ราชทัณฑ์ แจง "ทักษิณ" พ้นโทษ 31 ส.ค.ไม่เกี่ยวผู้ต้องขังอภัยโทษทั่วไปปี 67

อาชญากรรม
14 ส.ค. 67
12:08
15,529
Logo Thai PBS
ราชทัณฑ์ แจง "ทักษิณ" พ้นโทษ 31 ส.ค.ไม่เกี่ยวผู้ต้องขังอภัยโทษทั่วไปปี 67
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
โฆษกกรมราชทัณฑ์ แจง "ทักษิณ ทักษิณ"เตรียมพ้นโทษสิ้นเดือน ส.ค.นี้ ไม่อยู่ในบัญชีผู้ต้องขังอภัยโทษทั่วไปปี 2567 เหตุ หลัง ครม.ถกลับวาระจรหลักเกณฑ์ขออภัยโทษบางกรณี

วันนี้ (14 ส.ค.2567) นพ.สมภพ สังคุตแก้ว รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า สำหรับการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้เสนอวาระจร เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป อภัยโทษหมู่เนื่องในวาระมหามงคล ไม่ใช่หลักเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษสำหรับบุคคลบางกรณี โดยปกติแล้วจะมีการกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ลงในประกาศพระราชกฤษฎีกา โดยระบุเป็นรายมาตราซึ่งจะแตกต่างกันออกไป

อาทิ คุณสมบัติของผู้ต้องราชทัณฑ์ ว่าต้องเป็นผู้ต้องขังจากรายคดีใด ผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นใด ต้องรับโทษจำคุกมาแล้วกี่ปี และเหลือโทษเท่าไร อีกทั้งจะมีการระบุรายละเอียดการพ้นโทษด้วยว่าจะให้เป็นผลอย่างไร เช่น ให้ผู้ต้องขังรับโทษจำคุกต่อไปเหลือกี่ปี หรือให้พ้นโทษทันที

นพ.สมภพ ระบุว่าขณะนี้เรือนจำและทัณฑสถานต่าง ๆ ยังอยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อผู้ต้องขังเพื่อส่งมายังกรมราชทัณฑ์รับทราบว่ามีจำนวนผู้ต้องขังที่มีเกณฑ์ได้รับการอภัยโทษเป็นการทั่วไปเท่าไหร่ อีกทั้งในที่ประชุม ครม.ก็ยังไม่มีระบุถึงรายละเอียดของประกาศกฤษฎีกา ว่าจะมีการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปหรือไม่ โดยตามขั้นตอนแล้วในวาระวันมหามงคล กรมราชทัณฑ์ โดยเรือนจำ ทัณฑสถานทั่วประเทศ จะมีการจัดทำสำรวจรายชื่อและคุณสมบัติของผู้ต้องขังที่มีเกณฑ์เบื้องต้นเข้าข่ายอาจได้รับการพิจารณาอภัยโทษเป็นการทั่วไป

ส่วนเกณฑ์การอภัยโทษเป็นการทั่วไปในชั้น ครม. ที่ใช้พิจารณากันมักจะมีการกำหนดคุณสมบัติผู้ต้องขังลงในกฤษฎีกา ดังนี้

เป็นผู้ต้องขังโทษเหลือน้อยไม่ถึงปี , เป็นผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย , เป็นผู้ต้องขังที่รับโทษจำคุกมาแล้ว 1 ใน 3 , เป็นผู้ต้องขังชั้นดี ,เป็นผู้ต้องขังที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีแนบท้าย เป็นต้น

จากนั้นกรมราชทัณฑ์ โดยเรือนจำและทัณฑสถาน จึงจะนำคุณสมบัติที่ปรากฏในกฤษฎีกาไปทำการค้นหาผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อดำเนินการตามสิทธิประโยชน์ของผู้ต้องขัง ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยตัวพ้นโทษ หรือการลดโทษ

ส่วนของรายคดีที่ได้รับการยกเว้นไม่เข้าหลักเกณฑ์อภัยโทษเป็นการทั่วไป ได้แก่ คดียาเสพติดร้ายแรง คดีเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย (คดีอุกฉกรรจ์) คดีที่ผู้ต้องขังรายนั้น ๆ ยังอยู่ระหว่างกระบวนการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา

เมื่อถามว่ากรณีของพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2565 ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พบว่า มาตรา 3 บางวรรคระบุถึง ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ หมายความว่า นักโทษเด็ดขาดซึ่งเป็นผู้ได้รับการพักการลงโทษตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร หรือได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์ ซึ่งมิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขแห่งการพักการลงโทษ หรือการลดวันต้องโทษจำคุก ก่อนหรือในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ กรณีนี้เข้าเกณฑ์สอดคล้องกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ หากภายในปี 2567 มีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปนั้น

อ่านข่าว : "ราชทัณฑ์" แจงปมวันพ้นโทษ "ทักษิณ" 31 ส.ค.นี้

นพ.สมภพ กล่าวว่า นายทักษิณ ชินวัตร กำลังจะครบกำหนดพักการลงโทษ และจะพ้นโทษในสิ้นเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งอภัยโทษเป็นการทั่วไปจะไม่มีผลใดกับนายทักษิณ ทั้งนี้พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปในแต่ละครั้งจะมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ก็อาจมีความคล้ายเดิมอยู่บ้าง 

ส่วนในกรณีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกศาลตัดสินจำคุกคดีจำนำข้าว มีเกณฑ์อาจได้รับการอภัยโทษเป็นการทั่วไปหรือไม่ นพ.สมภพ กล่าวว่า ต้องดูว่านายบุญทรงเหลือโทษจำคุกกี่ปี แต่หากมีคุณสมบัติอยู่ในบัญชีแนบท้ายของพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษที่จะเกิดขึ้น แล้วถูกมองว่าเป็นคดีความมั่นคง ก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ ซึ่งต้องรอดูรายละเอียดจากกฤษฎีกาในชั้น ครม. เช่นเดียวกัน 

อ่านข่าว :

“ทักษิณ” พบ “ประยุทธ์” การเมืองลงตัว-ไปต่อ

"เศรษฐา" ปัดตีตัวห่าง "ทักษิณ" ปมดรามา "ประยุทธ์" มางานศพแม่ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง