ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับสัญญาณประชุมเฟด 5-6 พ.ค.นี้ กรุงศรีฯชี้เงินบาทซื้อขายกรอบ 32.70-33.30

เศรษฐกิจ
6 พ.ค. 68
17:06
103
Logo Thai PBS
จับสัญญาณประชุมเฟด 5-6 พ.ค.นี้ กรุงศรีฯชี้เงินบาทซื้อขายกรอบ 32.70-33.30
อ่านให้ฟัง
08:47อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรุงศรีฯ คาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 32.70-33.30 จับสัญญาณเฟด จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 4.25-4.50% หลังการประชุมวันที่ 5-6 พ.ค.นี้ ด้านศูนย์วิจัยกรุงไทยฯ มอง ภาวะการเงินไทยยังคงตึงตัว สะท้อนเศรษฐกิจโดยรวมยังอ่อนแรง

วันนี้ ( 6 พ.ค.2568) กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์ต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.70-33.30 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 33.07 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 33.07-33.77 บาท/ดอลลาร์

ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินยูโรและเยน แม้ข้อมูลบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯไตรมาส 1/68 หดตัว 0.3% ซึ่งเป็นการลดลงรายไตรมาสครั้งแรกในรอบ 3 ปี เนื่องจากการนําเข้าพุ่งสูงขึ้นก่อนการปรับขึ้นภาษีศุลกากรและธุรกิจต่างๆสะสมสินค้าคงคลัง ทางด้านเงินเยนอ่อนค่าลงหลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% และปรับลดประมาณการทางเศรษฐกิจโดยส่งสัญญาณระมัดระวังมากขึ้นสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยในระยะต่อไป ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทย 1,492 ล้านบาท แต่มียอดขายพันธบัตร 7,411 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 4.25-4.50% หลังการประชุมวันที่ 5-6 พ.ค.ผู้ร่วมตลาดจะติดตามสัญญาณว่าเฟดกําลังพิจารณากลับมาลดดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนมิ.ย.หรือไม่ หลังตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเมษายนยังแข็งแกร่ง

ความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าที่อยู่ในระดับสูงอาจทําให้เฟดหลีกเลี่ยงที่จะแสดงท่าทีชัดเจน และเฟดอาจเน้นย้ำว่าต้องพึ่งพาข้อมูลเพื่อประเมินผลกระทบของนโยบายการค้า ขณะที่การตัดสินใจตรึงดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะได้รับการวิจารณ์จากประธานาธิบดีทรัมป์มากขึ้น

นอกจากนี้ คาดว่าธนาคารกลางอังกฤษ(บีโออี)จะลดดอกเบี้ยลง 25bps เป็น 4.25% ในวันที่ 8 พ.ค. ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยของบีโอเจที่ช้าลงอาจถ่วงค่าเงินเยนเพียงช่วงสั้น โดยมองว่าหากเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนระหว่างญี่ปุ่นกับต่างประเทศจะแคบลงและยังคงหนุนค่าเงินเยนในกลางถึงระยะยาว

สำหรับปัจจัยในประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวลดลงและเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าโลกและภาคท่องเที่ยว โดยสงครามการค้าจะเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 68

อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนยังสูงมาก ขณะที่ฉากทัศน์ที่การเจรจาการค้ามีความยืดเยื้อและภาษีนำเข้าของสหรัฐฯใกล้เคียงกับปัจจุบันอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตราว 2% ประเมินว่าการปรับโทนอย่างมีนัยสำคัญของกนง.อาจนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 2ครั้งก่อนสิ้นปีนี้

ด้านธนาคารกรุงไทย วิเคราะห์แนวโน้มการเงินของไทยหลัง กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.75% ต่อปี เป็นการลดลงต่อเนื่องจากการประชุมครั้งก่อน จากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบสูงจากสถานการณ์นโยบายการค้าสหรัฐฯ

ซึ่งกนง. ประเมินผลกระทบเป็น 2 scenario โดย Reference Scenario (Lower Tariffs) คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2025 จะขยายตัวที่ 2.0% ขณะที่ Alternative Scenario (Higher Tariffs) เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวเพียง 1.3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป กนง. มองว่ามีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย จากราคาพลังงานที่คาดว่าจะต่ำลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกรุงไทย ประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่ กนง. จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม สู่ระดับ 1.50% ภายในปี 2025 โดยช่วงเวลาของการตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับผลของการเจรจากับสหรัฐฯ ในการปรับลดภาษีนำเข้า หลังพ้นกรอบระยะเวลายกเว้นการเก็บภาษี 90 วัน และพัฒนาการโดยรวมของเศรษฐกิจไทย

ภาวะการเงินไทยยังคงมีความตึงตัว สะท้อนจากสินเชื่อที่ยังหดตัวแม้จะมีสัญญาณ การทรงตัวโดยข้อมูล ก.พ. 68 สินเชื่อรวม (ไม่รวมภาครัฐ) หดตัว -0.5% โดย SMEs สินเชื่อยังตงหดตัวที่ -3.0% ด้านคุณภาพสินเชื่อธุรกิจทรงตัว สะท้อนภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังอ่อนแรง

นอกจากนี้ กนง. แสดงความกังวลถึงความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้น จากการที่นโยบายการค้าโลกสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อฐานะการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือน โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจาก Tariff ของสหรัฐที่จะปรับสูงขึ้นมากหากการเจรจาการค้าของไทยไม่บรรลุผล

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป กนง. ประเมินว่ามีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย จากปัจจัยด้านอุปทานโดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐเป็นสำคัญ โดยราคาน้ำมันดูไบปรับลดลงจากประมาณการรอบก่อน โดยในปี 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ 71 USD/bbl ใน Reference Scenario และ 68 USD/bbl ใน Alternative Scenario

เงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัว และเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ดี กนง. ประเมินว่านโยบายกีดกันทางการค้าและการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิตโลกอาจส่งผลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ คาดว่า กนง. อาจพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมสู่ระดับ 1.50% จากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบรุนแรงจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ มองว่าช่วงเวลาของการตัดสินนโยบายครั้งต่อไป กนง. จะพิจารณาจากพัฒนาการของการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ หลังพ้นกรอบระยะเวลายกเว้นการเก็บภาษี 90 วัน และพัฒนาการของเศรษฐกิจไทย เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดจาก policy space ที่มีจำกัด

ประชุมครั้งต่อไปช่วงปลายเดือน มิ.ย. หาก กนง. ตัดสินใจลดดอกเบี้ยอีกครั้ง จะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง 3 การประชุมเช่นเดียวกับช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินโลก 2008 ( GFC ) และโควิด-19

อ่านข่าว:

 ฤาจะถึงคราเสน่ห์ "เที่ยวไทย" สิ้นมนต์ขลัง ในสายตานักท่องเที่ยวจีน

พลังงาน-ไฟฟ้าลด ฉุดเงินเฟ้อไทย วูบ 0.22% ครั้งแรกในรอบ 13 เดือน

“จีดีพี”ไทยโตรั้งท้ายอาเซียน เวิลด์แบงก์-IMF หั่นเหลือ 1.6-1.8%

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง