ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“นักวิชาการ” ตั้งคำถามรัฐบาล ออก ‘จี-โทเคน’ มีเงิน 5,000 ล้านค้ำประกันหรือไม่

เศรษฐกิจ
14 พ.ค. 68
18:35
261
Logo Thai PBS
“นักวิชาการ” ตั้งคำถามรัฐบาล ออก ‘จี-โทเคน’  มีเงิน 5,000 ล้านค้ำประกันหรือไม่
“นักวิชาการธรรมศาสตร์” ตั้งคำถามรัฐบาล ออก ‘จี-โทเคน’ มีเงินบาท 5,000 ล้านแบ็กอัพค้ำประกันให้ประชาชนหรือไม่ พร้อมเรียกร้องให้ข้อมูลเพิ่ม

วันนี้ (14 พ.ค.2568) ศ.ดร.อาณัติ ลีมัคเดช ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโททางการเงิน และอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลยังให้ข้อมูลเรื่องการออกสินทรัพย์ดิจิทัลโทเคน (Token) หรือ G Token (จี-โทเคน) ที่รัฐบาลคาดหวังให้เป็นเครื่องมือการระดมทุนรูปแบบใหม่ทดแทนการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไม่ชัดเจน

โดยเฉพาะเรื่องการหนุนหลังจี-โทเคนด้วยสินทรัพย์ (ABS) ซึ่งก็คือ เงินบาทในจำนวนที่เท่ากับมูลค่าของโทเคน เพื่อสร้างหลักประกันให้ประชาชนมั่นใจว่า เมื่อใดที่ผู้ถือครองจี-โทเคนต้องการขาย ผู้ถือครองก็จะได้รับเงินบาทกลับคืนมาในทันที

ศ.ดร.อาณัติ กล่าวว่า ตามข้อมูลที่รัฐบาลให้มาคือ จี-โทเคนถูกสำรองหรือแบ็กอัพหรือ ABS โดยเงินบาท โดยจะนำร่องด้วยงบประมาณ 5,000 ล้านบาท นั่นหมายความว่า จะต้องมีเงินบาทจำนวน 5,000 ล้านบาทหนุนหลังเอาไว้ ซึ่งตามหลักการที่ควรจะเป็นก็ที่จะต้องมีหน่วยงานกลาง คือ บริษัทที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำหน้าที่เป็นศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (Custodian) ที่รับฝากเงินบาทเหล่านั้นไว้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าตราบใดที่ประชาชนยังถือจี-โทเคนอยู่จะยังคงมีเงินบาทในสัดส่วนที่เท่ากันเป็นหลักประกันอยู่เสมอ

ประเด็น คือ รัฐบาลยังไม่เคยพูดถึงเรื่อง Custodian เลย ทั้งที่เป็นสิ่งสำคัญที่การันตีว่า เงินของประชาชนจะมีความมั่นคงปลอดภัย มากไปกว่านั้นก็คือ ตามเจตจำนงของรัฐบาล คือ ต้องการนำเงินจี-โทเคน ไปใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือไปลงทุนภาครัฐในมิติอื่น ๆ นั่นสะท้อนว่า จะไม่มีการสำรองเงินหรือแบ็กอัพจี-โทเคน ด้วยเงินบาทหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ยังเป็นคำถามและต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมจากรัฐบาล

นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าวต่อไปว่า การที่รัฐบาลระบุว่า จะนำจี-โทเคนเข้าไปอยู่ในลิสต์ของศูนย์ Exchange นั้น ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า รัฐบาลทำแบบนั้นด้วยเหตุผลใด ส่วนตัวมองไม่ออกว่าจี-โทเคนจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไร เพราะนี่เป็นการนำเงินไปฝากเพื่อให้รัฐบาลนำเงินไปลงทุนต่างๆ ฉะนั้นสิ่งที่ประชาชนหรือผู้ถือครองจี-โทเคนได้รับในกรณีที่ถือครองครบเวลากำหนด อาจเป็นเพียงกำไรจากดอกเบี้ย 1 – 2 % เท่านั้น

ผลกำไรจากจี-โทเคนเป็นสิ่งที่ตายตัวและคาดการณ์ได้ ไม่ใช่การลงทุนในธุรกิจภาคเอกชนที่สามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือสร้างผลกำไรจากการลงทุนได้ ดังนั้นจึงมองว่าการกระทำเช่นนี้คือการขายฝันประชาชนให้รู้สึกว่านี่เป็นของใหม่ ให้ผู้ลงทุนที่ไม่มีความรู้นำมาเก็งกำไร-ซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งรัฐบาลไม่ควรฝึกให้ประชาชนทำเช่นนี้

ศ. ดร.อาณัติ กล่าวว่า หากยึดตามรายละเอียดที่ระบุไว้ใน พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 การที่รัฐบาลออกจี-โทเคนในลักษณะเช่นนี้ จะถือว่าเป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) เพราะเป็นโทเคนดิจิทัลที่ให้สิทธิในการร่วมลงทุนในโครงการและได้รับผลตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะดำเนินการได้อย่างถูกต้องก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และจะต้องนำเสนอผ่านผู้ให้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่ (ICO Portal) เสียก่อน

ทว่าจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เห็นรายละเอียดเหล่านี้จากรัฐบาล แต่กลับมีการทำโฆษณาเพื่อประชาสัมพันธ์ออกไปมากมายว่าเป็นเหรียญที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต.ตรงนี้รัฐบาลต้องให้ข้อมูลเพิ่ม

ตอนแรกที่เห็นการโฆษณาก็เข้าใจว่า จะมีใครมาหลอกลวงประชาชนอีกหรือไม่ เพราะปกติแล้วเหรียญที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต. จะต้องมีรายละเอียดว่าจะกระจายหรือขายอย่างไร จะเอาเงินไปทำอะไร และผู้ลงทุนจะได้อะไรบ้าง แต่ตอนนี้เรายังมองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้เลย เข้าใจรัฐบาลอยู่ว่า ในเเง่มุมดีของโครงการนี้ เขาก็พยายามที่จะผลักดันให้มันกลายเป็นนวัตกรรมทางการเงิน ซึ่งอันนี้ส่วนตัวรู้สึกเห็นด้วย แต่ว่ามันจะได้คุ้มเสียหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับรายละเอียดต่างๆที่ได้อธิบายไปข้างต้น ยังเป็นสิ่งที่อยากให้รัฐบาลพิจารณา

อ่านข่าว : ครม.อนุมัติ G-token เครื่องมือระดมทุนรูปแบบใหม่ 

รู้จัก "G-Token" พันธบัตรดิจิทัล ครม.เปิดโอกาสคนไทยร่วมลงทุน 

เตือนคนไทยสำรองเงิน 6-12 เดือน รับมือเศรษฐกิจยุคทรัมป์

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง