ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หน.ผู้ออกแบบรัฐสภา ยื่นค้านปรับปรุงสภา-ถมสระมรกต หวั่นกระทบโครงสร้าง

การเมือง
8 พ.ค. 68
13:14
205
Logo Thai PBS
หน.ผู้ออกแบบรัฐสภา ยื่นค้านปรับปรุงสภา-ถมสระมรกต หวั่นกระทบโครงสร้าง
"หัวหน้าผู้ออกแบบอาคารรัฐสภา" ยื่นค้านปรับปรุงสภา-ถมสระมรกต หวั่นกระทบโครงสร้าง ทำอากาศไม่ไหลเวียน ต้องใช้งบอีกมหาศาลติดแอร์-จ่ายค่าไฟ

วันนี้ (8 พ.ค.2568) คณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา นำโดย ศ.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ รองประธานคณะกรรมาธิการ และประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะสร้างสรรค์ รับหนังสือจากนายชาตรี ลดาลลิตสกุล ศิลปินแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารรัฐสภา เพื่อขอคัดค้านการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบของอาคารรัฐสภา

นายชาตรี กล่าวว่า ขอคัดค้านการที่รัฐสภาได้จัดทำงบประมาณจากการปิดสระมรกตเพื่อสร้างเป็นห้องสมุดและร้านค้าเพื่อบริการประชาชน โดยอ้างสาเหตุหลักมาจากปัญหาน้ำรั่วซึมและเกิดปัญหาน้ำเน่ายุงชุม ซึ่งขอชี้แจงว่า สระมรกตถูกออกแบบและมีระบบการกรองแบบสระว่ายน้ำ

หากดูแลตามปกติวิสัย มีการเปิดระบบให้น้ำไหลเวียนทุกวันตามมาตรฐาน จะไม่สามารถเกิดยุงได้อย่างแน่นอน ขณะที่กรณีสระรั่วซึมเป็นเรื่องคุณภาพการก่อสร้าง ซึ่งควรเป็นความรับผิดชอบของผู้รับเหมาเนื่องจากอยู่ในระยะประกันผลงาน และเพิ่งตรวจรับงานไม่นาน จึงไม่จำเป็นต้องเอาปัญหาของผู้รับเหมามาเป็นของตัวเอง

ส่วนความคิดที่จะย้ายห้องสมุดจากชั้น 9 - 10​ ลงมาที่ชั้นหนึ่ง นั้นนายชาตรี กล่าวว่า ไม่สมเหตุสมผล สิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น เนื่องจากห้องสมุดดังกล่าวใช้งบประมาณถึง 100 กว่าล้านบาทและยังไม่ได้ใช้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวเชื่อมโยงกับหอจดหมายเหตุที่อยู่ชั้น 8 และผู้ที่ใช้งานห้องสมุด ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการสภา สส.และ สว.หากต้องการให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ก็ไม่ควรย้ายมาบริเวณสระมรกต ควรสร้างนอกอาคาร อีกทั้งการที่ใช้พื้นที่สระมรกต ทำห้องสมุด อาจจะกระทบกับโครงสร้างที่ออกแบบไว้ได้เนื่องจากห้องสมุดมีน้ำหนักมากพอสมควร

นายชาตรี ยืนยันว่า​ ไม่เห็นด้วยกับการถมพื้นที่สระมรกต เนื่องจากขณะออกแบบต้องการให้อาคารรัฐสภา เป็นอาคารประหยัดพลังงาน ระดับดีเด่น (แบบตู้กับข้าว) มีช่องลมให้อากาศพัดผ่านในทุกทิศ

 

รวมถึงให้แสงที่ส่องผ่านลงมากระทบผนัง เสาสระน้ำ และอาคาร เจาะจงให้แสงเข้ามาน้อยเพื่อให้บรรยากาศที่สงบ ร่มเย็นและมั่นคง อาศัยเทคนิคการปรับเย็น โดยวิธีธรรมชาติสูงขึ้น เป็นหลักในพื้นที่โถงและทางเดิน โดยอาคารจะถูกเจาะให้เป็นรูพรุนด้วยช่องลมทุกชั้นทุกทิศทางเพื่อให้ลมพัดความร้อนออกจากอาคาร

เป็นที่สังเกตว่า อากาศในโถงนี้จะมีสภาวะน่าสบาย แม้อากาศภายนอกจะร้อนมากในฤดูร้อนก็ตาม แต่หากมีการถมสระเพื่อสร้างห้องสมุด ตนนึกไม่ออกว่าพื้นที่โล่ง 10 ชั้นจะต้องใช้งบประมาณเท่าใด ทั้งในการติดแอร์และปิดช่องต่าง ๆ ขณะเดียวกันในแต่ละเดือนจะต้องมีค่าไฟอีกจำนวนมหาศาล

สำหรับ ศาลาแก้ว ที่จะมีการของบประมาณจำนวนมากในการปรับปรุง นั้น​ นายชาตรี กล่าวว่า ตนก็ขอคัดค้านเช่นกัน เพราะเป็นการออกแบบมาสำหรับใช้ในงานพิธีสำคัญ เช่น​ พิธีทำบุญเทศกาลต่าง ๆ ของรัฐสภา

แต่ที่ตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ซึ่งขณะนี้ยังก่อสร้างอยู่นั้น ไม่ได้อยู่ในแบบ และที่ไม่ได้ติดแอร์ศาลาแก้ว แต่สามารถใช้งานได้จริง เพราะออกแบบให้มีผ้าใบที่เคลือบด้วยอะลูมิเนียม ที่สะท้อนแสงกันความร้อนที่สามารถเลื่อนติดกระจกปิดกระจกให้ทึบได้ด้วยระบบไฟฟ้า โดยอากาศระหว่างระบบผ้าใบจะทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อนอีกชั้นหนึ่ง

อ่านข่าว : ยังไม่รู้ฝีมือใคร? ปลูกกัญชา 100 ต้น ในรัฐสภา

รวมถึงศาลาซึ่งตั้งอยู่ในที่โล่ง ลมพัดสะดวก ถูกออกแบบมาให้ลดอุณหภูมิโดยสระน้ำที่อยู่โดยรอบ และงานออกแบบนี้ไม่ได้สร้างขึ้นเพียงแค่เหตุผลการใช้งาน แต่มีเป้าหมายให้เป็นประติมากรรมสัญลักษณ์ที่แสดงถึงจิตวิญญาณ ภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมไทย และเป็นภาพจำหนึ่งของความเป็นไทยร่วมสมัยให้สังคมสถาปัตยกรรมโลก

อ่านข่าว : เลขาฯสภา แจงงบปรับปรุงสภาไม่มีโรงหนัง 4D - ติดแอร์ศาลาแก้ว

เมื่อถามว่า ขณะรับมอบเป็นไปตามสเปกหรือไม่ จนต้องของบประมาณเพิ่มเพื่อปรับปรุง นายชาตรี กล่าวว่า งานออกแบบของเราใช้งบประมาณ 11,000 กว่าล้านบาท แต่เมื่อมีการปรับแบบใช้งบประมาณ 12,000 กว่าล้านบาท แต่นอกเหนือจากนั้น​ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับตนเอง 

ไม่เห็นด้วยในหลาย ๆ เรื่อง แต่เป็นโครงการที่อยู่นอกสัญญาหลัก ซึ่งเป็นวิธีที่รัฐสภาทำ หากถามว่า ตรงตามสเปกหรือไม่ ก็เหมือนกับงานก่อสร้างทั่วไปที่ปัญหามากมาย ซึ่งการก่อสร้าง ใช้ทีมงานแบบเต็มทีมเหมือนก่อสร้างตึกของ สตง. มีที่ปรึกษา และมีผู้รับผิดชอบ ส่วนผู้ออกแบบหากได้รับเชิญก็ไป แต่ในช่วง 3-4 เดือนสุดท้าย ก่อนที่จะรับมอบงาน พวกตนไม่ได้รับเชิญ

ส่วนที่ต่อเติมนอกเหนือจากแบบขึ้นมาถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่​ นายชาตรี กล่าวว่า ไม่ถือว่าผิดกฎหมายเพราะการรับจ้างออกแบบ รัฐถือว่าเป็นการรับจ้างทำของ และเมื่อเป็นของรัฐ รัฐก็มีสิทธิ์ แต่ในฐานะผู้ออกแบบช่วยให้ความเคารพ กับงานของเราและปรึกษาเราหน่อย

อ่านข่าว : ประธาน สนช.เตรียมหารือแก้ปัญหาก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ล่าช้า พรุ่งนี้

นายชาตรี ยังเป็นห่วงการก่อสร้าง​ที่จอดรถเพิ่ม นั้น ผู้ที่จะดำเนินการจะต้องระมัดระวังปัญหาน้ำท่วม เพราะอาคารรัฐสภาที่ดำเนินการไว้แล้ว ได้มีการออกแบบป้องกันน้ำท่วมชั้นใต้ดินระดับ 4 ม. และเมื่อปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่อยู่ระดับ 2.5 เมตร ดังนั้นน้ำไม่ท่วมแน่นอน

แต่พื้นที่บริเวณถนนสามเสนมีลักษณะต่ำ หากเดินจากลานประชาชนเข้าไป จะพบประตูหนึ่งซึ่งเป็นประตูกันน้ำ ดังนั้น ณ วันนี้หากมีกรณีน้ำท่วมกรุงเทพฯ ยืนยันว่ารัฐสภาก็จะไม่มีปัญหาน้ำ

ในเรื่องที่จอดรถ ขณะที่ออกแบบก่อสร้าง เราทราบว่า ไม่เพียงพอ จึงได้ประสานกับทางทหารฝั่งสามเสนและวัดแก้วฟ้าฯ เพื่อไม่ขอใช้ที่จอดรถเพิ่ม แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ซึ่งตอนเสนอไปถึง 8 ครั้ง

 

 

 

อ่านข่าว : ข้อครหาทุจริตก่อสร้าง “รัฐสภาแห่งใหม่” 

จัดงบวางระบบไอทีรัฐสภาใหม่เกือบ 8,000 ล้านบาท  

“พริษฐ์” จี้สภาฯ แจงกรณีงบฯ ออกแบบอาคารจอดรถ 104.5 ล้านบาท 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง