โครงการ "เที่ยวไทยคนละครึ่ง 2568" หรือบางครั้งเรียกว่า "เราเที่ยวด้วยกัน 2568" หนึ่งในมาตรการสำคัญของรัฐบาลไทยเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวภายในประเทศ มุ่งเน้นทั้งเมืองหลักและเมืองรองทั่ว 77 จังหวัด
โครงการนี้ต่อยอดจากความสำเร็จของ "เราเที่ยวด้วยกัน" ในอดีต แต่ปรับเงื่อนไขใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ด้วยเป้าหมายกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซัน (พ.ค.-ก.ย.) ซึ่งเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวลดลง โดยมีงบประมาณประมาณ 3,000-3,550 ล้านบาท และคาดว่าจะสร้างเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท
นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยเมื่อวันที่ 2 พ.ค.2568 ว่า โครงการนี้ได้รับการเห็นชอบในหลักการจาก นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร แล้ว และขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากำลังเร่งดำเนินการพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน พ.ค.2568
เป้าหมายให้เริ่มใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่ มิ.ย.2568 เป็นต้นไป ซึ่งเลื่อนจากกำหนดการเดิมในเดือน พ.ค. เพื่อให้สอดคล้องกับช่วงโลว์ซีซันและเตรียมความพร้อมด้านระบบให้สมบูรณ์
เงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ของโครงการ
โครงการ "เที่ยวไทยคนละครึ่ง 2568" มีจุดเด่นคือการแบ่งจ่ายค่าใช้จ่ายระหว่างรัฐบาลและประชาชน โดยมีรายละเอียดดังนี้
การสนับสนุนค่าใช้จ่าย
- เมืองรอง (55 จังหวัด) : รัฐสนับสนุนร้อยละ 50 ประชาชนจ่ายร้อยละ 50
- เมืองหลัก (22 จังหวัด) : รัฐสนับสนุนร้อยละ 40 ประชาชนจ่ายร้อยละ 60
- ค่าสนับสนุนสูงสุดไม่เกิน 3,000 บาท/คืน/คน สำหรับค่าที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร และกิจกรรมท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการ
- จำนวนสิทธิมีทั้งหมด 1,000,000 สิทธิ์ ตลอดโครงการ โดยจำกัดสิทธิ์ต่อคนไม่เกิน 10 สิทธิ์ (10 ห้องหรือ 10 คืน)
ข้อจำกัดการใช้สิทธิ
- ใช้ได้เฉพาะ วันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) หากเข้าพักคืนวันศุกร์สามารถใช้สิทธิต่อเนื่องวันเสาร์ได้
- ไม่สามารถใช้สิทธิสำหรับคืนวันเสาร์หรืออาทิตย์เพียงอย่างเดียว โดยวันหยุดสุดสัปดาห์ประชาชนต้องจ่ายเต็มจำนวน
- ไม่ครอบคลุม ค่าตั๋วเครื่องบิน
- พื้นที่ครอบคลุม 77 จังหวัด เน้นกระจายรายได้สู่เมืองรอง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าเมืองหลัก
ตามข้อมูลล่าสุด กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กำลังหารือกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกระทรวงการคลัง เพื่อปรับปรุงเงื่อนไขให้เหมาะสม โดยเฉพาะการกระจายสิทธิระหว่างเมืองหลักและเมืองรอง
หนึ่งในแนวทางที่พิจารณาคือกำหนดสัดส่วนการใช้สิทธิ เช่น 5:5 (เมืองหลัก 5 สิทธิ เมืองรอง 5 สิทธิ) หรือ 4:6 (เมืองหลัก 4 สิทธิ เมืองรอง 6 สิทธิ) เพื่อให้เมืองรองได้รับประโยชน์มากขึ้นตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่เน้นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
นอกจากนี้ มีการพิจารณาเพิ่มสิทธิพิเศษสำหรับ ข้าราชการ โดยอนุญาตให้ใช้โครงการนี้เพื่อท่องเที่ยวควบคู่กับการทำงานนอกสถานที่ (Workation) โดยไม่นับเป็นวันลา เพื่อกระตุ้นการเดินทางในวันธรรมดาและเพิ่มการใช้จ่ายในพื้นที่ท้องถิ่น ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองรองมีรายได้เพิ่มขึ้น
ช่องทางการลงทะเบียนและระบบการใช้สิทธิ
ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศวันลงทะเบียนอย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าผู้ที่เคยลงทะเบียนในโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟสก่อนหน้าอาจไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ อย่างไรก็ตาม ประชาชนควรติดตามประกาศจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาหรือ ททท. เพื่อความชัดเจน
มีความเป็นไปได้ว่าการลงทะเบียนและใช้สิทธิจะดำเนินการผ่านแอปพลิเคชันใหม่ TAGTHAi (ทักทาย) ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อรองรับโครงการนี้โดยเฉพาะ ผู้เข้าร่วมต้องมีคุณสมบัติคือเป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป และต้องใช้จ่ายในจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดตามทะเบียนบ้านของตน
นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า โครงการนี้จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซัน (มิ.ย.-ก.ย.2568) ซึ่งเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติลดลง โดยเฉพาะหลังเทศกาลสงกรานต์ที่นักท่องเที่ยวจีนลดลงเนื่องจากข้อจำกัดการเดินทาง
จากข้อมูลของ ททท. ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-20 เม.ย.2568 นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 11.2 ล้านคน สร้างรายได้ 540,000 ล้านบาท และโครงการนี้จะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว คาดว่าจะสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท และยกระดับภาพลักษณ์ของเมืองรองให้เป็นจุดหมายปลายทางใหม่
นอกจากนี้ ยังมีคำเตือนจาก ททท. ให้ประชาชนระวังมิจฉาชีพที่อาจส่งลิงก์หรือ SMS ปลอมเพื่อหลอกลวงข้อมูลส่วนตัว โดยแนะนำให้ติดตามข้อมูลจากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ www.เราเที่ยวด้วยกัน.com หรือช่องทางของ ททท. เท่านั้น
อ่านข่าวอื่น :
"เปรมชัย" ผู้เกี่ยวข้อง เข้ามอบตัว สน.บางซื่อ คดีตึก สตง.ถล่ม