ตรวจพิสูจน์ DNA “คนไทย” ตกหล่นจากทะเบียนราษฎร์ในมาเลเซีย

ภูมิภาค
29 พ.ค. 67
21:33
348
Logo Thai PBS
ตรวจพิสูจน์ DNA “คนไทย” ตกหล่นจากทะเบียนราษฎร์ในมาเลเซีย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รอยยิ้มแรกเกิดขึ้นกับครอบครัวซาและ ชาว จ.นราธิวาส ซึ่งสมาชิกในครอบครัว 4 คนไม่มีบัตรประชาชน หลังพ่อมาทำงานในมาเลเซีย และพี่น้องบางคนก็คลอดที่นี่ จึงไม่มีการรับรองสถานะทางทะเบียน การใช้ชีวิตจึงต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ

“ตั้งแต่เกิดมา หลายคนในครอบครัวลำบากมาก พ่อมาทำงานที่มาเลย์ พี่น้องหลายคนก็คลอดที่นี่ ก็ไม่ได้แจ้งเกิด เพราะไม่ได้กลับไทย เวลาล่วงเลยมาก็เป็นเรื่องยากแล้ว เวลาทำงานในมาเลย์ ก็ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ เรียนหนังสือก็เรียนไม่ได้ เวลาป่วยก็ต้องหาซื้อยากินเอง เพราะไปโรงพยาบาลไม่ได้” น.ส.สารีนา ซาและ กล่าว

ครอบครัวซาและเป็น 1 ในหลายครอบครัว ที่ร่วมโครงการตรวจสารพันธุกรรม หรือ ดีเอ็นเอ เพื่อช่วยเหลือคนไทยในมาเลเซีย ที่มีสถานะตกหล่นทางทะเบียน ที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย

หลายคนที่มารับจ้างทำงานในสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน หรือ แม้แต่แรงงานในร้านอาหารต้มยำกุ้ง ต่างก็มีความหวังว่า จะมีตัวตนในสถานะคนไทยหลังจากนี้ โดยเฉพาะบางคนอายุมากกว่า 60 ปีก็ยังไม่มีบัตรประชาชน

นายวรวีร์ ไวยวุฒิ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า โครงการนี้ รัฐจะออกค่าใช้จ่ายการตรวจดีเอ็นเอให้ทั้งหมด ซึ่งปกติจะตกที่คนละ 2,500 บาท จนถึง 10,000 บาท โดยพบว่า มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ที่ผลตรวจตรวจไม่ตรงกัน และการออกบัตรประจำตัวประชาชน ก็ทำได้หลังการตรวจแล้วเกือบร้อยละ 80

ในประเทศไทยมีผู้ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน คาดว่าจะมีมากกว่า 990,000 คน แต่สำหรับคนไทยในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และที่อาศัยในมาเลเซีย เราตั้งเป้าว่า ปัญหานี้จะทุเลาลงภายใน 3 ปี และภายใน 5 ปีจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้เกือบทั้งหมด

โครงการนี้ดำเนินการมา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2560 มีผู้เข้าร่วม 74 คน ปี 2561 มีผู้เข้าร่วม 90 คน ปี 2562 จำนวน 92 คน แต่ในช่วงปี 2563-2565 ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ได้ชะลอการดำเนินการออกไป

จนในปี 2566 มีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้น 97 คน โดย 70 คน สามารถออกบัตรประชาชนได้ทันที ซึ่งการเริ่มไว้วางใจของชาวบ้านที่หวาดกลัวในช่วงแรก ว่าจะถูกดำเนินคดี และการทำงานเชิงรุกทำให้ปีนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการมากขึ้นเป็น 235 คน

“ผมคาดหวังว่า โครงการนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาคนไทยไร้สัญชาติได้ มากพอสมควร และสร้างความเชื่อถือ ความไว้วางใจระหว่างคนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ กับรัฐได้มากขึ้น ซึ่งเราต้องทำต่อเนื่อง” นายภาษิต จูฑะพุทธิ กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็น 3 หน่วยงานหลักที่ผลักดันโครงการ แต่เงื่อนไขที่จะต้องให้กลับไปทำบัตรประชาชนใบแรกในไทย หลังได้รับผลตรวจดีเอ็นเอ และได้สูติบัตรแล้ว ทำให้หลายคนยังต้องใช้ช่องทางธรรมชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อปรับแนวปฏิบัติหรือกฎเกณฑ์ให้เอื้อต่อชาวบ้านมากขึ้น

รายงาน : ติชิลา พุทธสาระพันธ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้

อ่านข่าว : กกต.ปรับรูปแบบบัตรเลือก สว.รอบไขว้ ขจัดความสับสน

กกต.เปิดตัวเลข "ผู้สมัคร สว." ไม่ผ่านคุณสมบัติ 2,020 คน

สวมสิทธิชาวนา! ปลอมชื่อซื้อ “พันธุ์ข้าว” ราคาถูกไปขายแพง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง