก 5% ขณะที่มิจฉาชีพบางส่วนยังใช้ประเทศไทยเป็นฐานเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกเงินคนในต่างประเทศ จึงได้มีการประสานทำงานร่วมกัน

“นโยบายที่อยากทำ คือการวางบุคลากรไปปฏิบัติงานในสถานทูตไทยประจำประเทศที่มีความเชื่อมโยงในเรื่องของอาชญากรรมไซเบอร์ ด้วยมองว่าเราควรจะมีผู้ช่วยทูตฝ่ายตำรวจประจำ UK อเมริกาไหม เพราะเรามีคนไทยอาศัยอยู่จำนวนมาก”

ถือเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ที่บุคลากรการฝึก หลักสูตรตำรวจ จะต้องเปลี่ยนการเรียนการสอนใหม่ ให้สามารถต่อกรกับมิจฉาชีพทางคอมพิวเตอร์ที่มีการเปลี่ยนไปแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในช่วง 6 เดือนของการรับตำแหน่ง ยังได้เพิ่มศักยภาพตำรวจ ส่งไปเรียนรู้อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ช่วงซัมเมอร์ในต่างประเทศ พบว่านักเรียนนายร้อยตำรวจของประเทศไทยได้ที่ 1 ของการแข่งขันเกี่ยวกับ “Cyber Crime”

อาชญากรรมอื่นๆ มีลักษณะเหมือน ภูเขาน้ำแข็งจะเห็นเพียงยอดที่โผล่ขึ้นมา หากตรวจสอบลึกลงไปจะพบเครือข่ายและการเงินเชื่อมโยงกัน มีคดีค้ามนุษย์ ก็จะมียาเสพติด เรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จึงรวมถึงการค้ามนุษย์ ค้ายาเสพติด ค้าอาวุธ เป็นเครือข่ายที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง

ขณะที่ปัญหายาเสพติดยังเป็นนโยบายแห่งชาติ ที่ไม่สามารถละทิ้งได้ ขณะที่การค้ามนุษย์ ยังดำเนินการปราบปรามต่อเนื่อง และยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดไม่ให้ประเทศไทยถูกปรับสถานะต่ำกว่าเทียร์ 2 หรือรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ Trafficking in Persons Report หรือ (TIP) ซึ่งจัดทำขึ้นประจำปีโดย กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งปรับสถานะไปอยู่ในอันดับที่ดีขึ้น

Active Shooter-เรียนรู้สู่ตำรวจสากล

ภารกิจของตำรวจ นอกจากการปราบปรามปัญหาอาชญากรรม ตามจับอาชญากรแล้ว ยังต้องเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุรุนแรงที่พร้อมจะเกิดขึ้นทุกเมื่อ เช่น เหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเคยเกิดขึ้นครั้งแรกที่ตลาดไทเมื่อปี 2550 เมื่อหนุ่มวัยรุ่น อายุ 20 ปี มีอาการติดเกม "counter strike" ใช้มีด และอาวุธปืนอาก้า กราดยิงตำรวจ , รปภ. และประชาชน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งเหตุที่เกิดขณะนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมองว่าเป็น คดีปกติธรรมดา

แต่หลังจากเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร “Active Shooter Training” เพื่อรับมือเหตุคนร้ายกราดยิงในที่สาธารณะกับสำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐฯ (FBI) พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ บอกว่า เหตุการณ์ดังกล่าว คือ สถานการณ์ที่ในอนาคตประเทศไทยจะต้องเจอ

เมื่อกลับมาจึงนำความรู้มาถ่ายทอดให้กับตำรวจ โดยอธิบายในเรื่อง “active shooter run hide fight” หรือข้อปฏิบัติตามหลักสากลเมื่อต้องเอาชีวิตรอดจากเกิดฉุกเฉินกราดยิง คือ “หนี ซ่อน สู้” เนื่องด้วยตำรวจไทยยังไม่มีองค์ความรู้การเข้าควบคุม หรือ จัดการคนร้าย “Active shooter” หรือผู้ก่อเหตุกราดยิง

“ทุกวินาที คือ ชีวิตของผู้บริสุทธิ์ ข้างหลังเราจะมีทีมสนับสนุนเข้ามาดูคนบาดเจ็บ ดังนั้นสิ่งแรกที่ผมจะต้องทำคือต้องเอาคนร้ายลงให้ได้ก่อน นี่คือสิ่งที่เราถูกฝึกมา ผมถ่ายทอดให้กับน้องๆ ตำรวจ เป็นเวลา 6 ปีแล้ว”

พิทักษ์ 1 เชื่อว่าตำรวจรู้วิธีการปฏิบัติ แต่ไม่สามารถลดการสูญเสีย หรือห้ามไม่ให้เกิดเหตุไม่ได้ สิ่งสำคัญคือการให้องค์ความรู้กับพี่น้องประชาชนในการเอาตัวรอดมากกว่าการจะรอตำรวจมาช่วย “คิดง่ายๆ ขณะที่คนร้ายเริ่มยิง คนที่อยู่ในเหตุการณ์โทรศัพท์หา 191 กว่าตำรวจจะมา คนร้ายก็มีเวลายิงไปอีกหลายคน” แต่หากคนที่อยู่ในเหตุการณ์สามารถวิ่งออกไปที่ปลอดภัยได้

เหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้าเทอมินอร์ 21 โคราช” ในขณะนั้นยังอบรมให้ตำรวจไม่ครบ ทำให้บางส่วนยังไม่มีองค์ความรู้การเข้าระงับเหตุ “Active Shooter” เกิดการประเมินสถานการณ์ผิดพลาด ส่งผลให้ตำรวจเสียชีวิต

จากเหตุการณ์นี้จึงเป็นบทเรียนที่ดำเนินการสอนตำรวจทั้งประเทศ ยังขยายการอบรมภาคทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติเข้าไปในสถานศึกษากว่า 400 โรงเรียน รวมทั้งโรงเรียนใน กทม. เพื่อให้เด็กมีทักษะการเอาชีวิตรอด เมื่อได้ยินเสียงปืนจะรู้ทันทีว่าต้องทำอย่างไร และหาทางออกให้เร็วที่สุด ตามขั้นตอน “run hide fight หนี ซ่อน สู้”

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า การวัดผลว่า สำเร็จหรือไม่ เห็นได้จากตัวชี้วัด เหตุยิงสยามพารากอน เมื่อเดือนต.ค. 2566 ขณะนั้นตำรวจรู้วิธีเข้าควบคุมสถานการณ์ Active Shooter อีกทั้งก่อนเกิดเหตุ 1 เดือน พนักงาน และรปภ. สยามพารากอน ได้รับการอบรมจากตำรวจ จะเห็นได้ว่าวันเกิดเหตุ รปภ.ทำหน้าที่ในการประสานกันเป็นระยะเพื่อนำทางให้ประชาชนสามารถออกไปที่ปลอดภัยได้ โดยไม่ต้องเสี่ยงกับคนร้ายที่ไม่รู้ว่าซ่อนตัวอยู่จุดใด รวมถึงร้านค้าต่างๆ ก็ปฏิบัติตามขั้นตอนในการปิดประตูร้าน ปิดไฟ และหาที่หลบซ่อนตัวอย่างปลอดภัย

ถือเป็นความสำเร็จระดับหนึ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้จะต้องไม่เกิดการสูญเสีย ในระดับ 80% เพราะสามารถเซฟชีวิตคนไม่ให้เกิดการสูญเสียมากกว่าเดิม สิ่งสำคัญ คือ การจับคนร้ายได้โดยไม่ต้องวิสามัญ เนื่องจากเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ศึกษาได้ว่า จังหวะที่ก่อเหตุ เขาคิดอะไร ซึ่งในสหรัฐอเมริกา เพิ่งจับคนร้ายได้กรณีหลังๆ เพราะส่วนใหญ่จะถูกวิสามัญ จึงทำให้ไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรในช่วงเวลานั้น

ส่วนแนวคิดจะเสนอกฎหมายกำหนดโทษคดีเยาวชนไม่ต้องรับโทษ จากอายุ 15 เป็น 12 ปีนั้น ในต่างประเทศ เคยมีรายงานการก่อเหตุปี 2565-2566 ในประเทศฟินแลนด์ สหรัฐอเมริกา อินเดีย เซอร์เบีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย พบแนวโน้มการกระทำความผิดของเด็ก-เยาวชน สูงขึ้น

แต่เกณฑ์อายุน้อยลง จึงมีแนวคิดปรับแก้กฎหมายเพื่อรับมือเด็กที่มีพฤติกรรมก่อเหตุรุนแรงมากขึ้น โดยบทกำหนดโทษร้ายแรง อาจไม่ได้ลดสถิติเสมอไป แต่แก้ไขปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เยาวชนกลายเป็นอาชญากร มีผู้ปกครองและครอบครัวช่วยกันแก้ได้ตรงจุด

สำหรับไทย ผบ.ตร.กล่าวว่า ต้องหารือในรายละเอียดอีกครั้ง โดยขณะนี้บทกำหนดโทษเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษ เนื่องจากยังติดข้อกฎหมายกับสหประ ชาชาติเรื่องสิทธิเด็ก จึงยังไม่สามารถลดอายุลงไปได้มากกว่านี้ เพราะอายุเด็ก แม้ว่าจะน้อย แต่เขารู้ ศึกษาจากเกมส์ จากโลกอินเทอร์เน็ต เพราะเราไม่มีตัวคัดกรอง อาชญากรรมเลยเกิดกับเด็ก การเสพสื่อ การเสพข้อมูล แม้แต่การผลิตของอะไรสักชิ้น สามารถเรียนรู้ในยูทูปได้หมด เมืองนอกเขามีกฎหมาย แต่เราติดกฎหมาย PDPA เรื่องข้อมูลส่วนบุคคลที่เราทำอะไรไม่ได้ ก็เป็นอุปสรรคหนึ่ง

ใช้หลักธรรมทำงาน “ครองตน ก็ครองคนได้”

แม้จะถูกตั้งฉายาว่าเป็น “มือปราบสายธรรมะ” หรือ “โรโบคอปสายบุญ” แต่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ บอกว่า ตลอดการรับราชการตำรวจมาเกือบ 27 ปี ปฎิบัติงานในส่วนสายบู๊ในหน่วยของกองปราบ – คอม มานโด - สอบสวนกลาง มาถึง 22 ปี ส่วนตัวเป็นคนใจร้อน แต่ต่อมาใช้ธรรมะในการปรับอารมณ์เย็นลง ทำงานให้เกิดคุณธรรม ยึดหลักธรรมครองตน เมื่อครองตนได้ เราก็ครองคนได้ พอครองคนได้ ก็จะครองงานได้ งานจะมา

“ผมอยู่ในสายบู๊มาตลอด เป็นคนใจร้อนจริง จะดีกับคนดี จะร้ายกับคนร้าย ตั้งแต่เป็นร้อยตำรวจตรี ...นักข่าว ไม่ต้องการเห็นการแถลงข่าว อยากเห็นการปฏิบัติ ทำให้ประชาชนได้เห็นอีกมุมหนึ่งของตำรวจ ที่ทำหน้าที่เสี่ยงเป็น เสี่ยงตาย เสี่ยงชีวิต สำหรับคนที่ไม่ใช่พ่อแม่พี่น้อง ลูกเมียของเรา..ทุกครั้งที่มีคดีต่างๆ เกิดขึ้น นักข่าวก็จะถามทันทีว่าจะทำอะไรต่อ”

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า ไม่อยากให้ถามว่าตำรวจจะทำอะไรต่อ เพราะคนร้ายเขาก็ฟังอยู่ ดังนั้นจึงไม่สามารถบอกแผนงานของตำรวจให้รู้ทั้งหมดได้ ให้รออีกสักวันสองวัน หลังจากนั้นก็มีหมายจับออกมา ก็จะได้งานที่มีคุณภาพ เปรียบเหมือนคดีนักเรียนตีกัน ไม่ใช่จับคนยิงหรือคนขี่มเตอร์ไซค์มา แต่จะต้องจับทั้งยวง จอมปลวกต้องเอาทั้งหลัง ไม่งั้นก็มีปลวกขึ้นมาให้จับอยู่เรื่อย

นอกจากปัญหาการทำคดีแล้ว การขาดแคลนพนักงานสอบสวน ถือเป็นปัญหาใหญ่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ทำให้ประชาชนหมดความศรัทธา พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า นโยบายหลักที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การคืนตำรวจให้ประชาชน โดยลดขั้นตอนการทำงานของพนักงานสอบสวน ปรับปรุงงานเอกสารให้เหมาะสม ไม่ต้องเข้าไปนั่งในห้องประชุม แต่ใช้เป็นวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อลดความยุ่งยากซับซ้อนงานธุรการ เบื้องต้นยังได้แก้ไขคำสั่งตำรวจ 419

อยากทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นองค์กรแห่งความรักความสามัคคี หรือ “Police home” ซึ่งต้องคิดในภาพรวมทั้งหมดของตำรวจที่มีอยู่กว่า 2 แสนคน ทั้งสวัสดิการ การเติบโตในตำแหน่งพนักงานสอบสวน เงินตอบแทน เงินในวิชาชีพ อีกทั้งปริมาณงานให้เหมาะสมกับความสามารถแต่ละคน

ช่วงสถานการณ์โควิด – 19 ทำให้ไม่ได้เปิดรับนักเรียนนายสิบมานานถึง 2 ปี เมื่อเหตุคลี่คลาย จึงรับนักเรียนนายสิบได้ แต่ต้องใช้เวลาผลิตนักเรียนอีก 1 ปีครึ่ง หมายถึง ตำรวจต้องขาดกำลังพลที่ไม่ได้เข้ามาเติมเลย 3 ปีครึ่ง จึงมีนโยบายรับกำลังพลทหารเกณฑ์ที่สมัครใจเข้ามา ซึ่งได้มีการรับรองความประพฤติจากต้นสังกัด ทำให้ลดการอบรมจากปีครึ่ง เหลือแค่ 6 เดือน ซึ่งคาดว่าจะสามารถมาเติมเต็มในส่วนกำลังพลที่ขาดได้

“ยังเชื่อมั่นว่าตำรวจส่วนใหญ่เป็นคนดี ตำรวจที่ทำให้เสียชื่อเสียงนั้นมีน้อย ในองค์กรไม่มี ไพร่พลเลว มีแต่แม่ทัพนายกองเลว เลวยังไง.. ก็คือไม่กำกับดูแลเขา ถ้าเรากำกับดูแลเขาให้ดี ไม่กดขี่ ผมว่าพอเราสร้างความรักขึ้นมาสิ่งที่เขาจะไปทำนอกลู่นอกทางมันจะลดน้อยลง แต่หากเขาไม่มีที่พึ่ง แล้วมาพึ่งผู้บังคับบัญชาไม่ได้ เขาก็ไปพึ่งอย่างอื่น ไปพึ่งยาเสพติดไหม ไปพึ่งกลุ่มอิทธิพล กลุ่มสีเทา”

พบกับ รายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิ หยุ่น ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทุกวันพฤหัสบดี 21.30-22.00 น.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง