วันนี้ (30 ต.ค.2567) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) กล่าวว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานต่อ ศปช. ว่า แจ้งเตือนการเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง 2-12 พ.ย.นี้
เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำมีระดับเพิ่มสูงขึ้น จึงมีโอกาสเกิดน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำแม่กลอง ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราว บริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรสงคราม
เจ้าพระยาลดการปรับระบายน้ำเหลือ 700 ลบ.ม.ต่อวินาที
ส่วนปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องใน อัตรา 1,679 ลบ.ม.ต่อวินาที ลดลงจากเมื่อวาน 80 ลบ.ม.ต่อวินาที ปริมาณน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยา 2,038 ลบ.ม.ต่อวินาที การระบายน้ำที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาล่าสุดวันนี้ (30 ต.ค.) ปรับลดเหลือ 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที
คาดการณ์ว่าภายใน 7 วันข้างหน้า ปริมาณน้ำที่สถานี C.2 จะลดลงอยู่ที่ 1,300-1,400 ลบ.ม.ต่อวินาที และคาดว่าจะมีการระบายน้ำท้ายเขื่อนอยู่ที่อัตรา 700 ลบ.ม.ต่อวินาที ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพ.ย.นี้
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า ส่วนสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม 12 อำเภอ 146 ตำบล 943 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 34,892 ครัวเรือน กรมชลประทาน เร่งกำจัดวัชพืชคลองแคราย ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เพิ่มความสามารถการระบายน้ำในคลองให้ไหลได้สะดวกรวดเร็ว ป้องกันน้ำท่วมขังในพื้นที่เกษตรกรและชุมชน
สำนักงานชลประทานที่ 12 ดำเนินการกำจัดวัชพืชและผักตบชวา บริเวณคลองระบายใหญ่สองพี่น้อง หน้า ปตร. สองพี่น้อง ต.โพธิ์พระยา อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำและลดการแพร่ขยายพันธุ์ของวัชพืชผักตบชวา
สำนักงานชลประทานที่ 13 ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง บริเวณ ม.7 ต.บ้านยาง อ.เมือง จ.นครปฐม เพื่อสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่เกษตรที่ถูกน้ำท่วมขังกว่า 100 ไร่
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.)
อากาศเย็นระลอกใหม่ 1-5 พ.ย.นี้
สำหรับช่วงวันที่ 1-5 พ.ย.นี้ บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานลางถึงค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ภาคใต้ตอนบน และทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ในระยะแรก
หลังจากนั้นจะมีอากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝน
อ่านข่าว
"พายุกองเร็ย" เข้าไต้หวัน 31 ต.ค.-1 พ.ย. แนะเช็กอากาศ
ตื่นตา "นกทึดทือมลายู-เสือดาว" โชว์ตัวแก่งกระจาน