ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ใครทำงานกลางแจ้ง ต้องรู้ 9 วิธีป้องกันโรคจากความร้อน

สังคม
23 เม.ย. 68
10:30
2,483
Logo Thai PBS
ใครทำงานกลางแจ้ง ต้องรู้ 9 วิธีป้องกันโรคจากความร้อน
อ่านให้ฟัง
04:58อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อากาศร้อนจัดต้องระวัง ใครที่ทำงานกลางแดด เสี่ยงเจอโรคที่มากับ "ความร้อน" โดยเฉพาะ แรงงานกลางแจ้ง หรือคนที่ทำงานในพื้นที่ร้อนอบอ้าว แนะ 9 วิธี ป้องกันทำตามได้ไม่ยาก

หน้าร้อนของประเทศไทยมักเริ่มตั้งแต่เดือน มีนาคม - พฤษภาคม อากาศร้อนอบอ้าวแบบนี้ไม่ใช่แค่ทำให้ "เหงื่อไหล" แต่ยังเป็นภัยเงียบสำหรับ คนที่ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ "ร้อนจัด" โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานกลางแดด เช่น เกษตรกร แรงงานก่อสร้าง รวมถึงกลุ่มที่ต้องทำงานในบริเวณที่มีแหล่งกำเนิดความร้อน เช่น ในโรงหลอม หรือบริเวณที่มีเครื่องจักรที่มีความร้อน ในโรงงานหรือมีการระบายอากาศไม่ดี กลุ่มเหล่านี้จะมีความเสี่ยงสูงต่อโรคที่เกี่ยวข้องกับ "ความร้อน" 

นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ อธิบายว่า โรคเกี่ยวกับความร้อน เกิดจากการที่มนุษย์พยายามรักษาอุณหภูมิกายให้คงที่ที่ 37 องศาเซลเซียส จะมีการระบายความร้อนออกเมื่อมีกระบวนการ "เมตาโบลิก" ในร่างกายหรือมีกิจกรรม หากอากาศภายนอกมีอุณหภูมิสูงกว่าในร่างกายก็จะระบายความร้อนได้ไม่ดี

อ่านข่าว :  B.E.F.A.S.T. รู้ทันสัญญาณ "โรคหลอดเลือดสมอง"

ร่างกายพยายามระบายความร้อน โดยการหลั่งเหงื่อ การขยายเส้นเลือดที่ผิวหนัง ทำให้เลือดเปลี่ยนทางจากการไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญไปที่ผิวหนังเพื่อหลั่งเป็นเหงื่อพาความร้อนออกไป ขณะที่ การหายใจ และวิธีการพาความร้อนออกจากร่างกายจากการสัมผัส เมื่อร้อนมากร่างกายจะขาดน้ำ มีอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด หรืออาจเป็นลม ต่อมาจะมีอาการขาดเกลือแร่ร่วมด้วย ทำให้เป็น "ตะคริว"

หากยังไม่แก้ไขจะเริ่มมีอาการของการขาดเลือดไปเลี้ยงส่วนสำคัญในร่างกาย ทำให้มีอาการอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว ความรู้สติเปลี่ยนแปลง อาจมีอาการเป็นลม หมดสติ และกลายเป็นลมแดด (Heat stroke) ไปในที่สุด ภาวะ Heat stroke นั้นเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ หากไม่รีบช่วยเหลือจะทำให้อวัยวะสำคัญล้มเหลว และถึงแก่ชีวิตได้

อ่านข่าว :  รู้และเข้าใจ "เอชไอวี" รู้เร็ว รักษาเร็ว ป้องกันได้

 9 วิธีป้องกันโรคจากความร้อน ทำตามได้ง่ายๆ

แล้วจะป้องกันได้ยังไง สิ่งที่แรงงานทำได้เพื่อป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับความร้อน มีคำแนะนำดังนี้ 

1. เช็กตัวเองก่อน ว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือไม่ เช่น อายุมาก อ้วน เป็นโรคเรื้อรังเช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ

2. หลีกเลี่ยงแดดแรง หากเลี่ยงไม่ได้ ต้องใช้วิธีสลับกันเข้าทำงาน 

3. ทำงานกลางแจ้งให้เสร็จก่อนบ่ายโมง เนื่องจากจะร้อนจัดช่วงนั้น

4. ดื่มน้ำบ่อยๆ ทุก 15-20 นาที แม้จะไม่หิวน้ำ สถานประกอบการควรจัดน้ำดื่มให้กับแรงงานให้เข้าถึงได้ง่าย การดื่มน้ำเกลือแร่ จะไม่ช่วยเนื่องจากมีน้ำตาล หากดื่มมากจะทำให้น้ำออกจากร่างกายมาก

5. หากรู้สึกร้อนมาก เหงื่อออกมาก หรือหิวน้ำมาก ปัสสาวะน้อยหรือสีเข้ม ให้หยุดงาน และหลบเข้าที่ร่มหรือห้องแอร์

6. สวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม ระบายอากาศได้ดี

7. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือดื่มกาแฟ

8. สังเกตอาการผิดปกติเช่น เวียนศีรษะ คลื่นใส้ หน้ามืด ต้องหยุดทำงานและหลบเข้าที่ร่ม บอกเพื่อน และติดต่อไปพบแพทย์ทันที

9. หากแรงงานมีอาการมากให้ติดต่อนำไปพบแพทย์ ระหว่างนั้น ให้นำเข้าที่ร่ม ถอดเสื้อผ้า ใช้ผ้าเย็นลูบตัวบริเวณซอกแขน ซอกรักแร้ ซอกขา ลำคอ ลำตัว ถ้ายังรู้ตัวให้ดื่มน้ำ ระหว่างรอส่งตัวไปหาแพทย์

นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวเพิ่มเติม สถานประกอบการควรสำรวจ หาแรงงานกลุ่มเสี่ยง และสำรวจดูว่าในสถานประกอบการมีสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่มีความร้อนมากหรือไม่ จัดการระบายอากาศ หาที่พักในร่ม และให้ความรู้พนักงานเรื่องโรคจากความร้อน เพื่อให้เฝ้าระวังตนเอง ควรหาช่องทางสำหรับส่งต่อแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นระหว่างรอ ไม่ควรประมาท เนื่องจากโรคลมแดดนั้นมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

อ่านข่าว : ไฟไหม้พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จ.นครปฐม

เจ้าของที่ดินถมสูงเตรียมวางบล็อกคอนกรีตกั้นดิน จ.ระยอง

ไฟไหม้โรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่

รู้และเข้าใจ "เอชไอวี" รู้เร็ว รักษาเร็ว ป้องกันได้
B.E.F.A.S.T. รู้ทันสัญญาณ "โรคหลอดเลือดสมอง"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง