ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เด็กไทยเสี่ยงโรคไต! เครือข่ายลดเค็มชงรัฐเก็บภาษีสินค้าโซเดียมสูง

สังคม
28 พ.ย. 67
17:04
320
Logo Thai PBS
เด็กไทยเสี่ยงโรคไต! เครือข่ายลดเค็มชงรัฐเก็บภาษีสินค้าโซเดียมสูง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เครือข่ายลดเค็มเสนอ อย. บังคับติดฉลากอาหารโซเดียมสูงชัดเจน เรียกร้องรัฐใช้มาตรการภาษีจูงใจผู้ผลิตลดปริมาณโซเดียมในสินค้า ด้านผู้เชี่ยวชาญเผยเด็กไทยมีความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10 สะท้อนพฤติกรรมการบริโภคที่ต้องเร่งปรับปรุง

วันนี้ (28 พ.ย.2567) สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดแถลงข่าวภายใต้หัวข้อ "ภัยเงียบ โซเดียมในอาหารกึ่งสำเร็จรูปและเครื่องปรุงรส" เพื่อเผยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบจากการบริโภคโซเดียมเกินมาตรฐาน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่โรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคไตวายเรื้อรัง

นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตฯ เปิดเผยว่า คนไทยจำนวนมากบริโภคโซเดียมเกินขนาดที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำไว้ที่ไม่เกิน 2,000 มก./วัน หรือเทียบเท่าเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา การบริโภคโซเดียมเกินนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะจากอาหารยอดนิยมอย่าง อาหารกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอาหารที่มีโซเดียมสูง จากผลการสำรวจผลิตภัณฑ์ในตลาดระหว่าง พ.ค.-ก.ค.2567 พบว่า

อาหารกึ่งสำเร็จรูป (302 ตัวอย่าง)

  • กลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและเส้นก๋วยเตี๋ยว มีโซเดียมเฉลี่ยต่อหน่วยบริโภคสูงถึง 1,425.75 มก. และบางยี่ห้อสูงถึง 7,200 มก.
  • โจ๊กและข้าวต้มสำเร็จรูป มีโซเดียมเฉลี่ย 587.28 มก./หน่วย
  • ซุปสำเร็จรูปมีค่าเฉลี่ยโซเดียมที่ 471.58 มก./หน่วย

กลุ่มเครื่องปรุงรส (105 ตัวอย่าง)

  • น้ำปลา ซอสปรุงรส และน้ำมันหอย มีโซเดียมเฉลี่ยต่อหน่วยบริโภค 841.09 มก. บางยี่ห้อมีโซเดียมสูงสุดถึง 2,560 มก./หน่วย
  • น้ำพริก กะปิ และเครื่องแกง มีโซเดียมเฉลี่ยต่อหน่วยบริโภค 608.15 มก. บางผลิตภัณฑ์สูงถึง 1,490 มก.
  • ผงปรุงรส มีโซเดียมเฉลี่ยต่อหน่วยบริโภค 409.34 มก. แต่บางยี่ห้อแม้ระบุสูตรลดโซเดียมยังคงมีปริมาณสูงถึง 950 มก.

น.ส.ศศิภาตา ผาตีบ นักวิจัยผู้ดำเนินการสำรวจ เผยว่าปัญหาที่พบจากการเก็บข้อมูลคือ ฉลากโภชนาการไม่ชัดเจนหรือไม่มีเลยในบางผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในสินค้านำเข้า อีกทั้งมีบางผลิตภัณฑ์หมดอายุแต่ยังคงวางขายในตลาด

เสนอมาตรการป้องกัน-ลดความเสี่ยง

เครือข่ายลดเค็มเสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) บังคับใช้กฎหมายให้ผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิดที่มีโซเดียมสูงติดฉลากระบุปริมาณโซเดียมชัดเจน พร้อมทั้งแนะนำให้รัฐใช้นโยบายภาษีเพื่อจูงใจผู้ประกอบการลดโซเดียม เช่น 

  • เก็บภาษีเพิ่มในสินค้าที่มีโซเดียมสูง
  • ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับสินค้าที่ลดโซเดียม

ทั้งนี้ ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ระบุว่าการลดโซเดียมในผลิตภัณฑ์ไม่เพียงแต่ช่วยป้องกันโรค ยังลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้นทุกปี โดยล่าสุดพบว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโรคไตสูงถึง ร้อยละ 10 ของงบประมาณรักษาพยาบาลทั้งหมด

ปัจจุบัน พบว่าเด็กไทยในระดับชั้นประถมศึกษากรุงเทพฯ มีอัตราความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ร้อยละ 2-3 เป็นร้อยละ 10 ซึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูงตั้งแต่วัยเยาว์ หากไม่มีมาตรการป้องกัน เด็กกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการป่วยด้วยโรคเรื้อรังเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากโภชนาการชัดเจน และอ่านข้อมูลโภชนาการก่อนตัดสินใจซื้อ หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารกึ่งสำเร็จรูปหรือเครื่องปรุงรสที่มีโซเดียมสูงเกินความจำเป็น รวมถึงควรปลูกฝังพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสมในเด็ก

อ่านข่าวอื่น :

สกัดเส้นทางค้า "ลีเมอร์" สมบัติของโลกจากมาดากัสการ์

“สนธิ” ปลุกม็อบลงถนน ติดไม่ติดคำตอบอยู่ที่รัฐบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง