จับตาแผ่นดินไหว "นันไกทรัฟ" สึนามิถล่ม ต้องหนีตายใน 3 นาที

ต่างประเทศ
9 ส.ค. 67
17:46
6,783
Logo Thai PBS
จับตาแผ่นดินไหว "นันไกทรัฟ" สึนามิถล่ม ต้องหนีตายใน 3 นาที
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ญี่ปุ่นประกาศเตือน ปชช. เตรียมรับมือเฝ้าระวัง "แผ่นดินไหวนันไกทรัฟ" ที่สามารถสร้างความรุนแรงและเสียหายเป็นวงกว้าง คาดเกิดทุก ๆ 100-150 ปี หลังแผ่นดินไหว 7.1 ที่ฟูกูโอกะ มีโอกาสเป็น "การแจ้งเตือน" ว่าจะเกิดเหตุครั้งใหญ่ใน 1 สัปดาห์นี้

เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2567 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ญี่ปุ่นออกคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิด "แผ่นดินไหวรุนแรง" เพิ่มขึ้นในช่วง 1 สัปดาห์ต่อจากนี้ หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.1 นอกชายฝั่งทางตะวันตกของประเทศ

แผ่นดินไหวขนาด 7.1 ที่เกิดขึ้นส่งผลให้มีการประกาศเตือนภัยสึนามิในพื้นที่ จ.มิยาซากิ สำนักข่าว NHK รายงานว่าหน้าต่างที่สนามบินมิยาซากิใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวแตก ส่วนสำนักงานกำกับดูแลนิวเคลียร์รายงานว่า เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้ง 12 เครื่อง รวมทั้งเครื่องปฏิกรณ์ 3 เครื่องที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันบนเกาะคิวชูและชิโกกุ ยังคงปลอดภัย

คำเตือนให้เฝ้าระวังแผ่นดินไหวนันไกทรัฟ

คำเตือนให้เฝ้าระวังแผ่นดินไหวนันไกทรัฟ

คำเตือนให้เฝ้าระวังแผ่นดินไหวนันไกทรัฟ

ด้านสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นรายงานว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้มีศูนย์กลางอยู่ในน่านน้ำนอกชายฝั่งตะวันออกของเกาะคิวชู เกาะหลักทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ที่ความลึกประมาณ 30 กิโลเมตร และออกคำเตือนต่อสาธารณะเป็น "ครั้งแรก" เกี่ยวกับ "นันไกทรัฟ Nankai Trough" หรือ แผ่นดินไหวระดับรุนแรงมากที่บริเวณร่องน้ำนันไก หลังสอบสวนแล้วพบความเชื่อมโยง โดยมีประกาศเตือนระดับสีเหลือง ให้ประชาชนเฝ้าระวังการเกิดแผ่นดินไหวที่อาจมีความรุนแรงมากกว่า 7 ขึ้นไปในสัปดาห์หน้า และหลังจากนั้นอาจยังมีต่อเนื่องอีก 

ย้ำว่า ไม่ได้เตือนว่าจะเกิดแน่ ๆ แต่มีโอกาสที่จะเกิด หากเกิด จะเกิดขนาดรุนแรงมากกว่า 7 

ตามข้อมูลของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ระบุว่า แผ่นดินไหวที่เกิดบริเวณร่องน้ำนันไก จะเกิดขึ้นทุก ๆ 100-150 ปี ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือน ธ.ค.2489 แผ่นดินไหวขนาด 8.1 และคลื่นสึนามิสูงถึง 6 เมตร คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 1,300 ราย

เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการวิจัยแผ่นดินไหวของญี่ปุ่นคาดการณ์ว่ามีโอกาสร้อยละ 70-80 ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8-9 ขึ้นบริเวณใกล้ร่องน้ำนันไกภายใน 30 ปีข้างหน้า

สถานทูตไทยในเมืองฟูกูโอกะ แจ้งช่องทางติดต่อให้ประชาชนไทยในญี่ปุ่น เฝ้าระวังเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

สถานทูตไทยในเมืองฟูกูโอกะ แจ้งช่องทางติดต่อให้ประชาชนไทยในญี่ปุ่น เฝ้าระวังเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

สถานทูตไทยในเมืองฟูกูโอกะ แจ้งช่องทางติดต่อให้ประชาชนไทยในญี่ปุ่น เฝ้าระวังเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

อ่านข่าว : ญี่ปุ่นแผ่นดินไหว 7.1 เตือน "คนไทย" ทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด

รู้จัก "Nankai Trough" หรือร่องน้ำลึกนันไก

บริเวณแนวชายฝั่งตอนกลางและตะวันตกของญี่ปุ่นมีแนวร่องลึกทอดยาวอยู่ที่ก้นมหาสมุทรแปซิฟิก ความยาวกว่า 700 กิโลเมตร ตั้งแต่อ่าวซูรูงะ นอกชายฝั่งของ จ.ชิซูโอกะ ไปจนถึงทะเลฮิวงานาดะ นอกชายฝั่งทางตะวันออกของคิวชู แนวร่องลึกที่เรียกว่า "แนวร่องน้ำลึกนันไก" ก่อตัวขึ้นเมื่อแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิกมุดตัวใต้แผ่นเปลือกโลกที่เป็นแผ่นดินซึ่งหมู่เกาะญี่ปุ่นตั้งอยู่

บริเวณร่องน้ำลึกนันไก รอยมุดของแผ่นเปลือกโลก

บริเวณร่องน้ำลึกนันไก รอยมุดของแผ่นเปลือกโลก

บริเวณร่องน้ำลึกนันไก รอยมุดของแผ่นเปลือกโลก

ขณะที่แผ่นเปลือกโลกหนึ่งมุดจมลงอยู่ใต้อีกแผ่นหนึ่ง จะเกิดพลังงานตึงเครียดที่สะสมตามแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก เมื่อพลังงานตึงเครียดถึงขีดสูงสุด ทันใดนั้นแผ่นเปลือกโลกจะสั่นสะเทือน ส่งคลื่นไหวสะเทือนออกมา ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มาก เช่น แผ่นดินไหวตามแนวร่องน้ำลึกนันไก

หลักการมุดตัวของเปลือกโลก

หลักการมุดตัวของเปลือกโลก

หลักการมุดตัวของเปลือกโลก

ในประวัติศาสตร์ แผ่นดินไหวที่มีขนาด 8 ได้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ตามแนวร่องลึกน้ำนันไกทุก ๆ 100-150 ปี โดยครั้งล่าสุดเกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาด 8 เมื่อปี พ.ศ.2489 ทำให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงทั่วภาคตะวันตกของญี่ปุ่น ถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ธรรมดาในมุมมองด้านแผ่นดินไหว ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวาง ทำลายบ้านเรือนไปกว่า 36,000 หลังในเกาะฮอนชูตอนใต้เพียงแห่งเดียว แผ่นดินไหวครั้งนี้ยังก่อให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ที่พัดบ้านเรือนไปกว่า 2,100 หลังด้วยคลื่นสูง 5–6 เมตร

ภาพในอดีต ความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหวนันไกทรัฟ เมื่อปี พ.ศ.2489

ภาพในอดีต ความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหวนันไกทรัฟ เมื่อปี พ.ศ.2489

ภาพในอดีต ความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหวนันไกทรัฟ เมื่อปี พ.ศ.2489

แผ่นดินไหวนันไกทรัฟ คาดทำคนตายกว่า 2 แสน

แทบทุกครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นบริเวณทางตะวันตกของประเทศ "นันไกทรัฟ หรือ ร่องน้ำลึกนันไก" จะถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อหาความเชื่อมโยง ซึ่งแทบไม่เคยปรากฏว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกันระหว่าง การเกิดแผ่นดินไหวทั่วไป และ การเกิดแผ่นดินไหวที่นันไกทรัฟเลย 

แต่ "แผ่นดินไหวนันไกทรัฟ" กลับถูกนำมาพูดถึงหลังจากเกิดแผ่นดินไหว 7.1 เมื่อวานนี้ (8 ส.ค.2567) อาจเป็นแผ่นดินไหว "เตือนล่วงหน้า" ว่าแผ่นดินไหวนันไกทรัฟกำลังจะตามมา และสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ก็ระบุว่า อาจเกิดในอีก 1 สัปดาห์หลังจากนี้ 

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าแรงสั่นสะเทือนรุนแรงตั้งแต่ระดับ 6-7 ตามมาตรวัดแผ่นดินไหวของญี่ปุ่นที่มีตั้งแต่ระดับ 0 ถึง 7 นั้น อาจสั่นนานนับนาทีในเหตุแผ่นดินไหวนันไกทรัฟ และประมาณการว่าผู้คนราว 82,000 คนอาจเสียชีวิตจากอาคารที่พังถล่ม

สึนามิที่สูงถึง 34 เมตรอาจพัดเข้าชายฝั่ง จ.โคจิ ทางตะวันตกของญี่ปุ่น ซึ่งใกล้กับบริเวณศูนย์กลางของแผ่นดินไหว และสึนามิสูง 5 เมตรอาจพัดเข้าชายฝั่งของเมืองใหญ่แห่งต่าง ๆ เช่น นาโกยะ และ โอซากะ

อีกลักษณะหนึ่งของแผ่นดินไหวนันไกทรัฟ ก็คือบริเวณศูนย์กลางแผ่นดินไหวนั้นใกล้กับแนวชายฝั่ง ด้วยเหตุนี้ "สึนามิ" อาจถึงแผ่นดินในเวลาอันสั้นหลัง บางพื้นที่อาจมาถึงภายในเวลาแค่ 2 นาที

ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ผู้คนมากถึง 230,000 คนอาจเสียชีวิต ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในภัยพิบัติปี 2554 กว่า 10 เท่า

เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจสูญเสียรายได้มากถึง 214 ล้านล้านเยน ซึ่งมากกว่าความเสียหายจากภัยพิบัติปี 2554 กว่า 10 เท่า และคิดเป็น 2 เท่าของงบประมาณรวมทั้งหมดของประเทศ

เตือน ปชช.ปฏิบัติตามแผนเผชิญ "แผ่นดินไหวนันไกทรัฟ"

หลังมีคำเตือนสีเหลือง หรือให้ประชาชนเฝ้าระวังและติดตามข่าวสารตลอดเวลา รัฐบาลญี่ปุ่นแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตามแนวทาง "ข้อมูลพิเศษเรื่องแผ่นดินไหวตามแนวร่องลึกนันไก" ดังต่อไปนี้ 

  • ประชาชนสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามปกติต่อไปได้ แต่ให้เตรียมพร้อมสำหรับแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้น
  • มั่นใจว่าเฟอร์นิเจอร์ทั้งหลายถูกตรึงไว้อย่างมั่นคง ตรวจสอบตำแหน่งที่ตั้งของศูนย์อพยพหลบภัย รวมถึงเส้นทางการอพยพ
  • เมื่อมีการออกประกาศข้อมูลที่ใช้คำว่า "เตือนภัยแผ่นดินไหวใหญ่" ประชาชนใน "เขตอพยพก่อน" ควรอพยพล่วงหน้า 1 สัปดาห์ 
  • โรงเรียนและธุรกิจที่อยู่นอกเขตอพยพก่อน ควรดำเนินกิจกรรมต่อไปตามปกติ แต่ให้เฝ้าระวังไปในขณะเดียวกัน 
  • หากคำเตือนให้อพยพก่อนถูกยกเลิก ก็ให้ประชาชนเฝ้าระวังไปอีก 1 สัปดาห์ เพราะไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีความเสี่ยงเรื่องแผ่นดินไหวอีกต่อไป
  • ประชาชนที่อาศัยหรือทำงานในเขตอพยพก่อนควรตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจากทางการท้องถิ่น ก่อนกลับเข้าสู่บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย 

แผ่นดินไหวนันไกทรัฟทำเกิดสึนามิใน 3 นาที 

คณะทำงานด้านแผ่นดินไหวของรัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์เกี่ยวกับสึนามิที่เกิดตามมาหลังแผ่นดินไหวนันไกทรัฟ ระบุว่า อาจะเกิดสึนามิตามมา สูงถึงระดับ 10 เมตร ใน 5 นาที ที่ จ.ชิซูโอกะ, 12 นาทีในหมู่เกาะอิซุ และ 16 นาที ใน จ.มิเอะ

ส่วนระยะเวลาที่คลื่นสึนามิจะสูงถึง 20 เมตรนั้นอยู่ที่ 7 นาที ใน จ.ชิซูโอกะ และ 13 นาทีในหมู่เกาะอิซุ โดยคาดว่าคลื่นสึนามิที่เกิดตามแนวร่องน้ำลึกนันไก จะเป็นสึนามิที่มีขนาดใหญ่กว่าและเร็วกว่า เมื่อเทียบกับสึนามิจากเหตุแผ่นดินไหวปี 2554

เมืองนาจิคัตสึอูระซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งใน จ.วากายามะ ทางตะวันตกของญี่ปุ่น คาดสึนามิจะมาถึงเมืองใน 3 นาที โดยสึนามิอาจสูงถึง 18 เมตร

มีการจำลองสถานการณ์ในเมืองโอวาเซะ จ.มิเอะ ชี้ให้เห็นว่า ถ้าประชาชน 16,917 คนซึ่งอาศัยอยู่ใจกลางเมืองนี้เริ่มอพยพหลังเกิดแผ่นดินไหว 20 นาที จะมี 3,201 คนที่ไม่อาจหนีสึนามิได้และเสียชีวิต แต่หากประชาชนเริ่มอพยพหลังเกิดแผ่นดินไหว 5 นาที ทุกคนจะสามารถหนีสึนามิได้อย่างปลอดภัย

สำนักคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเมื่อปี 2562 ระบุว่า หากผู้คนจำนวนมากเริ่มอพยพแต่เนิ่น ๆ ยอดเสียชีวิตทั่วประเทศจะลดลงไปถึงราวร้อยละ 80

อ่านข่าวอื่น :

“พาณิชย์”เคาะเปิดเงื่อนไข 25 ก.ย. 67 ร้านค้าร่วมดิจิทัลวอลเล็ต

คาร์บอมบ์หน้า สภ.ปัตตานี ยังไม่มีรายงานคนเจ็บ-เสียชีวิต

ด่วน! ระเบิดในอู่ต่อเรือย่านบางไทร เบื้องต้นเสียชีวิต 2 คน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง