ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ ชี้บาทผันผวน ตลาดลุ้นผลเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ

เศรษฐกิจ
5 พ.ย. 67
12:41
1,296
Logo Thai PBS
ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ ชี้บาทผันผวน ตลาดลุ้นผลเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อ-ขาย ในกรอบ 33.30-34.50 ผันผวนตามผลเลือกตั้งปธน. สหรัฐฯ -ผลประชุมเฟด 7 พ.ย.นี้ คาดลดดอกเบี้ย 0.25% ด้านแบงก์ชาติ-คลัง คาดเงินเฟ้อปี 68 อยู่ที่ 1-3%

วันนี้ ( 5 พ.ย.2567) กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)วิเคราะห์ทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.30-34.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 33.90 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วงแคบระหว่าง 33.63-33.92 บาท/ดอลลาร์

โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 2 เดือน ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่า เมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เงินยูโรฟื้นตัวแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ หลังข้อมูลบ่งชี้ เศรษฐกิจไตรมาสสามของยูโรโซนสดใสกว่าคาด ซึ่งลดความคาดหวังเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยขนาดใหญ่ของธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)

สำหรับจีดีพีสหรัฐฯเติบโต 2.8% ในไตรมาสสาม ต่ำกว่าที่ตลาดคาดและชะลอจาก 3.0% ในไตรมาสสอง โดยยอดนำเข้าเร่งตัวท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่าอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ ขณะที่การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคยังคงแข็งแกร่ง

ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ตามคาด และคงคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะทรงตัวใกล้เป้าหมาย 2% ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 9,644 ล้านบาท และ 4,892 ล้านบาท ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯวิเคราะห์อีกว่า เหตุการณ์สำคัญของตลาดโลกอยู่ที่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯวันที่ 5 พ.ย. ขณะที่ช่วงเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนได้ปรับสถานะเพื่อรับชัยชนะของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ หากทรัมป์คว้าชัยและพรรครีพับลิกันคุมเสียงในสภาครองเกรส (Red Sweep) เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์สหรัฐฯจะปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนการผลักดันนโยบายต่างๆ เช่น การเพิ่มอัตราศุลกากร และการกีดกันผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งจะสร้างแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในระยะกลาง

อย่างไรก็ตาม กรณีทรัมป์ชนะแต่ไม่เกิด Red Sweep หรือกรณีพลิกโผเป็นแฮร์ริสชนะ เงินดอลลาร์จะเผชิญแรงขายทำกำไรจากการระบาย Trump Trade ทิ้ง นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)วันที่ 7 พ.ย.คาดว่าจะลดดอกเบี้ยลง 25bps เป็น 4.50-4.75% หลังตัวเลขจ้างงานเดือนต.ค.น่าผิดหวัง แม้จะเป็นผลจากสภาพอากาศ การประท้วงและขาดงานก็ตาม แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจยังคงชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรียังประเมินความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยการศึกษาในครั้งนี้ได้สร้างสถานการณ์จำลองเป็น 3 กรณี ตามนโยบายภาษีที่ Trump ประกาศไว้ ดังนี้ กรณีที่ 1 หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษี 60%

สำหรับสินค้านำเข้าจากจีน แม้ประเทศไทยและอาเซียนอาจได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตและการส่งออกทดแทนในบางอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น อิเล็กทรอนิกส์ แต่การส่งออกในหลายอุตสาหกรรมมีแนวโน้มลดลงจากกรณีฐานตามอุปสงค์ที่ลดลงจากสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม

กรณีที่ 2 สหรัฐฯขึ้นภาษี 60% กับจีน และ 20% กับสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นๆ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะรุนแรงกว่าจีน โดยการส่งออกของอาเซียนและไทยอาจได้รับผลเชิงลบจากการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของจีน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก แม้ว่า ยังคงมีการย้ายฐานการผลิตมาอาเซียนและไทยอยู่ แต่ผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวมของอาเซียนและไทยค่อนข้างน้อย และน้อยกว่ากรณีที่ 1

สำหรับกรณีที่ 3 จีนตอบโต้ด้วยการเก็บภาษี 60% กับสินค้าจากสหรัฐฯ การตอบโต้นี้จะทำให้ทั้งสหรัฐฯ และจีนได้รับผลกระทบด้านลบมากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่จะสูญเสียการส่งออกในอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น อิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์

ขณะที่ไทยอาจได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตและการเพิ่มขึ้นของการส่งออกในบางกลุ่มสินค้า อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ แต่ผลสุทธิต่อการส่งออกลดลงจากกรณีฐาน เนื่องจากความต้องการสินค้าอื่นๆจากสหรัฐฯ จีนและโลกโดยรวมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ และกระทรวงการคลังเห็นร่วมกันว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 68 ที่ 1-3% มีความเหมาะสมและไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้กระทรวงการคลังต้องการเห็นเงินเฟ้อขึ้นไปที่ระดับ 2% พร้อมให้ธปท.ไปจัดทำข้อตกลงในการดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ

อ่านข่าว:

เลื่อนเลือก ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติเป็น 11 พ.ย.นี้

ชาวบ้านมีหวัง ? รบ.เล็งพิจารณามาตรการใหม่แก้หนี้บ้าน-รถ

โค้งสุดท้าย“เลือกตั้งสหรัฐฯ” นักวิชาการ ห่วงนโยบาย “ทรัมป์” - “แฮร์ริส” ทำศก.โลกชะลอตัว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง