ค่า(เข้า)เรียน เดอะซีรีส์ อนุบาล-มหาวิทยาลัย "การศึกษาที่ไร้หัวใจ"

สังคม
20 พ.ค. 67
12:44
1,164
Logo Thai PBS
ค่า(เข้า)เรียน เดอะซีรีส์  อนุบาล-มหาวิทยาลัย "การศึกษาที่ไร้หัวใจ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

หนึ่งในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับคนที่มีสถานะเป็น พ่อ แม่ หรือผู้ปกครองของเด็กสักคนหนึ่ง นั่นก็คือ ช่วงของการพาบุตรหลานของเรา "เข้าเรียน" ... นับตั้งแต่ หาที่เรียนในชั้นอนุบาล, หาที่เรียน ป.1, หาที่เรียน ม.1, บางคนอาจต้องหาที่เรียนใหม่เมื่อจบชั้น ม.3 หรือบางคนก็ต้องหาที่เรียนในมหาวิทยาลัย

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ทุกการเปลี่ยนผ่านในทุกระดับชั้นเรียนในประเทศไทยเต็มไปด้วย "การแข่งขัน" เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ต่างก็ต้องการส่งให้เด็กในปกครองของตัวเอง ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ดีพอ ซึ่งในอีกมุมหนึ่ง อาจตีความได้ว่า ประเทศไทยมีโรงเรียนที่ถูกให้ค่าว่าเป็นโรงเรียนที่ดีพอ ไม่มากพอสำหรับจำนวนนักเรียน ...

หรืออีกมุมหนึ่ง ก็อาจตีความไปได้อีกว่า โรงเรียนที่ดีพอในราคาที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ ... จ่ายไหว ... ยิ่งมีน้อยลงไปอีก

ราคาที่ทั้งผู้ปกครองและเด็กทุกคนจะต้องจ่ายสำหรับสงครามแย่งชิงพื้นที่ทางการศึกษานี้ อาจเรียกได้ว่า "ค่า (เข้า) เรียน" ซึ่งไม่ได้มีความหมายแค่การจ่ายเงินเพื่อให้ได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่ดี แต่ยังรวมไปถึงการต้องใช้ "เงิน" เพื่อให้ได้มาซึ่งโอกาสที่มากกว่าด้วย

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกการศึกษาในรูปแบบนี้ว่า การศึกษาระบบเสรีนิยมใหม่ ที่เน้นการแข่งขัน มองการศึกษาที่จัดโดยโรงเรียนเป็นเหมือนสินค้า และอาจเป็นระบบการศึกษาที่ใจร้ายกับผู้บริโภคเหลือเกิน

เราจะไล่ไปดูช่วงเปลี่ยนผ่านในแต่ละระดับชั้น

"ห้องเรียนพิเศษ" มัธยมศึกษาปีที่ 1

"เลือกสายวิทย์ หรือสายศิลป์ หรือไปสายอาชีพ หลังเรียนจบชั้น ม.3" นั่นคือภาพจำของช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่เด็กวัย 14-15 ปี จะต้องตัดสินใจครั้งสำคัญเพื่อกำหนดเส้นทางเดินที่อาจส่งผลต่อโอกาสในการประกอบอาชีพของพวดเขาเองในอนาคต ... แต่ในปัจจุบัน นี่ไม่ใช่การเลือกครั้งแรกอีกแล้ว เพราะมีเด็กบางกลุ่ม มีสิทธิที่จะลองได้เลือกเส้นทางของตัวเองได้ก่อนหน้านั้นถึง 3 ปี

ห้องเรียนพิเศษคณิตศาสตร์, ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์, ห้องเรียนพิเศษ English Program เป็นหลักสูตรใหม่ที่ทยอยเกิดขึ้นตามโรงเรียนมัธยมของรัฐขนาดใหญ่ หรืออาจจะเรียกได้ว่า "โรงเรียนชื่อดัง" ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เปิดให้สอบเข้าตั้งแต่ชั้น ม.1 ไม่ใช่ ม.4

"นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการจัดการศึกษาภายใต้แนวคิดเสรีนิยมใหม่" ผศ.อรรถพล กล่าว

"หลักสูตรพิเศษ เดิมคือ หลักสูตร Gifted ซึ่งถูกคิดขึ้นมาบนฐานคิดทางวิชาการ แต่ในระยะหลังก็จะมีหลักสูตรพิเศษใหม่ๆเกิดขึ้นอย่างที่เห็น แต่เป็นการคิดบนฐานการตลาด สร้างขึ้นมาเพื่อเพิ่มรายได้จากค่าใช้จ่ายในการเข้าเรียน โดยหลักสูตรเหล่านี้ เกิดขึ้นได้ภายใต้นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่โรงเรียนสามารถให้เหตุผลได้ว่า เป็นความต้องการของชุมชนของโรงเรียน" ผศ.อรรถพล อธิบายเพิ่มเติม

เพื่อให้คำอธิบายของ ผศ.อรรถพล มีภาพประกอบที่ชัดเจนขึ้น เราสามารถยกตัวอย่างการเปิดหลักสูตรพิเศษของโรงเรียนมัธยมชื่อดังหลายๆโรงเรียนซึ่งมีลักษณะร่วมกันมาวางให้เห็นตรงนี้

  • เปิดห้องพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ โดยแบ่งมาจากโควตาเดิมของการรับนักเรียนนอกเขตพื้นที่ หรือ นักเรียนที่ต้องสอบเข้า
  • โรงเรียนจะจัดสอบเข้าห้องพิเศษก่อนการสอบเข้าปกติที่จัดพร้อมกันทั่วประเทศ โดยนักเรียนที่มีสิทธิสอบห้องพิเศษในแต่ละสาขาวิชา จะต้องมีเกรดชั้น ป.4-ป.5 ในวิชานั้นที่สูงพอตามที่โรงเรียนกำหนด
  • เมื่อมีห้องเรียนหลักสูตรพิเศษเพิ่มขึ้น ทำให้โรงเรียนเปิดรับนักเรียนใหม่ ที่จะสอบเข้ามาเรียนในห้องเรียนปกติได้น้อยลง (โรงเรียนดังเหลือโควตารับนักเรียนนอกเขตพื้นที่ ห้องเรียนปกติ อยู่ที่ประมาณ 100 กว่าคน หรือบางโรงเรียนเหลือโควตาไม่ถึง 100 คน ในขณะที่ห้องพิเศษมีจำนวนรวมๆ กันประมาณ 200-300 คน
  • ถ้านักเรียนสามารถสอบเข้าห้องเรียนพิเศษได้ ผู้ปกครองจะต้องจ่ายในราคาที่สูงขึ้น โดยห้องวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ จะต้องจ่ายประมาณเทอมละ 10,000 บาท แต่ถ้าเป็นห้องเรียน English Program ซึ่งมีครูต่างชาติ จะต้องจ่ายประมาณเทอมละ 35,000 บาท หมายความว่า แม้จะสอบเข้าโรงเรียนมัธยมของรัฐได้ ผู้ปกครองก็จะต้องมีกำลังทรัพย์ด้วย จึงจะสามารถเข้าเรียนได้
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

"โรงเรียนมัธยมชื่อดังของรัฐ กำลังค่อยๆ กลายเป็นโรงเรียนกึ่งเอกชน"

"เป็นวิธีคิดเดียวกับการซื้อประกันชีวิต คือ โดยพื้นฐานเราทุกคนอาจมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากรัฐเหมือนกัน แต่ถ้าสิทธินั้นมันยังไม่ได้รับประกันว่าคุณจะได้รับการรักษาที่ดีมากพอ คุณอยากได้บริการที่ดีกว่า คุณก็ต้องจ่ายเพิ่ม นี่เป็นแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ที่นำมาใช้ในระบบการศึกษาด้วย ด้วยความเชื่อว่า การแข่งขันจะทำให้เกิดพัฒนาคุณภาพ จะทำให้โรงเรียนดีขึ้น"

"แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ยิ่งไปทำให้ช่องว่างระหว่างโรงเรียนดังกับโรงเรียนทั่วไปยิ่งห่างกันมากขึ้นไปด้วย และมันยังอาจไปตัดโอกาสของเด็กในกลุ่มที่ผู้ปกครองมีรายได้น้อย เพราะโรงเรียนของรัฐ (Public School) เป็นพื้นที่ที่เคยรองรับเด็กกลุ่มนี้ได้ผ่านการรับตรงในพื้นที่และการสอบเข้า ปัจจุบันจำนวนรับถูกลดให้เหลือน้อยลงไป แต่ไปเพิ่มจำนวนห้องเรียนพิเศษที่มีราคาแพงและผู้ปกครองต้องร่วมจ่ายมากขึ้น นั่นก็คือ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา"

นอกจากประเด็นความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏชัดขึ้น ผศ.อรรถพล ยังอธิบายเหตุผลที่โรงเรียนของรัฐต้องกลายเป็นโรงเรียนกึ่งเอกชนเมื่อหลักการตลาดแบบเสรีถูกนำมาใช้ในระบบการศึกษา ซึ่งทำให้โรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงเป็นต้นทุนเดิมอยู่แล้ว จำเป็นต้องรักษามาตรฐานความโด่งดังเอาไว้ให้ได้ต่อไป

ด้วยการออกแบบหลักสูตรหลากหลายรูปแบบเหมือนเป็นสินค้าใหม่ๆ เพื่อดึงดูดให้นักเรียนที่มีศักยภาพยิ่งมีความต้องการอยากเข้าเรียนให้ได้ แต่เดิมจำนวนนักเรียนมีผลต่อการได้รับงบประมาณอุดหนุนจากรัฐเพิ่มขึ้นด้วย  เนื่องจากการคิดคำนวณงบประมาณอุดหนุนโรงเรียนจากเงินรายหัวตามจำนวนนักเรียนที่มี การเปิดหลักสูตรพิเศษเหล่านี้คือการเปิดช่องให้โรงเรียนหารายได้ของได้เองเงินรายได้ส่วนนี้สามารถนำมาใช้ได้อย่างยืดหยุ่นกว่างบฯ จากส่วนกลาง ยิ่งมีรายได้เข้าโรงเรียนมาก ก็จะยิ่งการันตีการพัฒนาโรงเรียนได้มากขึ้นตามไปด้วย ทั้งการจ้างครูเก่งๆ พัฒนาห้องเรียน พัฒนาพื้นที่ใช้สอยและสื่อการสอนต่างๆ ทั้งหมดนี้ ก็เป็นปัจจัยที่โรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่มีความจำเป็นต้องสร้างหลักสูตรที่ทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น

"ช่องว่างของโรงเรียนมัธยม ยังเห็นได้จากการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนครับ เราจะสังเกตเห็นกันได้ว่า โรงเรียนมัธยมของรัฐจำนวนมากต้องยอมเปลี่ยนชื่อโรงเรียนซึ่งเป็นอัตลักษณ์ดั้งเดิมไป เพราะถ้าใช้ชื่อเดิม ก็ไม่มีนักเรียนมาสมัครเรียน แต่เมื่อเปลี่ยนไปเอาชื่อของโรงเรียนดังๆ มาวางไว้หน้าชื่อโรงเรียนเดิม ก็สามารถดึงดูดให้ผู้ปกครองยอมส่งลูกหลานมาสมัครเรียนมากขึ้น แม้เราจะพบว่า นอกจากการได้ชื่อมาใส่ด้านหน้า ก็แทบไม่มีความร่วมมือในการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพของโรงเรียนเหล่านี้เลยก็ตาม"

เด็กในเงา คำถามใหญ่ระบบการศึกษาไทย

"เด็กในเงา" คืออีกหนึ่งคำถามใหญ่ที่นักวิชาการศึกษาคนนี้ พยายามถามกลับไปยังระบบการศึกษาของไทย

"แม้แต่เด็กที่สอบเข้า ม.1 โรงเรียนดังได้ แต่ถ้าได้เข้าเรียนในห้องเรียนปกติ ปัจจุบันหลายโรงเรียนขยายจำนวนห้องเรียนพิเศษเพิ่มขึ้นรื่อยๆ โดยกำหนดจำนวนผู้เรียนต่อห้องอยู่ที่ 25-30 คน เอื้อต่อการที่ครูจะดูแลได้ทั่วถึง ขณะที่ห้องเรียนปกติมีเด็กอยู่ที่ 40 คน ยิ่งโรงเรียนขนาดใหญ่มีนักเรียนเยอะ ก็จะเกิด "เด็กในเงา" คืออยู่ในห้องเรียนและโรงเรียน แต่ครูมองไม่เห็นหรือละเลยที่จะใส่ใจดูแล เราไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่าพวกเขาได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับเด็กที่จ่ายค่าเรียนแพงกว่าหรือไม่ ทั้งที่พวกเขาอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน"

"ส่วนเด็กที่สอบเข้าโรงเรียนดังไม่ได้ ก็จะไปรวมตัวกันอยู่ในโรงเรียนที่ถูกจัดให้เป็นกลุ่ม Tier 2 หรือ 3 เป็นพื้นที่รวมตัวกันของคนผิดหวัง ขาดแรงจูงใจ ได้รับงบประมาณไม่มาก หารายได้ได้ไม่มาก สิ่งแวดล้อมในชั้นเรียนและโรงเรียนก็แย่ตามไปด้วย ... ดังนั้นเราควรช่วยกันขบคิดเพื่อหาวิธีการยกระดับโรงเรียนกลุ่มนี้ขึ้นมาให้มีคุณภาพดีขึ้น ควบคู่ไปกับการลดภาวะความเครียดในเด็กกลุ่มที่ต้องแข่งขันเอาเป็นเอาตาย เพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ เปลี่ยนจากการศึกษาที่เน้นการแข่งขันให้เป็นการศึกษาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"

จากประสบการณ์ในฐานะอาจารย์คณะครุศาสตร์ ซึ่งทำงานกับโรงเรียนระดับประถมศึกษามาอย่างยาวนาน ผศ.อรรถพล มองเห็นว่า รัฐควรเพิ่มงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปสนับสนุนเพื่อพัฒนาโรงเรียนมัธยมในกลุ่ม Tier 2 และ 3 ให้มากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้มีการโอนย้ายโรงเรียนระดับประถมศึกษาไปสังกัดกับองค์การปกครองท้องถิ่นที่มีศักยภาพ เช่น กรุงเทพมหานคร หรือเทศบาลต่างๆ ที่มีงบประมาณช่วยดูแลแทน ซึ่งนอกจากจะทำให้โรงเรียนมัธยมมีงบประมาณสนับสนุนเพิ่มขึ้น

การโอนย้ายโรงเรียนประถมไปอยู่กับท้องถิ่น ยังอาจจะเป็นทางรอดของโรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกปิดไปเป็นจำนวนมากเพราะมีนักเรียนน้อยเกินไป แต่การให้ท้องถิ่นดูแลก็จะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กไม่ต้องกลายเป็นภาระของรัฐ และยังสามารถออกแบบการเรียนการสอนได้เหมาะสมกับความต้องการที่แท้จริงของชุมชนอีกด้วย

โรงเรียนประถมและขยายโอกาสขนาดเล็กจำนวนมาก กลายเป็น Left Behind School หรือ โรงเรียนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง บางแห่งแม้จะมีคนในชุมชนเรียกร้องให้กลับมาเปิดก็อยู่ไม่ได้ ถูกยุบอีก เพราะไม่มีเด็กมากพอ ก็ไม่มีเงินอุดหนุนมากพอที่จะจ้างครูหรือนำไปใช้จ่ายในโรงเรียน เป็นปัญหาที่วนเวียนอยู่แบบนี้

"ถ้าโรงเรียนขนาดเล็กอยู่รอด เด็กไม่ต้องไปเรียนไกลๆ พ่อแม่ก็ไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน ชุมชนก็จะไม่ล่มสลายเพราะผู้ปกครองต้องย้ายที่อยู่ไปใกล้โรงเรียนของลูกหลาน ... ซึ่งจะเป็นไปได้ถ้าเราถ่ายโอนภารกิจนี้ไปให้ท้องถิ่นดูแล เราจะได้โรงเรียนที่เข้าใจชุมชน หรือถ้าไม่จำเป็นต้องมีโรงเรียนก็สามารถเปลี่ยนแปลงพื้นที่ไปให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทนที่จะปล่อยทิ้งร้าง และเรายังมีงบประมาณเหลือมาพัฒนาโรงเรียนมัธยมที่ไม่ใช่โรงเรียนดัง ... ถ้าเราทำได้ เด็กๆ ของเราก็จะมีโรงเรียนที่ดีเป็นทางเลือกสำหรับการเรียนต่อระดับมัธยมมากขึ้น" ผศ.อรรถพล อธิบายข้อเสนอของเขา

โรงเรียน ป.1 ที่ดี ในราคาแค่หมื่นกว่าบาท

การแข่งขันเพื่อให้ได้ "เข้าเรียน" ของเด็กไทย ยังมีราคาอื่นที่ต้องจ่ายเกิดขึ้นตั้งแต่ชั้นอนุบาล ... นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ ผศ.อรรถพล เรียกมันว่า "ระบบการศึกษาที่ไม่มีหัวใจ ไม่มองใครเป็นมนุษย์" เพราะการที่เด็กอนุบาลต้องถูกส่งไปเรียนพิเศษเพื่อสอบเข้า ป.1 ในโรงเรียนสาธิต มันเกิดขึ้นเพราะเราไม่มีโรงเรียนประถมที่ดีพอมารองรับเด็ก

"ผู้ปกครองจำนวนมาก ต้องยอมให้ลูกอายุ 4-6 ขวบ ใช้เวลาไปกับการเรียนพิเศษแทนที่จะไปอยู่ในสนามเด็กเล่น ก็เพราะถูกบีบให้มีทางเลือกไม่มากนัก นั่นคือ ต้องสอบเข้าชั้น ป.1 ในโรงเรียนสาธิตให้ได้ เพราะเป็นโรงเรียนที่ดีในราคาแค่เทอมละหมื่นกว่าบาท เราจึงเป็นประเทศที่ปล่อยให้เด็กเล็กๆ ไปเผชิญสนามสอบที่มีอัตราแข่งขันมากกว่า 1 ต่อ 10 เพราะหากเด็กสอบไม่ได้ จะต้องไปเรียนในโรงเรียนเอกชนที่มีค่าเทอมแพงกว่ากันมาก หรือหากจะเรียนในโรงเรียนของรัฐที่อาจจะได้เรียนฟรี ก็มักเป็นโรงเรียนที่ถูกมองว่า ไม่สามารถช่วยให้เด็กมีศักยภาพไปแข่งขันต่อได้ในการสอบเข้า ม.1"

ทุกครอบครัวที่มีฐานะปานกลางต่างก็รู้กันดีว่า การพาลูก "เข้าเรียน" ในแต่ละระดับชั้น ไม่ต่างจากการทำศึกสงครามที่มีเดิมพันใหญ่หลวง ซึ่ง "นักรบ" ที่ต้องลงไปห้ำหั่นเอาเป็นเอาตายในสงครามนี้ ก็คือ ลูกหลานของเรา ที่ต้องเข้าสู่สนามรบตั้งแต่มีอายุเพียง 4-5 ปี และแม้จะผ่านสนามรบครั้งที่ 1 ไปได้ ก็ต้องรบในสนามต่อๆ ไป อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ตั้งแต่ "อนุบาล" เด็กไทยต้องเรียนพิเศษเพื่อแย่งชิงเข้า ป.1

เด็ก ป.5-ป.6 ต้องเรียนพิเศษอย่างหนักเพื่อชิงที่นั่งในโรงเรียนมัธยมชื่อดังซึ่งมีที่สำหรับคนทั่วไปน้อยลงทุกที เพราะมีห้องเรียนพิเศษ ที่ต้องมีทั้งความสามารถและต้องมีกำลังทรัพย์ด้วยจึงจะเรียนได้ มาแบ่งที่นั่งส่วนใหญ่ออกไป

ระบบการศึกษา ถูกออกแบบให้เด็กต้องแข่งขันอย่างหนัก ไปจนถึงการแย่งชิงกันเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ต้องการ ในคณะที่ต้องการ

กว่าจะเปลี่ยนผ่าน "ทุกชั้นเรียน" ล้วนมี "ต้นทุนสูง" ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่แค่ต้องมี "ค่าเล่าเรียน" แต่ต้องมี "ค่าเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันเพื่อให้ได้เข้าเรียน" บวกอยู่ในต้นทุน ที่สร้างความเหลื่อมล้ำไว้อย่างชัดเจนด้วย

ชัดเจนว่า เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีต้นทุนทางสังคมดีกว่า มีรายได้สูงกว่า ก็จะได้รับโอกาสมากกว่า

ถ้าเด็กเรียนดีมากๆ แต่ยากจน อาจยังพอมีหนทางให้เขาได้เดิน แต่ถ้าเด็กยากจนคนหนึ่ง ที่ไม่ได้มีผลการเรียนที่ดีนัก ระบบการศึกษาไทย เอาเด็กเหล่านี้ไปทิ้งไว้ที่ไหน ?

"ถึงเราจะมองด้วยเลนส์ของเสรีนิยมใหม่ เราก็ยังจะพบว่า ระบบการศึกษาไทย ใจร้ายกับผู้บริโภคมากครับ เพราะเรามีต้นทุนที่ต้องเสียไปในระหว่างทางสูงมาก มีเด็กจำนวนมากถูกทิ้งให้ต้องหลุดออกไปจากระบบของเรา ในขณะที่ผลตอบแทนเมื่อเด็กๆ ของเราเรียนจบมหาวิทยาลัย คือการเริ่มทำงานด้วยเงินเดือนหมื่นกว่าบาท ซึ่งสำหรับบางคน ยังมีหนี้สินที่ต้องชดใช้จากการกู้ยืมมาระหว่างทางเพื่อให้มีเงินสำหรับแลกสิทธิการเข้าเรียนด้วย"

"เด็กบางคนที่เรียนไม่เก่งหรือพูดให้ถูก คือ เขาอาจไม่ถนัดด้านวิชาการตามหลักสูตรพื้นฐาน บางคนก็จะถูกตีตราว่าเป็นเด็กเกเร ยิ่งถ้าไม่ได้อยู่ในครอบครัวที่มีกำลังทรัพย์มากพอ โรงเรียนก็แค่ผลักพวกเขาออกไป ด้วยระบบแพ้คัดออก"

"ส่วนเด็กที่ครอบครัวพร้อม เรียนเก่ง ลงสนามแข่งและเป็นผู้ชนะมาตลอด เราก็พบว่าจำนวนมากหาตัวเองไม่เจอ กลายเป็นเด็กหลงทางจนถึงตอนเรียนมหาวิทยาลัย และมีจำนวนไม่น้อยเลยที่อยู่ในภาวะเครียดจนกลายเป็นผู้ป่วยซึมเศร้าในที่สุด"

เด็กไทยอยู่ในการศึกษาภายใต้แนวคิดเสรีนิยมใหม่ เป็นระบบการศึกษาที่เราพร่ำบอกกันว่า เราจะให้เด็กเป็นศูนย์กลาง แต่แท้จริงแล้ว เราตอบคำถามได้หรือไม่ว่า เราออกแบบระบบการศึกษาเช่นนี้มาเพื่อใคร เพื่อเด็ก เพื่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อสังคมไทย ... หรือ มันเป็นแค่การทำธุรกิจไปแล้ว" ผศ.อรรถพล กล่าวทิ้งท้าย

รายงานโดย : สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง