วันนี้ (11 เม.ย.2568) ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดเสวนา “กก” วิกฤติ ชะตากรรมชุมชนท้องถิ่น มีภาควิชาการและภาคประชาชนเข้าร่วมแลกเปลี่ยน
แม่น้ำกกมีสารปนเปื้อน แม่น้ำกกอาจไม่เหมือนเดิม
อ.ชยันต์ วรรธนะภูติ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึง แม่น้ำกกที่มีสีขุ่นข้นขึ้น นำไปสู่ข้อสงสัยว่า มีอะไรเกิดขึ้นบนต้นแม่น้ำ ซึ่งจากภาพถ่ายทางอากาศ บริเวณต้นน้ำที่เคยมีป่าหนาแน่น ปัจจุบันมีการถางป่าและทำลายป่า การทำเหมืองแร่ทองคำ บนต้นน้ำแม่กก
ก่อนหน้านี้ก็เคยมีข่าวว่า มีการทำเหมืองแร่ทองคำ แต่ก็ไม่มีข้อมูล เพราะต้นน้ำกกอยู่ในรัฐฉาน เป็นพื้นกองกำลังกลุ่มชาติพันธ์ุ การจะเข้าไปเก็บข้อมูลถือว่าทำได้ยาก

ชยันต์ วรรธนะภูติ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา ม.เชียงใหม่
ชยันต์ วรรธนะภูติ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา ม.เชียงใหม่
การตรวจพบสารปนเปื้อน ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำอุปโภค-บริโภค ชาวบ้านได้รับผลกระทบ วันนี้ข้อมูลต่างๆจะเชื่อมโยงประชาสังคม และนักวิชาการใน จ.เชียงใหม่-เชียงราย สู่ทางออกแก้ปัญหาและเข้าใจมากขึ้น
"แม่น้ำกก" แม่น้ำระหว่างประเทศ หาข้อมูลได้ยาก
รัฐบาลกลางเมียนมา ไม่สามารถควบคุมพื้นที่อำนาจของกลุ่มชาติพันธุ์ว้าได้ ขอเรียกร้องในการหยุดสารพิษจากเหมืองทองจึงทำได้ยาก
ถ้าไม่เริ่มต้นร่วมมือกันภาคประชาชนและรัฐ น่าจะลำบากมากยิ่งขึ้น เตรียมตัวหาทางปัองกัน และยับยั่งผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้แม่น้ำกก
ด้านพระมหานิคม มหาภิกขมโม วัดท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ได้อธิบายให้เห็นความสัมพันธ์ของคนต้นแม่น้ำกกในรัฐฉาน กับคนลุ่มน้ำกก ต.ท่าตอน ว่า ในพื้นที่ต้นน้ำกก ในรัฐฉาน มีเมืองอยู่ 3 บริเวณเมืองต้นน้ำกก ก่อนไหลเข้า สู่ แม่อาย จ.เชียงใหม่-เชียงราย
"แม่น้ำกก" มีความยาว 285 กม.
การเดินทางไปต้นแม่น้ำกก เดินทางจากรัฐฉาน-อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ มีชุมชนขนาดใหญ่ 3 ชุมชน คือ “เมืองกก” เป็นเมืองเล็กๆ ที่มีไม่กี่หมู่บ้าน ความเจริญมีน้อย คมนาคมเข้าไปลำบาก ถ้าเดินทางจากเมืองท่าขี้เหล็ก ต้องผ่านเมืองพยาก เมืองกก แต่ถ้าไปเส้นทางท่าตอน จะผ่านเมืองสาด-เมืองกก

พระมหานิคม มหาภิกขมโม วัดท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
พระมหานิคม มหาภิกขมโม วัดท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
เส้นทางจาก ต.ท่าตอน ไป "เมืองสาด" เส้นทางเรือไม่สามารถไปถึง เพราะบริเวณเมืองสาด มีหน้าผาสูงชันการสัญจรทั่วไปลำบาก
วิถีชีวิตชุมชนตอนนี้ ชาวบ้านเมืองกก ใกล้เป็นเหมืองร้างเพราะเป็นเป้าหมายทำเหมืองแร่ ต้องอพยพ และถูกยังคับขายไร่ ขายนา รับจ้างเป็นทหารว้า และอพยพหนีมาไทย หรือเมืองอื่นบ้าง
ปี 2565 เคยมีการประท้วงเหมืองแร่ เมื่อเริ่มมีการประท้วง ชาวบ้านที่ประท้วงถูกอุ้มหาย และถูกทำร้ายร่างกาย ทาง ต.ท่าตอน ก็มีการประท้วง จึงทำให้เหมืองแร่ที่เมืองกกหยุดลง

“เมืองสาด” อีกเมืองถัดมาจากเมืองกก เป็นเมืองใหญ่ ระดับอำเภอ หลายหมู่บ้านมีวิถีชีวิตขึ้นอยู่การปกครองรัฐบาลพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ว้า แบ่งพื้นที่การปกครอง โดยในเมืองเป็นเขตพื้นที่ทหารเมียนมาปกครอง ส่วนพื้นที่รอบนอกเป็นทหารว้า เมื่อระบบการปกครองไม่เป็นประชาธิปไตย ชาวบ้านทำอะไรไม่ได้มาก
ชาวเมืองสาด เป็นชาวพุทธร้อยละ 90 การเข้าวัดจึงเปรียบเสมือนกิจกรรมเดียวที่อาจสร้างความสุข ขณะที่กิจกรรมทางการเมืองทำไม่ได้
เศรษฐกิจของเมืองสาดพื้นที่รอบนอก คือ การทำไร่ ทำนา ส่วนพื้นที่เขตเมืองจะทำอาชีพค้าขายเป็นส่วนใหญ่
หลังรัฐบาลทหารเมียนมาเข้ามาควบคุม พื้นที่รอบนอกเมืองสาด ถูกกดดันหลายอย่างแต่ในเมืองยังค้าขายได้ โดยเศรษฐกิจขึ้นอยู่การเมือง

“เมืองยอน” เป็นเมืองที่ติดกับ ต.ท่าตอน เป็นชุมชนเล็กๆ กว่าเมืองสาด มีประมาณ 4-5 หมู่บ้าน เมื่อก่อนปี 2500 เป็นที่ทำกินของชาวบ้านท่าตอนปัจจุบัน หลังจากนั้นมีปัญหาทางการปกครอง เมียนมาให้ทหารหลายกลุ่มมาอาศัย ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพหนีมาอยู่ ต.ท่าตอน ในปัจจุบัน
ปัจจุบันเมืองยอนใหม่ ถูกเรียกว่า “เปียงคำ” มีทหารว้า ควบคุมโดยมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ด้วย เช่น ไทยใหญ่
วัฒนธรรมคนสองฝั่งแม่น้ำกก แต่เมื่อทหารเมียนมาปกครอง ก็เริ่มให้กลุ่มทุนจีนเข้ามาทำเหมืองทอง และตัดต้นไม้ ปลูกยางพารา แทน “จีนแดง” มาสัมปทานทำเหมืองทอง

นอกจากนั้นยังมี ”กลุ่มจีนเทา“ ยังสัมปทานบ่อนคาสิโน มีคอลเซ็นเตอร์ หลังทางการจีนปราบปรามไม่นานก็เกิดน้ำท่วมหนัก
ข้อมูลแลกเปลี่ยนในเวทีปัญหาเเม่น้ำกก และการทำเหมืองทอง เริ่มเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปี บริเวณบ้านเมืองฮุง เขตติดต่อระหว่างเมืองยอนกับเมืองสาด ผลจากการมีเหมือง ภาคประชาชนบริเวณ ต.ท่าตอน ที่มาร่วม ต่างกังวลในผลกระทบโดยเฉพาะสุขภาพ และการใช้ชีวิตที่ต้องพึ่งพาจากน้ำ โดยเฉพาะการประปา การเกษตรกรรม การท่องเที่ยว ฯลฯ
นาง ต. เปิดเผยถึงความกังวลแม่น้ำกกสีขุ่นและปนสารหนู โดยเล่าย้อนไปในอดีตว่า ตนอยู่กับน้ำตั้งแต่เด็ก น้ำใส วิถีชีวิต หาปลา ก็เห็นปลาว่ายขึ้นว่ายลงบางครั้งมีกระบอกไม้ไผ่ มีกุ้ง มีปลา มีหอย
ตอนนี้แม่น้ำเปลี่ยนทิศ น้ำท่วมปีนี้ ไม่รู้ดิน หรือโคลนไหลมาเยอะแยะ เป็นไม้ซุงไหล เข้ามาในบ้าน ชาวบ้านคิดว่าน้ำคงจะใส แต่น้ำขุ่นเหมือนสีน้ำชา ตอนแรกไม่คิดอะไร เล่นน้ำกันอยู่ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เริ่มเป็นผื่นคัน ทุกวันนี้ชาวบ้านทำแพ ท่องเที่ยว กพ.-เม.ย. เป็นรายได้ชุมชน บางวันไม่ทีคนมาเที่ยวเลย
เมื่อไร่จะได้รับการแก้ไข ตอนนี้ยังไม่รู้เลย
นาย ป.ชาว ต.ท่าตอน กล่าวว่าชาวบ้านอยู่ใกล้น้ำกินไม่ได้ นอนไม่ค่อยหลับ หลังสุ่มตรวจแม่น้ำกก พบว่ามีสารพิษปนเปื้อน
ตอนแรกใช้น้ำประปาหมู่บ้าน นำที่สูบไปผลิตเป็นน้ำจากแม่น้ำกก จึงตั้งคำถามไปยังหน่วยงานต่างๆ ว่า จะมีวิธีแก้ไขการปนเปื้อนระดับวงกว้างอย่างไร หรือน้ำบาดาลมีสารพิษหรือไม่ หรือเข้าสู่พืชผลทางการเกษตรหรือไม่ ทุกวันนี้ชาวบ้านกังวลไปหมด

ขณะที่ชาวบ้านที่มาจากเมืองสาด รัฐฉาน หลายคนบอกว่า ต้นน้ำกกใส แต่มีเหมือง อยู่บริเวณเมืองยอน โดยมีกลุ่มทุนจีนเป็นคนออกทุน กลุ่มชาติพันธุ์ว้าเป็นคนคุ้มกัน ส่วนลูกจ้างเป็นคนในพื้นที่ บนแม่น้ำกกตอนบนมีการทำเหมืองแร่ แต่ท้ายน้ำมีสารพิษปนเปื้อน หน่วยงานต่างๆ จะแก้ไขอย่างไร
ด้านพระมหานิคมกล่าวเสริมว่า ไม่เพียงแต่สารพิษที่ปนเปื้อนแม่น้ำกก อีกสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือ ปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม สาเหตุจากเปิดหน้าดินเหมืองแร่
พระมหานิคม กล่าวถึง ประสบการณ์แม่น้ำกกหลากท่วมปี 2513 มีน้ำมากพอสมควรซึ่งเท่าปี 2567 น้ำท่วมมิดหลังคาบ้าน
จะแตกต่างกับอดีต น้ำจะค่อยๆ ลดไม่เหลือโคลน น้ำขึ้นค่อยๆ ขึ้นทีละคืบ แต่น้ำท่วมมาปีนี้ 2567 มาทีเดียวน้ำไม่มาแรงก้องกังวลน่ากลัว และน้ำไม่ใช่น้ำโคลนแบบนี้
ด้าน อ.มาลี สิทธิเกรียงไกร อาจารย์ประจำศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ปัญหาการปนเปื้อนโลหะเป็นการปนเปื้อนข้ามพรมแดน เหมืองแร่หลายแห่ง อาจไม่มีการควบคุมจากการแต่งแร่ เป็นที่มาของแม่น้ำกก ปนเปื้อนสารหนูและตะกั่ว เกินค่ามาตรฐาน
สิ่งที่ต้องเร่งทำคือ ตรวจสอบว่า ใครบ้างได้รับสารพิษ พืชผัก มีการปนเปื้อนอย่างไรบ้าง น้ำไหลไปไหน มีสารอะไรบ้าง ตกค้างที่ไหน ซึ่งจะต้องหยุดกิจกรรมเหมืองแร่ เป็นเรื่องการเมือง ผลประโยชน์ ที่ทับซ้อนมาก จะต้องมาคุยกันว่า จะร่วมกันแก้ปัญหาและช่วยเหลือชาวบ้าน และสังคมลุ่มน้ำกกอย่างไร ให้เข้าใจสิทธิของตัวเอง สิทธิของแม่น้ำและชุมชน

ด้าน อ.ชยันต์เสนอให้มหาวิทยาลัย เร่งคุยกับชาวบ้านทำความเข้าใจ และต้องเริ่มเก็บข้อมูล ที่สำคัญต้องหารือกันระหว่าง จ.เชียงราย-เชียงใหม่ ในภาคราชการ ภาคประชาคม หอการค้า และสมาคมการเกษตรต่างๆ ต้องรีบแก้ปัญหานี้เรียกร้องไปรัฐบาล กับทางการเมียนมา เพราะกระทบคนจำนวนมากทำในเชิงยุทธศาสตร์ ตั้งเครือข่ายลุ่มน้ำกก-สาย สะท้อนปัญหาแก้แม่น้ำปนเปื้อนสารพิษ.
รายงาน : โกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ