ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ฟื้นฟูเวียงกุมกาม หลังน้ำท่วมหนัก

ภูมิภาค
2 ต.ค. 67
18:07
570
Logo Thai PBS
ฟื้นฟูเวียงกุมกาม หลังน้ำท่วมหนัก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ และ เจ้าหน้าที่ ปภ.เชียงใหม่ ใช้เครื่องสูบน้ำ สูบน้ำออกจากบริเวณ วัดหนานช้าง 1 ใน 6 วัดใต้ดินที่ได้รับการขุดค้นภายในเมืองโบราณเวียงกุมกาม อ.สารภี จ.เชียงใหม่ หลังแม่น้ำปิงไหลบ่าเข้าท่วม แม้สถานการณ์จะคลี่คลาย

โดยเฉพาะที่ วัดกู่ป้าด้อม ซึ่งถูกน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร ล่าสุดแม้ระดับจะเริ่มลดลง แต่พระพุทธรูป ฐานเจดีย์ ซุ้มประตูโขง กำแพงแก้ว และ ปูนปั้นประดับราวบันไดรูปมกรคายมังกร ซึ่งถือเป็นลักษณะพิเศษ ที่พบเป็นแห่งแรกในล้านนายังจมอยู่ใต้น้ำ

วัดกู่ป้าด้อม

วัดกู่ป้าด้อม

วัดกู่ป้าด้อม

ส่วนที่วัดช้างค้ำ หรือ วัดกานโถม วัดแห่งแรกที่มีการค้นพบเวียงกุมกาม นอกจากจะมีน้ำท่วมขังแล้ว ต้นไม้ใหญ่ยังหักโค่นล้มอยู่ในภายโบราณสถานด้วย ทั้งหมดเป็นสิ่งสะท้อนว่า น้ำท่วมครั้งนี้รุนแรงกว่าน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2565

วัดช้างค้ำ หรือ วัดกานโถม

วัดช้างค้ำ หรือ วัดกานโถม

วัดช้างค้ำ หรือ วัดกานโถม

ประสิทธิ์ พุทโธ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านใหม่เจริญธรรม จุดที่ตั้งของ วัดกู่ป้าด้อม ยืนยันว่า น้ำท่วมปีนี้ สร้างความเสียหายหนักกว่าทุกปี ระดับน้ำสูงประมาณ 2 เมตร ชาวบ้านต่างได้รับผลกระทบทั้งชุมชน แม้น้ำจะลดลงแล้วแต่ยังเฝ้าระวังน้ำที่อาจท่วมซ้ำ ส่วนปัญหาสำคัญของชาวบ้าน คือ ขยะที่ตกค้างหลายตัน

ประสิทธิ์ พุทโธ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านใหม่เจริญธรรม

ประสิทธิ์ พุทโธ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านใหม่เจริญธรรม

ประสิทธิ์ พุทโธ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านใหม่เจริญธรรม

ปัญหาคือ ชุมชนมีหลายหมู่บ้าน รถขนขยะไม่เพียงพอ ชาวบ้านต้องช่วยเหลือกันเอง ผู้ใหญ่บ้านต้องไปขอยืมรถขนขยะจากเอกชนเพื่อเร่งขนขยะของหมู่บ้าน ปริมาณกว่า 2-3 ตัน และสิ่งที่ชาวบ้านกังวล คือ โบราณสถานต่างๆ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวเชียงใหม่ หน่วยงานภาครัฐ กำลังเร่งสูบระบายน้ำและเตรียมฟื้นฟูสภาพ

เทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ระบุว่า น้ำท่วมที่เกิดขึ้นมาจากการไหลบ่าของแม่น้ำปิงเข้ามาตามคลองสาขา ซึ่งเป็นลำเหมืองสาธารณะ หรือ คูเมืองเก่าของเวียงกุมกามในอดีต แต่เนื่องจากพื้นที่โบราณสถานเวียงกุมกามอยู่ในที่ลุ่มต่ำ น้ำที่ท่วมจึงกลายเป็นน้ำค้างอยู่ในตัวโบราณสถาน

สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้เร่งประสานงานกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาร่วมตรวจสอบและติดตั้งเครื่องสูบน้ำ โดยการสูบน้ำจะใช้วิธีการค่อยๆ สูบเลี้ยงระดับน้ำ เพื่อให้โบราณสถานค่อยๆ คลายความชื้นออกมา ให้มีการปรับตัว จะไม่สูบน้ำจนแห้งทั้งหมด เพราะห่วงว่าการปรับเปลี่ยนสถานะโดยฉับพลัน จะทำให้เกิดความเสียหายได้

 วัดหนานช้าง

วัดหนานช้าง

วัดหนานช้าง

ซึ่งโบราณสถานในเวียงกุมกามที่วิกฤต และ ต้องเร่งดำเนินการ มีอยู่ประมาณ 5-6 แห่ง เช่น วัดธาตุขาว ซึ่งดำเนินการสูบน้ำไปแล้ว รวมไปถึง วัดหนานช้าง วัดปู่เปี้ย วัดกู่ป้าด้อม แล้ว วัดอีก้าง ซึ่งทางสำนักศิลปากรที่ 7 เตรียมสำรวจเวียงกุมกามอย่างละเอียด หลังเผชิญน้ำท่วมใหญ่ปีเว้นปี

เทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่

เทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่

เทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่

ตอนนี้สิ่งที่กังวลคือ โบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่งบูรณะมาเนิ่นนานแล้ว และ ผ่านอุทกภัยน้ำท่วม ปี 2565 และ 2567 หลังจากนี้ ต้องเร่งสำรวจว่าหลังจากที่น้ำลดแล้ว น้ำที่เข้ามาท่วมสร้างผลกระทบอะไรให้กับโครงสร้างตัวโบราณสถานบ้าง อาจจะมีในส่วนของการหลุดร่วงของชิ้นส่วนของโบราณสถาน มีการแทรกซึมเข้าไปของน้ำแล้วทำให้โครงสร้างด้านในอ่อนตัว และ เกิดการยุบตัวได้

สำหรับแนวทางการป้องกันปัญหาน้ำท่วมในอนาคต ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ให้ความเห็นว่า รูปแบบผังเมือง หรือสิ่งกีดขวางทางน้ำ ถือเป็นสิ่งสำคัญ การแก้ปัญหาการน้ำท่วมขังในพื้นที่ต้องมองในภาพใหญ่ เพราะเวียงกุมกามอยู่ติดแม่น้ำปิง หากเกิดภัยธรรมชาติ แม่น้ำปิงเพิ่มระดับสูงขึ้น ก็ยังมีโอกาสสูงที่น้ำจะไหลเข้าท่วมเมืองโบราณที่อยู่ท่วมกลางชุมชนใหญ่

อ่านข่าว : ไทยเข้าฤดูหนาวสัปดาห์ที่ 3 เดือน ต.ค. กรุงเทพหนาวสุด 16 องศา

สทนช.เฝ้าระวังความเสี่ยงพายุอีกลูกปลายฤดูฝนนี้

ทัศนศึกษาไม่ควรยกเลิก นักวิชาการชี้ต้องสร้างโลกปลอดภัยให้เด็ก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง