UNHCR เรียกร้องให้ไทยตรวจสอบเรื่องการส่งชาวอุยเกอร์กลับจีน
นายโวคเคอร์ เติร์ก ผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่ด้านการคุ้มครองของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติระบุว่า การตัดสินใจของรัฐบาลไทยในการส่งตัวชาวมุสลิมอุยเกอร์จำนวน 115 คน ที่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่ปี 2557 กลับไปยังประเทศจีนเป็นการละเมิดกฎหมายสากลอย่างร้ายแรง โดยทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่ไทยส่งตัวออกไปทางเครื่องบินจำนวน 2 เที่ยวบินเมื่อวานนี้ (8 ก.ค.2558) ทั้งที่ชาวอุยเกอร์กลุ่มนี้ไม่ต้องการกลับไปที่จีน
นายเติร์กยังเรียกร้องให้ทางการไทยสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดและควรตระหนักถึงหลักการห้ามผลักดันกลับกับสิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นในกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งยุติการส่งผู้อพยพกลับประเทศในอนาคตอีกด้วย
ท่าทีแข็งกร้าวของผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่ด้านการคุ้มครองมีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลไทยเปิดเผยว่า ได้ส่งตัวชาวมุสลิมอุยเกอร์กลับไปยังประเทศจีนเมื่อวานนี้เนื่องจากตรวจพบหลักฐานว่าทั้งหมดมีสัญชาติจีน
ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2558 รัฐบาลไทยได้ส่งตัวชาวมุสลิมอุยเกอร์กว่า 170 คน โดยในจำนวนนี้มีทั้งผู้หญิงและเด็กกลับไปยังตรุกี
กลุ่มชาติพันธุ์อุยเกอร์มีประมาณร้อยละ 45 ของประชากรทั้งหมดในเขตปกครองตนเองอุยเกอร์ซินเจียงของจีน ชาวอุยเกอร์ไม่พอใจที่จีนดำเนินนโยบายควบคุมกิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม รวมทั้งการค้าของชาวอุยเกอร์ ทำให้ชาวอุยเกอร์บางส่วนต้องหนีออกไปหาที่พักพิงในต่างประเทศเนื่องจากถูกจีนกดดัน
กต.เตือนคนไทยในตุรกีติดตามข่าวสารใกล้ชิด แม้เหตุการณ์สงบแล้ว
สำหรับเหตุการณ์ที่ผู้ประท้วงชาวตุรกีบุกทำลายสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ของไทย ในนครอิสตันบูล เนื่องจากไม่พอใจที่ไทยส่งผู้อพยพชาวอุยเกอร์ไปยังจีนขณะนี้สงบลงแล้ว โดยกระทรวงการต่างประเทศว่าเหตุการณ์นี้ไม่มีคนไทยบาดเจ็บหรือได้รับผลกระทบ พร้อมกับเตือนให้คนไทยในตุรกีให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอังการา ของตุรกี ตรวจสอบความเสียหายของสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ นครอิสตันบูล หลังเกิดเหตุจราจลเกิดขึ้นเมื่อคืนที่ผ่านมา (8 ก.ค.2558) เมื่อชาวตุรกีกลุ่มหนึ่งบุกเข้าไปในอาคารสถานกงสุลใหญ่ จากความไม่พอใจที่รัฐบาลไทยส่งผู้อพยพชาวอุยเกอร์ ที่มีเชื้ัอสายเติร์กไปให้จีน จากการตรวจสอบไม่พบว่ามีคนไทยได้รับบาดเจ็บหรือได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ทางสถานทูตได้เตือนคนไทยที่อยู่ในตุรกีประมาณ 1,300 คนให้เพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้นและติดตามข่าวสารจากสถานเอกอัครราชทูตไทยอย่างใกล้ชิด
ด้านสถานทูตตุรกี ประจำประเทศไทย ได้ขอกำลังตำรวจดูแลเพิ่มเติม ซึ่งได้มีการส่งกำลังตำรวจเข้าไปรักษาความปลอดภัยแล้ว
นายกฯ มอบหมายกต.ดูแลคนไทยในตุรกี
พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงใยคนไทยซึ่งอยู่ในตุรกี ประมาณ 1,300 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่สถานกงสุล หลังเกิดเหตุกลุ่มคนบุกเข้าไปยังสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ในนครอิสตันบูล โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศประสานการดูแลคนไทยและขอให้รัฐบาลตุรกี ช่วยดูแลความปลอดภัยให้ด้วย พร้อมแจ้งเตือนคนไทยในตุรกีให้ดูแลตัวเอง ระหว่างที่รัฐบาลตุรกีกำลังสร้างความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องนี้
"ท่านนายกฯ เป็นห่วงคนไทยและเจ้าหน้าที่ทั้งที่สถานทูตไทยในกรุงอังการาและสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ในนครอิสตันบูล ได้บังคับบัญชาให้ดูแลด้านความปลอดภัย แต่ขอให้คนไทยระมัดระวัง ในส่วนของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้เร่งประสานงานกันแล้ว" รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว
พล.ต.วีรชน ระบุว่า ไทยได้ส่งชาวอุยเกอร์กลับไปจีนกว่า 100 คน หลังตรวจสอบพบว่า มีถิ่นพำนักในจีน แต่ฝ่ายความมั่นคงของไทย ได้หารือกับฝ่ายความมั่นคงของจีน ถึงข้อกังวลต่าง ๆ และได้รับการยืนยันว่า จะให้การดูแลความปลอดภัย และให้คนกลุ่มนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตามหลักมนุษยธรรมและยังเปิดเผยว่าช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ไทยก็ส่งตัวชาวอุยเกอร์กว่า 170 คน ไปยังประเทศตุรกีเช่นกัน แม้จีนจะไม่เห็นด้วย แต่ผ่านขั้นตอนการตรวจพิสูจน์สัญชาติแล้ว และไม่พบว่า มีการกระทำความผิด และขณะที่ยังมีชาวอุยเกอร์อีกกว่า 50 คน ที่ยังรอการพิสูจน์สัญชาติจนชัดเจน จึงจะกำหนดว่าจะส่งไปยังประเทศใด
ตม.สงขลาเผยชาวอุยเกอร์ 23 คนอยู่ที่ ตม.สะเดา
เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดสงขลา ระบุว่าชาวอุยเกอร์ยังคงอยู่ในการดูแลของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 20 คน จากที่ควบคุมตัวได้เกือบ 300 คนก่อนหน้านี้
จากการตรวจสอบข้อมูลไปยังตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จ.สงขลาทราบว่าขณะนี้มีชาวอุยเกอร์ ซึ่งเป็นผู้ชายถูกกักตัวอยู่ที่อาคารกักตัวตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสะเดาจำนวน 23 คน ส่วนชาวอุยกูร์ผู้หญิงและเด็กทั้งหมดถูกส่งไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เดือนที่แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลากล่าวว่าไม่ทราบว่าชาวอุยเกอร์ที่ส่งตัวไปอยู่ในการดูแลที่กรุงเทพมหานครนั้นมีการจัดการอย่างไรต่อ แต่ยอมรับว่าการจัดการปัญหานี้ได้สร้างความลำบากใจต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากหากจัดการไม่ดีอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งกับประเทศจีนและประเทศตุรกี