น้ำยมเพิ่มสูงไหลผ่านสุโขทัย เฝ้าระวังจุดเสี่ยงล้นตลิ่ง

ภัยพิบัติ
7 ส.ค. 67
20:09
750
Logo Thai PBS
น้ำยมเพิ่มสูงไหลผ่านสุโขทัย เฝ้าระวังจุดเสี่ยงล้นตลิ่ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สถานการณ์น้ำท่วมเวลานี้ต้องเฝ้าระวังทั้งน้ำเหนือ น้ำเขื่อนและฝนที่ตกลงมาเติม ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักตอนบนเพิ่มสูงขึ้นจึงต้องพร่องน้ำป้องกันน้ำล้นตลิ่ง โดยที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษคือแม่น้ำยมที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัย

วันนี้ (7 ส.ค.2567) ระดับน้ำในแม่น้ำยม จ.สุโขทัย เพิ่มสูงขึ้น โดยมีจุดเสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง 3 จุดที่เฝ้าระวังคือ ต.ยางซ้าย, ต.ปากแคว อ.เมืองสุโขทัย และบริเวณสะพานสิริปัญญารัต ต.วังใหญ่ อ.ศรีสำโรง ซึ่งสาเหตุที่น้ำเพิ่มสูงขึ้นเพราะฝนตกหนักด้านบนจาก จ.แพร่ ไหลลงสู่สุโขทัย

แผนระบายน้ำหลัก ๆ 2 แนวทาง คือ ระบายออกทางแม่น้ำยมสายเก่า ผ่านประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ และพร่องน้ำผ่านแม่น้ำยมที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัย โดยทุกปีจะสังเกตการณ์ที่จุดวัดน้ำ Y4 หน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะใกล้เขตเศรษฐกิจชั้นในมากที่สุด ส่วนพื้นที่ต่อไปที่ต้องรับน้ำคือ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และ จ.พิจิตร ก่อนไหลเข้า จ.นครสวรรค์ ต่อไป

ระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา รับมวลน้ำเหนือ

น้ำเหนืออาจไหลมาสมทบในแม่น้ำเจ้าพระยา และทำให้เขื่อนเจ้าพระยาต้องเพิ่มการระบายน้ำลงสู่ลุ่มน้ำภาคกลาง ประกอบกับฝนที่คาดว่าจะตกหนักในวันที่ 8 ส.ค.นี้ จึงมีคำเตือนไปยัง 11 จังหวัดให้เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง โดยเขื่อนเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท ยังคงอัตราการระบายน้ำลงท้ายเขื่อนที่ 800-1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งยังต่ำกว่าระดับวิกฤต (ระดับวิกฤต 2,840 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที)

กรมชลประทาน มีแผนจะปรับอัตราการระบายน้ำให้อยู่ที่ 1,000 ลูกบาศ์กเมตรต่อวินาทีในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ซึ่งจะส่งผลต่อพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกันน้ำ ริมคลองโผงเผง จ.อ่างทอง, บ้านริมคลองใน อ.บางบาล อ.เสนา และ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา

เมื่อดูพื้นที่รับน้ำในภาคกลางอย่าง จ.อ่างทอง ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่ล้นตลิ่ง ขณะที่ใน อ.เมืองอ่างทอง ยังห่างจากแนวคันกั้นน้ำ 6 เมตร ทำให้ผู้ประกอบการกระชังปลาตรวจสอบความแข็งแรงของแพปลา เตรียมรับน้ำเหนือ แต่สิ่งที่ชาวบ้านกังวลคือระบบแจ้งเตือนภัยชำรุด

ทั้งนี้ อีก 86 วันสิ้นสุดฤดูฝน เมื่อดูปริมาณน้ำใช้การใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำใช้การเพียง 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และยังเหลือพื้นที่กักเก็บน้ำ 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเทียบเท่ากับปริมาณน้ำครึ่งหนึ่งของ “เขื่อนภูมิพล” ดังนั้นการที่กรมชลประทานจะพร่องน้ำเพื่อรองรับพายุฝน 1-2 ลูกจึงเป็นเป็นเรื่องยาก

ระดับน้ำโขงเพิ่มสูงท่วมพื้นที่การเกษตร

ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ไหลผ่าน จ.บึงกาฬ เพิ่มสูงขึ้น โดย 4 วันที่ผ่านมาระดับน้ำสูงขึ้นเกือบ 4 เมตร อยู่ห่างจุดวิกฤต 80 เซนติเมตร ท่วมพื้นที่การเกษตร ส่วนน้ำโขงที่ไหลผ่าน จ.หนองคาย เพิ่มสูงขึ้นและไหลแรง เพราะฝนตกหนักทั้งฝั่งไทยและลาว

ขณะที่ จ.เลย ฝนตกตอนบนทำให้น้ำป่าจากเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูหลวง ไหลลงสู่แม่น้ำเลย ล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนใน อ.ภูหลวง และถนนเส้นทางบ้านโนน-บ้านนาถูกตัดขาด

อ่านข่าว

ชป.วางแนวทางผันน้ำเลี่ยงเมืองตราด ลดระบายน้ำผ่านเมืองตราด

แม่น้ำโขง จ.บึงกาฬ เพิ่มสูงสุดในรอบปี แตะระดับ 10 ม.

"เศรษฐา" ย้ำกรมชลฯ จัดการน้ำรับมือฝน ลดผลกระทบ ปชช.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง