เหมืองแร่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา เริ่มส่งผลกระทบต่อแม่น้ำหลายสายในเมียนมาและไทย เช่น แม่น้ำเลน แม่น้ำกก แม่น้ำรวก และแม่น้ำสาย โดยเฉพาะแม่น้ำระหว่างประเทศ แม่น้ำกกและแม่น้ำสาย ที่ไหลผ่าน จ.เชียงราย และเชียงใหม่ ตรวจพบสารหนูและสารโลหะหนักอื่นๆ ปนเปื้อนในแม่น้ำก่อนจะไหลลงแม่น้ำโขง
ทำให้ประชาชนกังวลถึงอันตรายจากรับสารพิษ และระบบนิเวศ เช่น สัตว์น้ำ พืชน้ำ รวมถึงการทำพื้นที่เกษตรกรรมที่ใช้น้ำอาจเสี่ยงต่อการสะสมของสารพิษโลหะหนัก

เมื่อพูดถึงพื้นที่รัฐฉาน มีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่จำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ กองกำลังชาติพันธุ์ว้า คำถามคือ “กองกำลังชาติพันธุ์ว้า” คือใคร ทำไมจึงต้องทำเหมืองแร่ ทำเหมืองแร่อะไรบ้าง มีใครเข้าไปลงทุน?
อ่านข่าว : เจาะเหมืองแร่ “ต้นแม่น้ำกก-น้ำสาย” มลพิษข้ามพรมแดน
ไทยพีบีเอสศูนย์ข่าวภาคเหนือ ได้พูดคุยกับ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ ที่ศึกษาการทำเหมืองแร่ในรัฐฉาน และความสัมพันธ์ทางการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่เชื่อมถึง การเมืองในเมียนมา สู่การทำเหมืองแร่

เจ้าหน้าที่มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (ขอสงวนชื่อ) เปิดเผยว่า สถานการณ์ทางการเมืองในพื้นที่ มีส่วนสำคัญทำให้เกิดการทำเหมืองในพื้นที่รัฐฉาน ตรงข้ามชายแดนประเทศไทย ด้าน จ.เชียงราย แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่
โดยในพื้นที่ดังกล่าว มีกองกำลังติดอาวุธแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มกองกำลังที่อยู่ติดกับชายแดนจีน ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรรัฐฉานตอนเหนือ มีกลุ่มว้า คะฉิ่น ตะอั้ง โกก้าง เมืองลา อาระกัน โดยมีกลุ่มว้า UWSA เป็นผู้นำ
ส่วนทางใต้ของรัฐฉาน ที่อยู่ติดกับชายแดนไทย มีกลุ่มไทใหญ่ กองทัพรัฐฉาน (RCSS) ปะโอ และลาหู่
แต่หลังจากมีการรัฐประหารในเมียนมา เมื่อปี 2564 กลุ่มกองกำลังที่อยู่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ซึ่งติดอยู่กับประเทศจีน ทั้งสองกลุ่มใหญ่ไม่มีการสู้รบกับกองทัพเมียนมา เหมือนกลุ่มชาติพันธุ์อื่น
แต่กลุ่มว้า มีการเจรจากับเมียนมา เพื่อกำหนดพื้นที่อิทธิพลของว้า ซึ่งแม้ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าการตั้ง “รัฐว้า” จะอยู่ในพื้นที่ใด แต่คาดว่าเป็นพื้นที่ทั้งหมดของรัฐฉานตะวันออก ในเขตพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ แม่น้ำโขง และทางใต้ของรัฐฉานติดกับภาคเหนือของไทย
กองกำลังว้า เข้ามีบทบาทมากขึ้นในรัฐฉานตะวันออกทางตอนใต้ ในปี 2542-2543 มีการเคลื่อนกองกำลังและชาวบ้าน 126,000 คน เข้ามาอยู่ในเขตเมืองสาด เมืองโต๋น และ จ.ท่าขี้เหล็ก ตรงข้าม จ.เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน
เริ่มยึดพื้นที่ของชาวบ้านไทใหญ่ อาข่าและลาหู่ และขยายไปติดกับตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากต้องอพยพเข้ามาในประเทศไทย

พื้นที่อิทธิพลของกลุ่มกองกำลังว้า ข้อมูล : มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่
พื้นที่อิทธิพลของกลุ่มกองกำลังว้า ข้อมูล : มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่
ที่ตั้งของกลุ่มชาติพันธุ์ว้าในรัฐฉานเริ่มขยาย ในปี 2562 มีการพื้นที่ขยายตะวันตกสุดถึงแม่น้ำสาละวิน และติดกับ จ.เชียงใหม่ เชียงราย และนอกนั้นเป็นพื้นที่กองทัพเมียนมา ขณะที่กองกำลังไทใหญ่ จะอพยพลี้ภัยเข้ามาตรงข้ามประเทศไทย ด้าน จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และเชียงราย
เจ้าหน้าที่มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ ระบุว่า เมื่อวิเคราะห์กลุ่มว้าที่มีการทำเหมืองแร่ ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากจีน ที่เข้ามาจากการสนับสนุนของโครงการ One Belt One Road ที่มีการลงทุนอย่างกว้างขวาง เช่น เส้นทางรถไฟความเร็วสูง เขื่อน ทางหลวง ท่อก๊าซ และท่อน้ำมัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหม ที่จีนเตรียมตัวจะเข้ามาในพื้นที่รัฐฉาน รวมถึงท่าเรือบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ก็เป็นที่สนใจของจีนด้วย

ต่อมาหลังการยึดอำนาจในเมียนมาแล้ว รัฐบาลเมียนมาได้อนุมัติสัมปทานการทำเหมืองในภาคต่าง ๆ ในพื้นที่รัฐฉาน กว่า 300 โครงการ มีทั้งเหมืองเหล็ก ถ่านหิน ทองคำ ตะกั่ว สังกะสี
ขณะที่ในพื้นที่ภาคตะวันออกของรัฐฉาน ที่ติดกับชายแดน จ.เชียงใหม่ และเชียงราย พบแร่หายาก เช่น ทองคำ ถ่านหิน โดยกลุ่มผู้ลงทุนส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน แต่ยังมีประเทศอื่นร่วมด้วย เช่น ออสเตรเลีย รัสเซีย อิตาลี มีการทำเหมืองแร่ โดยจะทำที่บริเวณต้นน้ำ และใกล้แม่น้ำสาย แม่น้ำกก แม่น้ำรวกตรงข้าม จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย แม่น้ำเลน (ในรัฐฉาน) ซึ่งทั้งหมดจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง
ไม่เพียงแต่ผลกระทบจากการทำเหมืองในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ ยังระบุอีกว่า ตั้งแต่ปี 2543 ยังมีโครงการจะทำเหมืองถ่านหิน ใกล้กับแม่น้ำกก ที่ไหลมาจากเมืองสาด ในรัฐฉาน โดยจะนำเข้ามายังประเทศไทย ทางบ้านม้งเก้าหลัง ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย แต่มีการประท้วงเกิดขึ้น เนื่องจากชาวบ้านเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
ปี 2562 บริษัทของไทยได้รับสัมปทานการนำเข้าถ่านหินจากเหมืองดังกล่าว ผ่านทาง จ.ท่าขี้เหล็ก- อ.แม่สาย จ.เชียงราย แต่มีสถานการณ์โควิด-19 จึงยับยั้งโครงการไปก่อน
การขุดทองในแม่น้ำกกปัจจุบัน ก็อยู่ในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ว้า ทำโดย 4 บริษัทใหญ่ของจีน อยู่ใกล้กับบ้านท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ มีการทำงาน 24 ชั่วโมง

เหมืองแร่บริเวณต้นแม่น้ำสาย ในเขตรัฐฉาน ประเทศเมียนมา /ThaiPBS 8 พ.ค.2568
เหมืองแร่บริเวณต้นแม่น้ำสาย ในเขตรัฐฉาน ประเทศเมียนมา /ThaiPBS 8 พ.ค.2568
สำหรับการขุดทองคำและแร่แมงกานีส ในแม่น้ำรวก ดำเนินการโดยบริษัทของเมียนมา ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเมียนมา มาตั้งแต่ปี 2555 และปัจจุบันนำเข้าผ่านด่านศุลกากรแม่สาย

การขุดเหมืองทอง “ดอยคำ” แม่น้ำเลน มีประมาณ 100 บริษัท / ข้อมูล : มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่
การขุดเหมืองทอง “ดอยคำ” แม่น้ำเลน มีประมาณ 100 บริษัท / ข้อมูล : มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่
ส่วนการขุดทองคำ “ดอยคำ” ในแม่น้ำเลน มีมาตั้งแต่ปี 2550 มีบริษัทที่ขุดประมาณ 100 บริษัท แต่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเมียนมา เพียง 21 บริษัท ส่วนอีกกว่า 70 บริษัท ไม่มีสัมปทาน
สารเคมีต่าง ๆ ที่ใช้ในการขุดทองและสกัดแร่บนดอยคำ ไหลลงสู่แม่น้ำเลน ชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างมาก เช่น ไซยาไนด์มีการใช้อย่างกว้างขวางในพื้นที่รัฐฉาน ชาวบ้านพยายามร้องเรียนต่อทางการในรัฐฉานและรัฐบาลเมียนมา แต่ปัจจุบันก็งมีการขุดอย่างแพร่หลายและขยายพื้นที่ไปเรื่อย ๆ
ขณะที่ บริษัทหงปัง ของกลุ่มชาติพันธุ์ว้า ทำโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ท่าขี้เหล็ก ในปี 2547 แต่ถูกคัดค้านจากชาวบ้านใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ว่าจะได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ด้าน น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า จากพูดคุยกับพื้นที่ และติดตามเอกสารภาษาอังกฤษหลายฉบับ ชี้ไปในทิศทางคล้ายกันว่า ก่อนปี 2560 จีนได้กวาดล้างบริษัททำเหมือง โดยเฉพาะเหมืองทองที่ผิดกฎหมายในประเทศจีน

ประเทศจีนกำลังผลักดันให้ประเทศ เข้าสู่การรักษาสิ่งแวดล้อม และฟื้นฟูในประเทศ ดังนั้นอะไรที่เป็นโรงงาน หรือบริษัทที่ทำผิดกฎหมาย และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก่อมลพิษ ไม่ว่าจะเป็น โรงงานอุตสาหกรรม โรงงานรีไซเคิล เหมืองแร่ ในประเทศจีน ถูกสั่งปิดทั้งหมด
บริษัทจีนที่ถูกกวาดล้างหลายบริษัท ส่วนหนึ่งจะย้ายมาที่ไทย ซึ่งตอนนี้เป็นประเด็นมาก ส่วนหนึ่งน่าจะไปทำเหมืองแร่ในประเทศเมียนมา ซึ่งพบว่า ตัวเลขที่ทำเหมือนทองมีประมาณ 11 เหมือง
ด้าน น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ให้ข้อมูลเหมืองทองเมียนมาว่า ทั้งหมดอยู่ระหว่างการตรวจสอบ การหาข้อมูลทำได้ยาก ได้ร่วมมือกับอาจารย์มหาวิทยาลัยและสื่อมวลชนหลายแห่ง แต่ยังหาไม่ได้มาก
ปัญหาเหมืองทองในเมียนมา เป็นรายย่อยมาก แต่ความเสียหายสูง หากดูมาตรฐานสากล เหมืองลักษณะนี้เป็นเหมืองเถื่อนไม่ได้ใช้กฎหมายใด ๆ เลย สิ่งที่เห็นชัดคือโคลน และสารพิษ เหมืองปราศจากการควบคุม ในข้อเสนอภาคประสังคม จ.เชียงรายได้เสนอนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.2568 มีข้อหนึ่งเสนอควรจะมีการเจรจา

นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ มองว่า รัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนถึงแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
ต้องยอมรับว่า มีปัญหาซึ่งหลายปัญหาเกี่ยวข้องกัน เช่น เรื่องยาเสพติด การรุกล้ำเขตแดน และวันนี้มีปัญหาเรื่องเหมืองแร่ ที่พบสารหนูปนเปื้อนในแม่น้ำ รัฐบาลควรจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ถ้ายังปล่อยปัญหานี้ไปเรื่อย ๆ คนไทยจะอยู่ในประเทศไทยอย่างไม่ปลอดภัย

แม้ปัญหาหลายอย่างจะรุมเร้าชายแดน ด้านตะวันตกของไทย ตั้งแต่ฝนตกโคลนถล่ม หมอกควันข้ามแดน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การค้าสิ่งของผิดกฎหมาย ยาเสพติด การค้าอาวุธสงคราม การสู้รบของกลุ่มชาตพันธุ์ ฯลฯ
ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไขทั้งสิ้น แต่ปัญหา “เหมืองแร่ก่อมลพิษ” ก็ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลจะนิ่งนอนใจ เพราะ ณ วันนี้ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้เกิดขึ้นแล้ว ในแม่น้ำสายสำคัญของประเทศไทย ลามกระทบข้ามพรมแดน
รายงาน : โกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ
อ่านข่าว : เปิดภาพ เหมืองแร่ต้นแม่น้ำสาย พื้นที่อิทธิพลกลุ่มว้า
สั่งเพิ่มความถี่ตรวจวัด-เฝ้าระวังพื้นที่สารหนูปนเปื้อนแม่น้ำกก
กมธ.ความมั่นคงฯ ลงพื้นที่แม่น้ำกก ดู "มลพิษเหมืองทอง" จี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา