แป๊บ แป๊บ ประเทศไทยก็ใกล้ "ฤดูฝน" ปี 2568 เข้าไปทุกที แม้อากาศยังร้อนอบอ้าวจนเหงื่อตกตั้งแต่เช้ายันเย็นในหลายพื้นที่ แต่ใครที่ตามข่าวจะเริ่มสังเกตได้ว่า ช่วงนี้เริ่มมีฝนฟ้าคะนอง ลมแรง พายุฤดูร้อน ให้เห็นบ่อยขึ้น หรือนี่อาจเป็นสัญญาณจากธรรมชาติ ว่าเรากำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน จาก "ฤดูร้อน" สู่ "ฤดูฝน"
ฤดูกาลประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ฤดู
- ฤดูร้อน เริ่มต้นประมาณ กลางเดือนกุมภาพันธ์ - กลางเดือนพฤษภาคม
- ฤดูฝน เริ่มต้นประมาณ กลางเดือนพฤษภาคม - กลางเดือนตุลาคม
- ฤดูหนาว เริ่มต้นประมาณ กลางเดือนตุลาคม - กลางเดือนกุมภาพันธ์
"Pre-Southwest Monsoon" คืออะไร
กรมอุตุนิยมวิทยา ได้อธิบายว่า ช่วงนี้คือระยะ "ช่วงก่อนเริ่มต้นเข้าฤดูฝน" หรือ ช่วงระหว่างเปลี่ยนผ่านจาก "ฤดูร้อน" เป็น "ฤดูฝน" เกิดขึ้นราว "ต้นเดือน พฤษภาคม" ลมใกล้ผิวพื้นที่พัดปกคลุมประเทศไทย เริ่มเปลี่ยนทิศทางเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ (ลมที่พัดจากทะเลอันดามัน)
สภาพอากาศช่วงก่อนเข้าสู่ "ฤดูฝน" ระบบลมจะมีทิศทางแปรปรวน อาจมีแนวสอบของลม 2 กระแส อากาศร้อน ระบุเวลาฝนที่ตกได้ไม่ชัดเจน
- ลมใต้ ลมตะวันออกเฉียงใต้ ฝนมักตกช่วงเช้าถึงสาย
- ลมตะวันตกเฉียงใต้ ฝนมักตกช่วงบ่ายถึงค่ำ
สิ่งที่ควรระวังในช่วง Pre-Southwest Monsoon นั้นคือ
- อันตรายจากฟ้าผ่า - ลมกระโชกแรง
- อยู่ให้ห่างจาก ต้นไม้ใหญ่ และ ป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง
- เกษตรกรควรระวัง ป้องกันและระวังความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตร
เงื่อนไขการประกาศเข้าสู่ "ฤดูฝน" มีอะไรบ้าง
เงื่อนไขการประกาศเข้าสู่ฤดูฝน พิจารณาจากปัจจัยทางด้านอุตุนิยมวิทยา
- มีฝนตกชุกต่อเนื่องและครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ
- ทิศทางลมตั้งแต่ระดับล่างใกล้ผิวพื้นถึงความสูง 3.5 กม. เปลี่ยนทิศทางเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมประเทศอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 1-2 สัปดาห์
- ลมชั้นบน ตั้งแต่ระดับความสูง 5 กม. ขึ้นไป เปลี่ยนทิศทางเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือ

ภาพจาก กรมอุตุนิยมวิทยา
ภาพจาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สัญญาณก่อนฤดูฝน 5-8 พ.ค. ฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่
ข้อมูลจาก กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. นับตั้งแต่ 07.00 - 07.00น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 15 วันล่วงหน้า ระหว่าง 5-19 พ.ค.2568 init. 2025050412 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) วิเคราะห์ตามผลจากแบบจำลองฯ "เฉดสีแดง" หมายถึง "ฝนหนัก" ขณะที่ "สีเขียว" หมายถึง "ฝนเล็กน้อย"

ภาพจาก กรมอุตุนิยมวิทยา
ภาพจาก กรมอุตุนิยมวิทยา
ช่วง 5-8 พ.ค.68 ประเทศไทยตอนบนยังมีฝน/ฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือตอนบน ส่วนภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑล ฝนอยู่ในเกณฑ์เล็กน้อยถึงปานกลางบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้ยังมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักได้บางแห่ง ช่วงบ่ายถึงค่ำ ทิศทางลมเริ่มมีลมตะวันตก ลมตะวันตกเฉียงใต้ พัดจากอันดามันปกคลุมประเทศไทยมากขึ้น เป็นสัญญาณก่อนฤดูฝน (Pre-Southwest monsoon) ปริมาณฝนอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีฝนตกหนักบางวัน
ช่วง 9 - 19 พ.ค.68 ต้องติดตามและเฝ้าระวังกันตลอดช่วง เป็นช่วงที่อากาศมีความแปรปรวนสูง จะเป็นช่วงเตรียมเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่ฤดูฝน ลมตะวันตกเฉียงใต้เริ่มมีกำลังแรงขึ้นและพัดแน่ทิศมากขึ้น (มาจากทางด้านทะเลอันดามัน) ประกอบกับคาดว่าจะมีแนวร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบน ทำให้ทั่วไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักได้ หลายพื้นที่ ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด
ฝนที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนถ่ายฤดู อาจมีหลายเวลา ส่วนใหญ่ยังเป็นฝนฟ้าคะนอง มีลมกระโชกแรง ปริมาณเฉลี่ยเล็กน้อยถึงปานกลาง และเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ฝนจะเกิดขึ้นในช่วงบ่ายถึงค่ำ โดยปกติประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนประมาณกลางเดือน พ.ค.
สำหรับฤดูฝนปีนี้รอประกาศอย่างเป็นทางการจากกรมอุตุนิยมวิทยาอีกครั้ง เมื่อพิจารณาเกณฑ์หรือเงื่อนไขต่างๆ ครบถ้วน ช่วงที่มีฝนควรสำรองน้ำไว้ใช้ เพื่ออุปโภค บริโภค ในบางพื้นที่น้ำฝนยังไม่เพียงพอต่อการเกษตรกรรม
*** ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ตามข้อมูลนำเข้าและประมวลผลใหม่ ใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจและติดตามสภาพอากาศ

จุดเริ่มต้นฤดูฝน และลักษณะสำคัญ
ฤดูฝน เริ่มต้นประมาณกลางเดือนพฤษภาคม เมื่อมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย และร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านประเทศไทย ทำให้มีฝนชุกทั่วไป ร่องความกดอากาศต่ำนี้ปกติ จะพาดผ่านภาคใต้ในระยะต้นเดือนพฤษภาคม แล้วจึงเลื่อนขึ้นไปทางเหนือตามลำดับ จนถึงช่วงประมาณปลายเดือนมิถุนายน จะพาดผ่านอยู่บริเวณประเทศจีนตอนใต้ ทำให้ฝนในประเทศไทยลดลงระยะหนึ่ง เรียกว่า "ฝนทิ้งช่วง" ซึ่งอาจนานประมาณ 1 - 2 สัปดาห์หรือบางปีอาจเกิดขึ้นรุนแรง และมีฝนน้อยนานนับเดือน
เข้าสู่เดือนกรกฎาคม ปกติร่องความกดอากาศต่ำจะเลื่อนกลับลงมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีน พาดผ่านบริเวณประเทศไทยอีกครั้ง ทำให้มีฝนชุกต่อเนื่อง และปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฏาคมเป็นต้นไป จนกระทั่งมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดเข้ามาปกคลุมประเทศไทย แทนที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้
ประมาณกลางเดือนตุลาคม ประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมี "อากาศเย็น" และ "ฝนลดลง" โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เว้นแต่ภาคใต้ยังคงมีฝนชุกต่อไปจนถึงเดือนธันวาคม และมักมีฝนหนักถึงหนักมากจนก่อให้เกิดอุทกภัย โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งจะมีปริมาณฝนมากกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันตก อย่างไรก็ตามการเริ่มต้นฤดูฝนอาจจะช้าหรือเร็วกว่ากำหนดได้ประมาณ 1 - 2 สัปดาห์

เกณฑ์พิจารณาปริมาณฝนในระยะเวลา 24 ชั่วโมง
เกณฑ์การพิจารณาปริมาณฝนในระยะเวลา 24 ชั่วโมงของแต่ละวันตั้งแต่เวลา 07.00 น. ของวันหนึ่งถึงเวลา 07.00 น.ของวันรุ่งขึ้นตามลักษณะของฝนที่ตกในประเทศที่อยู่ในเขตร้อนย่านมรสุมมีดังนี้
- ฝนวัดจำนวนไม่ได้ ปริมาณฝนน้อยกว่า 0.1 มิลลิเมตร
- ฝนเล็กน้อย ปริมาณฝนระหว่าง 0.1 - 10.0 มิลลิเมตร
- ฝนปานกลาง ปริมาณฝนระหว่าง 10.1 - 35.0 มิลลิเมตร
- ฝนหนัก ปริมาณฝนระหว่าง 35.1 - 90.0 มิลลิเมตร
- ฝนหนักมาก ปริมาณฝนตั้งแต่ 90.1 มิลลิเมตรขึ้นไป
เข้าสู่ฤดูฝนปี 2568 เตรียมพร้อมรับมืออย่างไรดี
- พกร่มหรือเสื้อกันฝน ติดตัวไว้เสมอ โดยเฉพาะช่วงบ่าย-เย็น
- ตรวจสอบท่อระบายน้ำ หน้าบ้าน-อาคาร ไม่ให้มีสิ่งอุดตัน
- เช็กสภาพยางรถยนต์ ป้องกันอุบัติเหตุจากถนนลื่น
- เปลี่ยนเสื้อผ้าเร็วหลังเปียกฝน และรับประทานอาหารร้อน
- ต้องระวังน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ลุ่มต่ำ
- ฝนตกต้องระวังไฟฟ้าลัดวงจรในพื้นที่เปียกชื้น
- สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ โรคติดต่อทางน้ำ เช่น ไข้เลือดออก และโรคฉี่หนู
- ติดตามพยากรณ์อากาศประจำวัน ผ่านเว็บไซต์หรือแอปฯ กรมอุตุนิยมวิทยา
สุดท้าย อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อย่าลืมดูแลสุขภาพ พร้อมรับ ฤดูฝน ปี 2568
อ่านข่าว : ป.ป.ช.มีมติชี้มูล “อดีตผอ.ส่วนฟื้นฟูฯ สบอ.6” เรียกรับเงินจากพนักงานจ้าง
อุทยานฯ หมู่เกาะสุรินทร์ ยันไม่มีใช้แรงงานเด็กมอแกน-จ้างผู้ใหญ่วันละ 5 ชม.