ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"สุริยะ" สั่งเยียวยาผู้เสียชีวิตเหตุคานถล่มคนละ 1 ล้านบาท

อาชญากรรม
29 พ.ย. 67
21:07
482
Logo Thai PBS
"สุริยะ" สั่งเยียวยาผู้เสียชีวิตเหตุคานถล่มคนละ 1 ล้านบาท
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รมว.คมนาคม สั่งผู้รับจ้างเยียวยาผู้เสียชีวิตจากเหตุคานถล่มบน ถ.พระราม 2 คนละ 1 ล้านบาท พร้อมสั่งหยุดงานก่อสร้าง 14 วันเร่งหาสาเหตุ วางแผนเตรียมเคลื่อนย้ายโครงเหล็ก-แผ่นปูน

วันนี้ (29 พ.ย.2567) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายและตรวจหาสาเหตุคานสะพานก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ถล่ม เป็นเหตุให้ผู้เสียชีวิต 6 คนและบาดเจ็บ 9 คน

นายสุริยะ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบความรู้สึกและความมั่นใจของประชาชน ในนามกระทรวงคมนาคมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ในครั้งนี้

สำหรับการเยียวยาครอบครัวผู้เสียขีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ ได้สั่งการให้ผู้รับจ้างเยียวยาคนละ 1 ล้านบาท พร้อมสั่งให้บริษัทผู้รับผิดชอบโครงการหยุดงานก่อสร้างทันที 2 สัปดาห์ และให้กรมทางหลวงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสาเหตุข้อเท็จจริงและประเมินความปลอดภัยของโครงสร้าง ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมกรมทางหลวง สภาวิศวกร และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ดำเนินการและสรุปรายงานผลต่อกระทรวงคมนาคมภายใน 15 วัน

รมว.คมนาคม ยังกล่าวถึงมาตรการลงโทษผู้ประกอบการที่ปฏิบัติงานก่อสร้างไม่เป็นไปตามมาตรฐานของหลักวิชาช่าง หรือประมาทเลินเล่อร้ายแรง ปัจจุบันกระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง ได้จัดทำร่างระเบียบฯ เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ใช้ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้รับเหมา รวมถึงมาตรการลงโทษ โดยหากเกิดเหตุที่มีบุคคลถึงแก่ความตาย จะถูกตัดสิทธิ์ในการประมูลงาน 1 ปี และหากเข้าเกณฑ์ถูกตัดสิทธิ์จำนวน 3 สัญญาขึ้นไป จะถูกตัดสิทธิ์ในการประมูลงานโครงการถัดไปของหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ

รวมถึงจะมีมาตรการในการลดชั้นและถอดจากทะเบียนรายชื่อผู้รับเหมาที่มีสิทธิ์ประมูลงานของภาครัฐด้วย โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมทางหลวงเป็นหลักในการพิจารณาร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว ร่วมกับหน่วยงานอื่นในสังกัดของกระทรวงคมนาคมที่มีงานก่อสร้าง เพื่อเร่งหารือกับกรมบัญชีกลางในการพิจารณานำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาบังคับใชัอย่างเป็นรูปธรรม

วางแผนเคลื่อนย้ายโครงเหล็ก-แผ่นปูน

ส่วนการเคลื่อนย้ายซากชิ้นส่วนที่เสียหาย ขณะนี้เตรียมพร้อมรถเครน 3 คัน โดยตลอดทั้งวันที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่จากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ได้ประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์และหาจุดที่จะต้องเคลื่อนย้ายอย่างละเอียด เนื่องจากโครงสร้างที่อยู่ในสภาพความเสียหาย มีน้ำหนักมากและมีโอกาสพังถล่มลงมาได้อีก การเคลื่อนย้ายจึงต้องใช้ความระมัดระวังและทำทีละชิ้นส่วน

นายวุฒินันทน์ ปัทมวิสุทธิ์ ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ความยากคือโครงสร้างที่พังเสียหายอยู่ขณะนี้ น้ำหนักปกติคาดว่าอยู่ที่หลายร้อนตัน รวมทั้งกล่องคอนกรีตเซ็กเมนต์ที่ห้อยคาอยู่ประมาณ 3-4 กล่อง ซึ่งมีน้ำหนักเกินกว่า 50 ตัน ซึ่งการเคลื่อนย้ายด้วยเครนนั้นเครนจะต้องมีขนาดใหญ่ อีกทั้งการยกด้วยเครน โครงสร้างที่พังทลายอาจมีการแตกหักเสียหาย รวมทั้งมีการยึดโยงกัน มีขนาดยาวมาก คงไม่สามารถยกโครงสร้างที่ต่อเนื่องยาว ๆ หรือมีการพังทลายได้ เพราะฉะนั้นต้องมีการล็อกทีละส่วน

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ประเมินว่าจะใช้เวลาเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนที่พังเสียหายไม่เกิน 14 วัน โดยเปิดช่องทางจราจรบนทางคู่ขนาน เพื่อบรรเทาผลกระทบ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเริ่มรื้อถอนได้ทันทีหรือไม่ อยู่ระหว่างการระดมข้อมูลและประเมินความแข็งแรงของจุดเกิดเหตุ

อ่านข่าว

อัปเดตคานถล่ม ถ.พระราม 2 เสียชีวิต 4 สูญหาย 2 บาดเจ็บ 9 คน

"สุริยะ" สั่ง "อธิบดี ทล." ลงพื้นที่ ตรวจสอบเหตุคานถล่ม "ถ.พระราม 2"

คานก่อสร้างถล่ม ถ.พระราม 2 เสียชีวิต 2 เจ็บ 8 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง