ปัจจุบันปลาน้ำกกแทบไม่มีคนซื้อ ถ้ารู้ว่าเป็นปลามาจากแม่น้ำกก ถือเป็นความทุกข์ระทมของชาวบ้าน ทั้งคนขายปลาและคนหาปลา
เสียงสะท้อนวิกฤตแม่น้ำกกที่ปนเปื้อนสารพิษ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อคนกินและขายปลา

สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต คลุกคลีกับชาวบ้านและชาวประมงในลุ่มน้ำโขง (เหนือ)-กก-อิง เปิดเผยกับไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ ถึงภัยพิบัติสารพิษแม่น้ำที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในลุ่มน้ำใน จ.เชียงราย
สมเกียรติ เล่าว่า สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้ คือร่วมมือกับประมงจังหวัดเชียงราย เร่งเก็บตัวอย่างปลาเพื่อนำไปตรวจโรคและสารโลหะหนัก

การเก็บตัวอย่างปลาครั้งแรก วันที่ 28 เม.ย.2568 ที่บริเวณสบคำ ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ได้เก็บตัวอย่างปลาได้ปลาแข้ กับปลากดเหลือง
การเก็บตัวอย่างปลา ครั้งที่สอง วันที่ 3 -4 พ.ค.2568 บริเวณท้ายฝายเชียงราย บ้านป่ายางมน ต.รอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย
ได้ปลาที่ผิดปกติคือ ปลาแข้ เป็นปลาที่หากินบริเวณท้องน้ำลึก ซึ่งปลาแข้ที่จับได้น่าจะเพิ่งติดเชื้อใหม่

ตัวอย่างปลาทั้งหมดได้ส่งให้กับประมงจังหวัดเชียงราย ตรวจหาโรคและสารโลหะหนัก คือ ปรอท ตะกั่ว สารหนู และแคดเมียม คาดว่า จะทราบผลตรวจประมาณ 2-3 สัปดาห์
สมเกียรติบอกว่า ปลาในแม่น้ำกกมีอยู่ประมาณ 86 ชนิด จากงานสำรวจวิจัยไทยบ้านเมื่อปี 2547 ส่วนปลาในแม่น้ำโขงที่เป็นแม่น้ำสายหลักมีพันธุ์ปลาประมาณ 200 ชนิด แต่ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 100 ชนิด จำนวนพันธุ์ปลาลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งชนิด และขนาดของตัวปลา

การพบสารพิษในแม่น้ำกก ที่ไม่เคยพบมาก่อนในพื้นที่ จ.เชียงราย ปกติปลาก็ลดลงอยู่แล้ว การพบสารพิษ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ของปลา
นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ระบุพบปลาลักษณะติดเชื้อในแม่น้ำโขงตอนเหนือ จากการลงพื้นที่ เช่น บริเวณสบรวก หรือสามเหลี่ยมทองคำ ความขุ่นของแม่น้ำที่ไหลมาจากสาขา น้ำจะไหลไปตามตลิ่ง
ความกังวลในตอนนี้ บริเวณที่มีความเข้มข้นของสารพิษที่เจือปนอยู่ในน้ำและตกตะกอนริมฝั่ง ซึ่งเป็นแหล่งหาปลาของชาวบ้าน ขณะเดียวกันแม่น้ำโขงก็อาจมีสารเคมีจากการปลูกกล้วยหอม ในประเทศลาว ก่อนหน้านี้ ซึ่งจะทำให้ปลาในแม่น้ำโขงได้รับสารพิษทุกทาง

ล่าสุดที่บริเวณแม่น้ำโขงบริเวณปากแม่น้ำคำ หรือสบคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ก็พบว่า ปลาแม่น้ำโขงมีลักษณะเป็นตุ่ม คล้ายลักษณะติดเชื้อเช่นเดียวกันกับแม่น้ำกก ส่วนหนึ่งก็อาจมาจากการอพยพของปลา
ตอนนี้ปลาในแม่น้ำโขงเริ่มอพยพขึ้นไปวางไข่บริเวณแม่น้ำสาขา ช่วงใกล้ฤดูฝน ผลกระทบครั้งนี้น่าจะรุนแรงเป็นผลกระทบของกว้าง
สมเกียรติ ได้เสนอทางแก้ปัญหาให้รัฐบาลเร่งเจรจา 4 ฝ่ายคือ ไทย เมียนมากลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์และจีนเพื่อตรวจสอบ หามาตรการควบคุมสารพิษตามกฎหมายหรืออนุสัญญาสิ่งแวดล้อมระดับสากลหรือถ้าไม่สามารถควบคุมได้ข้อเสนอสูงสุดคือ “ต้องยุติการทำเหมือง”

หลังจากนี้ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต จะร่วมกับเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำกก อิง โขง ในการทำแผนป้องกันและรับมือผลกระทบ 3 ระยะ คือ
ระยะที่หนึ่ง ระยะเร่งด่วน ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบสารเคมีปนเปื้อนในน้ำ ปลา และสัตว์น้ำ ในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย แม่น้ำรวก และแม่น้ำมะ

ระยะที่สอง ตรวจสอบสารเคมีปนเปื้อนในน้ำ ปลา และสัตว์น้ำในลำน้ำโขง จ.เชียงราย และลำห้วยสาขาแม่น้ำกก จาก อ.ท่าตอน จ.เชียงใหม่ จนถึงปากแม่น้ำกก 28 ลำห้วย
ระยะที่สาม ตรวจสอบสารเคมีปนเปื้อนในน้ำ ปลา และสัตว์น้ำในแม่น้ำคำ แม่น้ำอิง และแม่น้ำงาว ระยะทาง 10 กิโลเมตรจากปากแม่น้ำ เพื่อหาข้อเท็จจริงในการสื่อสารให้กับชุมชนได้ตั้งรับปรับตัวจากข้อกังวลผลกระทบที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น
อ่านข่าว : จนท.อุทยานฯ สุรินทร์ เร่งช่วย "ฉลามวาฬ" ติดเศษอวน
อุทยานฯ หมู่เกาะสุรินทร์ ยันไม่มีใช้แรงงานเด็กมอแกน-จ้างผู้ใหญ่วันละ 5 ชั่วโมง
พ่อเมืองเชียงรายสั่ง "งดใช้" น้ำกก-น้ำสาย ยังพบ "สารหนู" ปนเปื้อน