ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ” ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ชุมพร ค้าน “โครงการแลนด์บริดจ์”

Logo Thai PBS
“เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ” ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ชุมพร ค้าน “โครงการแลนด์บริดจ์”
อ่านให้ฟัง
08:08อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

วันนี้ (6 พ.ค.2568) ตัวแทนเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ จ.ชุมพร เข้ายื่นหนังสือต่อ นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ ผู้ว่าฯ ชุมพร เพื่อขอคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ และร่างกฎหมายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC)

หนังสือดังกล่าวระบุว่า ตามที่รัฐบาลนำเสนอนโยบายการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ด้วยการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร และผลักดันให้มีกฎหมายระเบียบเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ SEC โดยอ้างว่า จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของทั้งสองจังหวัด และภาคใต้โดยรวม ทั้งที่เรื่องนี้ยังมีงานวิชาการที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ทั้งยังมีความเห็นต่างของประชาชนในพื้นที่

พวกเราเครือข่ายรักษ์รักษ์พะโต๊ะ จ.ชุมพร ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ฯ มีความเห็นที่เคยเสนอเหตุผลไปยังรัฐบาลแล้วหลายครั้ง ทั้งกับนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ว่า หากโครงการนี้เกิดขึ้นได้จริง จะสร้างผลตอบแทนอย่างมหาศาลให้กับคนในพื้นที่ ทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคมวัฒนธรรม การประกอบอาชีพ ซึ่งรวมถึงการต้องสูญเสียที่ดิน ทั้งที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน เสมือนว่า พวกเราจะต้องเสียสละเพื่อคนบางกลุ่มเท่านั้น โดยเฉพาะนักลงทุนชาวต่างชาติ

โอกาสที่ท่าน มาดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าฯ ชุมพร จึงขอนำเสนอข้อเท็จจริงภายใต้ข้อห่วงกังวลของเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ เพื่อให้ท่านได้นำไปพิจารณาต่อไป

1.กระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และรวมถึงการศึกษาต่าง ๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน อันเป็นโครงการย่อยที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการแลนด์บริดจ์ อย่างเช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกอ่าวอ่าง จ.ระนอง และโครงการท่าเรือน้ำลึกแหลมริ่ว จ.ชุมพร โครงการรถไฟรางคู่เชื่อมท่าเรือทั้งสองฝั่ง โครงการมอเตอร์เวย์ หรือทางหลวงพิเศษเชื่อมทั้ง 2 จังหวัด รวมถึงการศึกษาที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม ที่มีการกำหนดพื้นที่ไว้บ้างแล้วนั้น

ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นถึงกระบวนการศึกษา ที่ด้อยมาตรฐานทางวิชาการ และยังบกพร่องต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการต่าง ๆ หรือ แม้แต่การดำเนินการที่ผิดขั้นตอน

ครั้งหนึ่งรองผู้ว่าฯ ชุมพร เคยมีความเห็นให้ยกเลิกเวทีไปแล้ว จนมีคำถามว่า ในขณะที่โครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ ทำไมกระบวนการศึกษาผลกระทบจึงไม่สมราคา พวกเราจึงเห็นว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับขั้นตอนนี้เหล่านี้ให้มาก เพราะการจะเริ่มต้นที่ดี จะทำให้มีความน่าเชื่อถือ และจะทำให้รัฐบาลได้รับข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาอย่างรอบด้าน เพื่อที่จะนำความคิดเห็นทั้งหมด ไปประกอบการตัดสินใจอย่างถูกต้อง หาใช่เพียงแค่การสร้างพิธีกรรมเพื่อให้เสร็จตามกฎหมายบังคับเท่านั้น

2.โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่ต้องประกอบด้วยโครงการย่อยอีกหลายโครงการ ที่ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน ตลอดเส้นทางโครงการ ถึงขั้นต้องสูญเสียที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน

ดังนั้นรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับความคิดความเห็นของประชาชน ตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้น คือการมีสิทธิในการตัดสินใจว่า โครงการนี้ควรมีหรือไม่ควรมี ผ่านการนำข้อมูลทางวิชาการมาประกอบ เพื่อประเมินให้เห็นถึงผลได้ผลเสีย ในภาพรวมของโครงการทั้งหมด ว่าจะมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่

รัฐบาลจึงควรทำการศึกษาในเชิงยุทธศาสตร์เสียก่อน ที่ไม่ควรรวบรัดเพียงเพราะมีเป้าประสงค์ที่จะให้เกิดโครงการเกิดขึ้น ตั้งแต่ต้น จึงมาจัดทำการศึกษาเพียงสร้างพิธีกรรมประกอบ เพื่อให้ครบถ้วน ตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น

3.รัฐบาลพูดเสมอว่า ต้องการให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีเศรษฐกิจและสังคมที่ดี ตามที่พยายามสร้างภาพฝันเหล่านั้นไว้ แต่ทำไมจึงไม่สร้างนวตกรรมทางนโยบายการพัฒนา ที่ตั้งอยู่บนฐานศักยภาพ ที่มีอยู่จริงในพื้นที่ และหากพิจารณาพื้นที่ จ.ระนอง ชุมพร ที่รัฐบาลจะนำไปใช้สร้างโครงการแลนด์บริดจ์แล้ว พบว่า มีศักยภาพในหลายด้าน อย่างเช่น ด้านการเกษตร การประมง การท่องเที่ยวและบริการ

รัฐบาลจึงควรสร้างสรรค์โครงการที่ดี พร้อมกับการทุ่มงบประมาณมาพัฒนาสิ่งเหล่านั้น ให้คนในพื้นที่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง หาใช่นำโครงการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้ที่ดินจำนวนมหาศาลกว่า 1 แสนไร่ ที่ยึดคืนหรือเวนคือนจากประชาชนในพื้นที่ แล้วยกที่ดินเหล่านั้นให้กับชาวต่างชาติ ที่จะมาเป็นผู้ลงทุน ภายใต้กฎหมายพิเศษ

พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ที่รัฐบาลกำลังผลักดัน ด้วยการเปิดอนุญาตให้เขาได้สิทธิในผืนแผ่นดินเหล่านั้นนานถึง 99 ปี และกฎหมายยังเปิดทางให้แรงงานของประเทศที่มาลงทุน เข้ามาทำงานได้อย่างเสรี ซึ่งยังมีสิทธิพิเศษอีกมากมาย ที่พวกเขาจะได้รับจากกฎหมายฉบับดังกล่าว

นั่นหมายความว่า พวกเราผู้เป็นเจ้าของแผ่นดินตัวจริ งจะต้องออกไปจากบ้านเกิด และที่ทำกินของตนเอง เมื่อเป็นเช่นนั้นจริงแล้ว ความเจริญและการอยู่ดีกินดีนั้นคงไม่ใช่พวกเราแต่คงเป็นคนชาติอื่น ส่วนพวกเราเจ้าของแผ่นดินอาจจะถูกสดุดีว่า “ผู้เสียสละ” เพื่อความเจริญของใครก็ไม่รู้ ซึ่งรัฐบาลจะต้องตอบคำถามนี้ให้กับพวกเราก่อนที่จะคิดสร้างโครงการนี้ขึ้นมา

4.กฎหมายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 (EEC) และร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ทั้ง 4 ฉบับ อาจเข้าข่ายขัดเจตนารมณ์และผิดรัฐธรรมนูญในหลายมาตรา ทั้งในมิติด้านสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน สิทธิการพัฒนา สิทธิทางวัฒนธรรมและสิ่วแวดล้อม รวมถึงการสร้างความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้กฎหมายระหว่างพลเมืองไทยกับผู้ประกอบการ (ต่างชาติ)

เชื่อว่าจะนำไปสู่การทำลายความมั่นคงแห่งรัฐ ผ่านการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนต่างชาติ โดยเฉพาะการสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของพลเมืองไทยเกือบ 100 ปี ที่ประชาชนทั้งประเทศจะต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างเท่าเทียมกัน หาใช่แค่รัฐบาลเท่านั้น

เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ จ.ชุมพร จึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อนโยบายด้านการพัฒนาพื้นที่ จ.ระนอง ชุมพร ภายใต้โครงการขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “แลนด์บริดจ์” รวมถึงการนำกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษมาใช้กับโครงการนี้ และในพื้นที่ภาคใต้อื่น ๆ พวกเราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร จะเข้าใจ พร้อมกับกล้าที่จะนำเสนอข้อกังวลเหล่านี้ให้รัฐบาลได้รับทราบต่อไป

อ่านข่าว : พลังงาน-ไฟฟ้าลด ฉุดเงินเฟ้อไทย วูบ 0.22% ครั้งแรกในรอบ 13 เดือน

ทอ.ส่ง F-16 บินสกัดกั้น อากาศยานไม่ทราบฝ่าย ชายแดนไทย-เมียนมา จ.กาญจนบุรี

นักวิชาการธรรมศาสตร์ จี้รัฐบาล เร่งเปิด "เจรจาสันติภาพ" ดับไฟใต้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง