สำรวจสถานะ "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" ทั่วโลก

ต่างประเทศ
28 มี.ค. 67
14:08
2,402
Logo Thai PBS
สำรวจสถานะ "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" ทั่วโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมในไทยถือเป็นก้าวสำคัญและยกระดับความเท่าเทียมทางเพศ แต่หากมองภาพรวมของเอเชีย "ไทย" เป็นเพียงประเทศที่ 3 ในเอเชียเท่านั้น

แม้หลายประเทศในเอเชียจะดูเหมือนยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่ประเด็นเรื่องสิทธิยังถือว่าด้อยกว่าหลายภูมิภาค โดยเฉพาะในยุโรป

เนเธอร์แลนด์ รับรองให้การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันถูกกฎหมายตั้งแต่เดือน เม.ย.2001 รวมทั้งยังอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันรับอุปการะบุตรได้ ก่อนที่แต่ละประเทศทั่วโลกจะเริ่มทยอยผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม

หากนับคร่าวๆ ปัจจุบันมีประเทศที่รับรองให้คนเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้อย่างถูกกฎหมาย ทั้งหมด 37 ประเทศและดินแดน แบ่งเป็นในยุโรป 21 ประเทศ ซึ่งถือว่าก้าวหน้ามากที่สุด ตามมาด้วยอเมริกา 11 ประเทศ เอเชียมีเพียง 2 ที่คือ ไต้หวันกับเนปาล ส่วนโอเชียเนียมี 2 ประเทศคือ นิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ขณะที่หนึ่งเดียวในแอฟริกาคือ แอฟริกาใต้

แต่ในจำนวนนี้ยังมีข้อถกเถียงถึงสถานะของบางประเทศอย่าง เม็กซิโก ซึ่งไม่ได้รับรองเหมือนกันทั้งประเทศ ขณะที่ เนปาล แม้จะมีคู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันอย่างถูกกฎหมาย เป็นคู่แรกของประเทศ เมื่อปลายปี 2023 ตามคำสั่งชั่วคราวของศาล แต่ขณะนี้รัฐสภาเนปาลก็ยังไม่ได้ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ผู้สนับสนุน LGBTQ แขวนธงบนเสาไฟด้านนอกรัฐสภากรีก แสดงความยินดีหลังสภาประกาศรับรองให้การสมรสระหว่างคนเพศเดียวกันและการรับบุตรถูกกฎหมาย เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2024

ผู้สนับสนุน LGBTQ แขวนธงบนเสาไฟด้านนอกรัฐสภากรีก แสดงความยินดีหลังสภาประกาศรับรองให้การสมรสระหว่างคนเพศเดียวกันและการรับบุตรถูกกฎหมาย เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2024

ผู้สนับสนุน LGBTQ แขวนธงบนเสาไฟด้านนอกรัฐสภากรีก แสดงความยินดีหลังสภาประกาศรับรองให้การสมรสระหว่างคนเพศเดียวกันและการรับบุตรถูกกฎหมาย เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2024

ส่วนที่กรีซ สภาประกาศรับรองให้การสมรสระหว่างคนเพศเดียวกันและการรับบุตรถูกกฎหมาย เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา สร้างความยินดีให้กับกลุ่มสนับสนุนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งไปรวมตัวกันด้านหน้าอาคารรัฐสภาในกรุงเอเธนส์ ที่ต่างปรบมือและโห่ร้องแสดงความยินดี

กรีซ กลายเป็นประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายออร์โธดอกซ์ ชาติแรกของโลกที่รับรองการสมรสของคนเพศเดียวกัน หลังกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศรณรงค์และผลักดันในประเด็นนี้มานานหลายสิบปี ท่ามกลางเสียงต่อต้านอย่างหนักจากฝ่ายศาสนา

แต่หากแยกดูตามภูมิภาค จะพบว่า ยุโรปผลักดันประเด็นสมรสเท่าเทียมสำเร็จเป็นภูมิภาคแรก โดยเนเธอร์แลนด์เป็นที่แรกของโลก ตามด้วยแคนาดา ซึ่งถือเป็นประเทศแรกของทวีปอเมริกาที่รับรองให้การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันถูกกฎหมายในปี 2005 ขณะที่แอฟริกาใต้เป็นที่แรกและที่เดียวของภูมิภาคแอฟริกา ส่วนที่แรกในลาตินอเมริกาอยู่ที่อาร์เจนตินาในปี 2010 และที่แรกของเอเชียคือไต้หวัน เมื่อปี 2019

ผู้คนเข้าร่วมขบวนพาเหรด LGBTQ Pride Parade ประจำปีของไต้หวัน เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2023

ผู้คนเข้าร่วมขบวนพาเหรด LGBTQ Pride Parade ประจำปีของไต้หวัน เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2023

ผู้คนเข้าร่วมขบวนพาเหรด LGBTQ Pride Parade ประจำปีของไต้หวัน เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2023

ส่วนมุมมองในอาเซียน เมื่อปลายปี 2023 ศูนย์วิจัยพิวในสหรัฐฯ เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของชาวอาเซียนที่มีต่อกฎหมายสมรสเท่าเทียม และพบว่า ชาวเวียดนามสนับสนุนมากถึง 65% หลังจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเริ่มรณรงค์ในประเด็นนี้มาตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งทางการเวียดนามเตรียมพิจารณาปรับแก้กฎหมายสมรสและครอบครัวในปี 2024 หรือไม่ก็ปีหน้า

ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจในไทยและกัมพูชาเกินครึ่ง สนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียมเช่นกัน สวนทางกับสิงคโปร์ มาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยเฉพาะ 2 ประเทศหลัง ชาวมาเลเซียคัดค้านกฎหมาย 8 ใน 10 คน และอินโดนีเซียมากกว่า 9 ใน 10 คน ซึ่งมุมมองของคนใน 2 ประเทศนี้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับจุดยืนแข็งกร้าวของรัฐบาล

ส่วนในฟิลิปปินส์ แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศและการแสดงออกถึงตัวตนในพื้นที่สาธารณะก็สามารถทำได้อย่างเปิดเผย แต่ประเทศนี้ ซึ่งประมาณ 80% ของประชากรเป็นชาวคาทอลิก ยังคงมีความเป็นอนุรักษ์นิยม โดยการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน การทำแท้ง ไปจนถึงการหย่าร้าง ยังคงเป็นเรื่องต้องห้าม

ขณะที่ความพยายามหลายสิบปีในการผลักดันกฎหมายที่จะมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ เพื่อปกป้องกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจากการถูกเลือกปฏิบัติในขณะนี้ก็ยังไม่ไปถึงไหน ซึ่งความสำเร็จของการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมในแต่ละประเทศทั่วโลก เป็นผลมาจากความพยายามของกลุ่มผู้สนับสนุนความหลากหลายทางเพศที่ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรค แต่หนทางในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศทั่วโลกยังคงต้องใช้เวลา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สภาฯ ฉลุย 400 เสียงผ่านร่าง "กฎหมายสมรสเท่าเทียม"

ก้าวไกลโพสต์ย้อนเส้นทางกว่าจะถึง "สมรสเท่าเทียม"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง