ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิกฤตการเงิน คนรุ่นใหม่ “Generation Rent” เช่าบ้านดีกว่าซื้อ ?

เศรษฐกิจ
27 พ.ย. 67
13:56
791
Logo Thai PBS
วิกฤตการเงิน คนรุ่นใหม่ “Generation Rent” เช่าบ้านดีกว่าซื้อ ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ค่านิยมคนรุ่นใหม่ ไม่ซื้อบ้าน กำลังขยายตัวขึ้นทั่วโลก โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ ราคาบ้านในยุคปัจจุบัน มีราคาสูงเกินจนเกินเอื้อม ขณะที่สถิติตัวเลขคนเป็นหนี้สูงขึ้น ส่งผลให้การกู้ธนาคารผ่อนบ้านที่ว่ายากแล้ว ยากขึ้นกว่าเดิม ในต่างประเทศพบว่า คนส่วนใหญ่ในต่างประเทศ หรือแม้แต่คนไทย โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y มักจะไม่ซื้อบ้าน แต่จะใช้วิธี “rent to own” หรือ เช่าเพื่อเป็นเจ้าของ ในลักณะเช่าคอนโด แต่สามารถนำเงินค่าเช่ามาตีเป็นราคาผ่อน

รายการ “คุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น” นัดสนทนากับ “ดร. ยุ้ย” เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์รรมการผู้จัดการ บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ และประธานด้านยุทธศาสตร์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำคนหนึ่งของประเทศไทย วิเคราะห์ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยในปัจจุบัน และอนาคตว่า การมีบ้านของคนรุ่นใหม่จะสามารถฟื้นกลับมาได้หรือไม่ ...และมีอะไร เป็นปัจจัยหลัก

“ค่านิยมคนรุ่นใหม่จะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ แบบแรกอาจจะรู้สึกว่า ไม่ได้อยากเป็นเจ้าของบ้าน จึงใช้วิธีการเช่า แต่อีกลักษณะคือ อยากจะซื้อ อยากเป็นเจ้าของ แต่ความสามารถในการเข้าถึงวงเงินที่อยู่อาศัยยากขึ้นมาก ทำให้การมีบ้านในยุคปัจจุบันยากกว่าในยุคพ่อแม่เราเมื่อ 30-40 ปีก่อน”

กู้ระยะยาว เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยยาก

ดร.เกษรา วิเคราะห์ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจจะดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่ราคาที่อยู่อาศัยกลับไม่เคยลดลง ขณะที่รายได้ของคนโดยเฉลี่ยในช่วง 3 ปีหลัง เพิ่มขึ้นประมาณ 1.9% และทำไมส่วนใหญ่จึงไม่สามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ นั้นก็เพราะ 99% ของคนส่วนใหญ่ ซื้อบ้านด้วยการกู้ธนาคาร

“บางประเทศ อาจจะเห็นว่าราคาบ้านสูง และรายได้ไม่ได้สูงตาม แต่รัฐบาลเขามีเงื่อนไขการกู้ที่ค่อนข้างจะเอื้อให้กับคนเฉพาะบางกลุ่ม ดังนั้นแทนที่จะคุยว่าราคาบ้านสูงขึ้นหรือไม่ สิ่งสำคัญคือต้องคุยการเข้าถึงการกู้ และราคาที่ต้องจ่ายธนาคารแพงขึ้น หรือถูกลง”

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าประเทศไทยไม่มีมาตรการที่รัฐให้ความช่วยเหลือประชาชนในการกู้เงินจากสถาบันการเงิน ดังนั้นธนาคารก็จะมีวิธีการคิดดอกเบี้ยแบบครอบคลุม 30-40 ปี ปัจจุบันคิดอยู่ที่ 6% หรือหากบ้านมีราคา 1 ล้านบาท ธนาคารจะคิดว่าผู้ซื้อจะต้องผ่อนได้เดือนละ 6,000 บาท แม้ธนาคารอาจจะคิดดอกเบี้ยปีแรก 0% แต่ด้วยการเกลี่ยในระยะเวลาการกู้ 30 ปี ดังนั้นการคิดอัตราสามเท่าของรายได้ในการผ่อนจ่าย หมายความว่าผู้กู้จะต้องมีเงินเดือนอย่างน้อย 18,000 บาท

ขณะที่บางประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น จะช่วยคนรายได้น้อย ค่าดอกเบี้ยคงที่ 20 ปี โดย 20 ปีแรก คงไว้อยู่ที่ 2% ส่วนในอีก 10 ปีที่เหลืออาจจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ธนาคารเสี่ยง ดังนั้นธนาคารในประเทศญี่ปุ่นจึงไม่จำเป็นต้องใช้ดอกเบี้ย 6% “สมมุติคิดล้านละ 2,000 บาท แสดงว่าคนมีเงินเดือน 6,000 บาท สามารถซื้อบ้านราคา 1 ล้านบาทได้” จะเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนว่าบ้านราคา 1 ล้านบาทเท่ากัน ทั้งในประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น แต่จำนวนการผ่อนรายเดือนให้กับธนาคาร จะส่งผลต่อการคำนวณรายได้ของผู้ซื้อ และราคาผ่อน จากอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินกำหนด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนที่มากู้ แม้ฐานเงินเดือนจะถึงตามกำหนด แต่พอตรวจสอบดูพบว่าทุกคนมีหนี้ทำให้เงินที่เหลือจะไปผ่อนธนาคารเป็นเรื่องที่ยาก “จริง ๆ ธนาคารก็อยากจะปล่อยกู้ แต่ก็อยากปล่อยให้คนที่ธนาคารคิดว่าเครดิตดี ผ่อนจ่ายได้” ซึ่งคำว่า “เครดิตดี” ในขณะนี้ธนาคารก็มีเงื่อนไขเพิ่มขึ้น เพราะมีความกังวลในหลายรูปแบบ

แม้จะทำงานบริษัทเอกชน ธนาคารก็จะมองไปถึงขั้นว่าเป็นบริษัทแบบไหน ธุรกิจน่าเชื่อถือได้แค่ไหน แม้กระทั่งรายได้จะสูงก็ตามแต่ธนาคารก็จะบอกว่าบริษัทไม่แน่นอน เฉกเช่นในสมัยก่อนค่าโอทีก็จะถูกนับรวมกับรายได้ ที่เป็นตัวแปรทำให้การกู้ง่ายขึ้น แต่ในปัจจุบันธนาคารกลับมองว่าค่าโอทีเป็นรายได้ที่ไม่แน่นอน

ค่านิยมเปลี่ยน “กู้-โอน” ยาก เช่าง่ายกว่า

“อยู่บ้านกับพ่อแม่” - “เช่าอพาร์ทเม้นท์” - “กู้ซื้อบ้าน” คือ ค่านิยม 3 แบบของคนรุ่นใหม่ ดร.เกษราบอกว่า หากตัดการอยู่กับพ่อแม่ออกไป หมายความว่าคนที่อยากอยู่ด้วยตัวเอง อาจจะเช่าอพาร์ทเม้นท์เป็นรายเดือน - รายปี หรือเช่าคอนโดที่มีคนปล่อยเช่า สุดท้ายคือการเป็นหนี้ 30 ปี ด้วยการกู้ซื้อบ้าน ถ้ามองในมุมความสมดุลบางคนก็รู้สึกว่าการจ่ายเงินค่าเช่าไปเรื่อย ๆ ค่าเช่ายิ่งสูงขึ้น เวลาผ่านไปยิ่งกู้ยาก เพราะระยะกู้น้อยลง

“บริษัทอสังหาริมทรัพย์ และสถาบันการเงิน ทุกคนก็จะบ่นเหมือนกันว่า “โอนยาก” ซึ่งก็ได้นำยอด 10 ปี มาดู ปี 2567 เป็นยอดโอนต่ำที่สุดในรอบสิบปี ถ้าเราวัดครึ่งปี แล้วเอาครึ่งปีคูณสอง ยอดที่โอนได้น้อยกว่าช่วงโควิด ถือว่าหนักมาก คิดดูว่า 100 คนเข้ามา 70 คน ธนาคารปฏิเสธ”

ถามว่าต้องแก้ตรงไหน...ดร.เกษรา มองว่า เอกชนได้แก้ในส่วนที่พอทำได้ แต่ก็ยังไม่ตรงเท่ากับการแก้ที่ต้นทางคือการลดดอกเบี้ยธนาคาร ที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือว่าจะเป็นไปในทิศทางอย่างไร เช่น สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ออกนโยบายเรื่องบ้าน เมื่อ 30-40 ปีก่อน จะใช้เจ้าหน้าที่จัดการดูแลโดยตรง โดยจะมีการจัดหมวดหมู่ของความช่วยเหลือไว้ว่ากลุ่มคนแบบใดที่จะใช้กลไกทางการตลาดเข้าไปช่วย หรือกลุ่มใดที่ไม่สามารถใช้กลไกการตลาดช่วย กลุ่มนี้รัฐก็จะต้องเข้าไปดูแลว่าจะใช้วิธีไหนเพื่อให้ความช่วยเหลือ ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทย “สวัสดิการของประเทศไทย ไม่มีสวัสดิการเรื่องที่อยู่อาศัย”

ต้องยอมรับว่า “คำว่าที่อยู่อาศัยมากับการเดินทาง” ดังนั้นกลุ่มคนรุ่นใหม่หากต้องการจะซื้อที่อยู่อาศัย ที่ราคาเข้าถึงได้เขาก็ต้องเลือกอยู่ในพื้นที่แถบกรุงเทพชานเมือง แต่กลับต้องเจอกับค่าเดินทางที่สูงพอกัน เนื่องด้วยรายได้เฉลี่ยคนกรุงเทพฯ จะอยู่ประมาณ 39,000 บาท ในจำนวนนี้จะเป็นค่าเดินทางประมาณ 20% ถือว่าสูงมาก แต่ถ้าจะซื้อใกล้ที่ทำงานในย่านใจกลางเมือง ที่อยู่อาศัยก็มีราคาที่สูงเกินไป

“ค่าเดินทางที่สูงมาก เป็นตัวแปรสำคัญของผู้ที่ต้องการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย เพราะในชีวิตคนที่ไม่มีใช้รถใช้ จะเดินทางด้วยรถไฟฟ้า และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง นอกจากนี้ราคาค่ารถไฟฟ้ายิ่งปลายสาย ราคาก็ยิ่งแพง หากที่อยู่อาศัยเข้าไปลึกจากซอยอีกก็จะเจอค่าวินมอไซด์วันหนึ่งไปกลับไม่ต่ำกว่า 200-300 บาท”

หากทำให้ค่าเดินทางถูกลง ก็จะเป็นคำตอบให้กับการแก้ปัญหาการซื้อบ้านของคนรุ่นใหม่ ถ้าราคารถไฟฟ้าถูกลง กลายเป็นว่าโลเคชันไหนก็มีต้นทุนค่าเดินทางเท่ากัน เพราะไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหนก็ไม่มีปัญหาเพราะค่าเดินทางถูก

พัฒนาที่อยู่อาศัย “ชุมชนแออัด”

ในฐานะประธานด้านยุทธศาสตร์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำให้ ดร.เกษรา ได้ลงพื้นที่เห็นความจำเป็นของกลุ่มคนในชุมชนแออัด ที่ต้องการอยากมีบ้านอยู่ใกล้งาน ซึ่งเป็นโจทย์ยากพอสมควรในเรื่องจัดสรรพื้นที่เนื่องด้วยปัญหาเป็นพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ แม้ก่อนหน้านี้จะเคยมีโครงการ “บ้านการเคหะแห่งชาติ” แต่ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ เพราะการเคหะฯ สร้างตามที่ดินที่อยู่ในความดูแลการเคหะมี โดยเป็นพื้นที่ชานเมือง “คนกลุ่มนี้ไปไกลไม่ได้เลย เพราะด้วยอาชีพรับจ้างเขาต้องอาศัยรถสาธารณะ และงานส่วนใหญ่ก็อยู่ในเมือง หากที่อยู่อาศัยไกล ก็ลำบากในการเดินทาง”

ในขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า พื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ เอกชนก็ไม่สามารถขายได้ต่ำกว่าความเป็นจริง แม้แต่คอนโดบีโอไอ (BOI) คอนโดมิเนียมที่มีได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน Thailand Board of Investment สำหรับผู้มีรายได้น้อย ก็ไม่ได้ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ เนื่องด้วยยังเป็นบ้านที่มีราคาไม่เกิน 1,500,000 บาท ขนาดห้อง 28 ตารางเมตร ซึ่งจะตอบโจทย์กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในย่านไกลเมือง ราคาของที่ดินยังจับต้องได้ แต่หากจะมาทำใจกลาง กทม. ยากที่เอกชนจะทำได้

“ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ กทม.เริ่มศึกษานโยบายจากต่างประเทศจนไปเจอกับแนวคิดที่ว่า “rent to own” (เช่าเพื่อเป็นเจ้าของ) ในลักษณะเช่าคอนโดแต่สามารถนำเงินค่าเช่ามาตีเป็นราคาผ่อน แต่ก็ไม่สามารถทำได้ในทุกพื้นที่”

รัฐต้องช่วย “ผู้ซื้อ” ให้ค่าผ่อนบ้านถูกลง

ดังนั้นรัฐต้องเข้ามาเป็นคนจัดหาที่อยู่อาศัยที่เอกชนไม่สามารถจัดหาได้ รวมถึงการกู้เงิน เนื่องด้วยคนกลุ่มนี้อาจจะเข้าถึงสถาบันการเงินยาก และต้องคิดในเชิงของการจ่ายรายเดือนที่เขาสามารถจ่ายได้ สิ่งสำคัญคือการสร้างชุมชนเป็นเกราะป้องกัน

“ตอนช่วงโควิด ได้มีโอกาสเดินไปหลายชุมชน เห็นว่า ชุมชนที่ทำบ้านมั่นคง ประสบความสำเร็จ ในการดูแลกันและกันเมื่อมีภัยคุกคาม บางชุมชนยังตั้งเงินกองทุนกู้กันเอง เพราะด้วยความที่เป็นชุมชนเปราะบาง บางทีเกิดพ่อแม่ลูก หรือตัวเองป่วย ไม่มีสิทธิ์การรักษา หรือประกันสังคม ประกอบกับหนี้นอกระบบ ก็จะยิ่งทำให้เขาใช้ชีวิตลำบากขึ้น”

...ถามว่า กทม. มีบทบาทได้แค่ไหน.. ดร.เกษรา อธิบายว่า ด้วยความที่ กทม. ไม่ได้มีที่ดินเป็นของตัวเอง จึงต้องทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การเคหะแห่งชาติ ท่ามกลางภาวะสังคมสูงวัยที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับเด็กเกิดใหม่น้อยลง คนเป็นหนี้มากขึ้น ที่อยู่อาศัยจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข แต่จะเริ่มที่จุดไหน?

ดังนั้นแทนที่จะไปทำสิ่งที่เอกชนทำได้อยู่แล้ว รัฐควรหามาตรการช่วยฝั่งคนซื้อว่าจะทำอย่างไรให้ค่าผ่อนถูกลง หรือหากทำไม่ได้ทั้งหมดก็ควรที่จะทำเฉพาะกลุ่มคนที่เข้าถึงสถาบันการเงินยาก หรือกลุ่มคนที่มีความจำเป็นก่อน พร้อมกับการแก้ปัญหาหนี้ที่กำลังสูงขึ้นเรื่อย ๆ

พบกับรายการ : คุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส 

อ่านข่าว :

สปสช. ไม่ยกเลิก "มะเร็งรักษาทุกที่" แต่ปรับเงื่อนไขการจ่าย

บอร์ด กอน.ไฟเขียวเปิดหีบอ้อย ปี 67/68 เริ่ม 6 ธ.ค.นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง