วันนี้ (17 พ.ค.2568) ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม จัดกิจกรรมรำลึก 33 ปีเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม โดยมีคนการเมืองร่วมกิจกรรมอย่างมากมาย อาทิ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ,นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร , ,นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ,นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ,นายศุภชัย ใจสมุทร แกนนำพรรคภูมิใจไทย ,นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน และบรรดาญาติผู้สูญเสียจากเหตุพฤษภาคม2535โดยในช่วงเช้าเป็นพิธีกรรมทางศาสนา พร้อมวางมาลา และรัฐพิธี
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงงานรำลึก 33 ปี เหตุการณ์พฤษภาประชาคม ว่า ตั้งใจจะสร้างสวนสาธารณะแห่งนี้ เป็นที่เรียนรู้ เพื่อการเรียนรู้ประชาธิปไตย ให้ตระหนักว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 33 ปีที่แล้ว ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก ที่ผ่านมาก็ยังเกิดขึ้นเรื่อย ๆ เรียนรู้ความผิดพลาดน้อยมาก
- คำต่อคำ "บิ๊กบี้" ขอลบคำ "ปฏิวัติรัฐประหาร" ออกจากพจนานุกรมกองทัพ
- 10 ปีรัฐประหาร "ยิ่งลักษณ์" หวังเห็น รธน.ฉบับใหม่ พาประเทศสู่ ปชต.
- "ทักษิณ" โอดรัฐประหารทำระบบเลือก สว.พัง
ดังนั้น เมื่อใกล้จะครบ 35 ปี ของเหตุการณ์ดังกล่าว ควรเป็นวาระที่เราจะได้เปิดสวนแห่งนี้อย่างสำเร็จ และคาดว่าในปี 2570 จะมาเปิดสวนนี้ เพื่อการเรียนรู้ประชาธิปไตย เพื่อเป็นจุดรำลึกว่า ไม่ควรมีการสูญเสียในทุกเหตุการณ์
นายปริญญา มองเหตุการณ์วันนั้นจนถึงการเมืองวันนี้ เหมือนหลายเรื่องดูจะดีขึ้น แต่หลายเรื่องก็ดูเหมือนจะเกิดซ้ำ และถึงปี 2568 แล้ว แต่ยังไม่มีใครกล้าพูดว่า รัฐประหาร การล้มล้างรัฐธรรมนูญ หรือการนองเลือด จะไม่เกิดขึ้นอีก หากพูดในแง่นี้ดูเหมือนจะแย่ลง เพราะเราไม่มั่นใจว่าเราจะผิดซ้ำอีกกี่ครั้ง และตนคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกจะหมดไป
ท่านผู้นำเหล่าทัพ จะรับปากประชาชน และวีรชนทุกเหตุการณ์ว่าจากนี้ไปกองทัพจะไม่มาแทรกแซงหรือจะไม่ล้มล้างรัฐธรรมนูญอีก พรรคการเมืองทุกพรรครับปากได้หรือไม่ว่า จะช่วยกันทำให้ประชาธิปไตยไม่ล้มเหลวแล้วกลายเป็นเงื่อนไขให้กองทัพยึดอำนาจอีก และประชาชนที่รักประชาธิปไตยจะช่วยกันได้หรือไม่ว่าจากนี้จะไม่ไปล้อมหน่วยเลือกตั้งหรือไปเรียกให้กองทัพมารัฐประหารอีก
นายปริญญา กล่าวว่า ต้องช่วยกันทำให้ประชาธิปไตยไม่ล้มเหลว ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของทุกฝ่าย ทั้งนี้ ประชาธิปไตยเห็นต่างได้ แต่ขัดแย้งกันภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การไปล้มล้างรัฐธรรมนูญ เหมือนการแข่งกีฬา เราเลือกพรรคการเมืองต่างพรรคกันได้ ก็ว่ากันตามกติกา ใครชนะเป็นรัฐบาล ใครแพ้เป็นฝ่ายค้าน ซึ่งควรจะประสบความสำเร็จหลังจากเหตุการณ์พฤษภา 35 มาแล้ว ไม่ควรจะล้มเหลวอีก
เมื่อถามถึง สถานการณ์การเมืองตอนนี้จะเป็นการยั่วยุทำให้เกิดเหตุการณ์ในอดีตหรือไม่ นายปริญญา กล่าวว่า ถ้าดูจากเหตุการณ์รัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา กองทัพไม่ได้อยู่ดี ๆ ออกมายึดอำนาจกันได้ง่าย ๆ เหมือนสมัยก่อน แล้วที่เขาออกมาได้เพราะไปทำให้เขาออกมา
ทางออกที่พอมีก็ไปทำให้ตัน และความจริงเรามีเครื่องมือในการแก้ปัญหาทุกอย่าง ขอให้เราใช้เครื่องมือตามวิถีทางประชาธิปไตย ฉะนั้น ไม่มีเหตุใดที่จะเป็นความชอบธรรมใด ๆ ให้มีการรัฐประหารอีก และไม่เกิดแน่ ๆ ถ้าไม่มีใครไปทำให้เกิด
เมื่อถามถึง ความขัดแย้งระหว่างพรรคสีแดงและพรรคสีน้ำเงินในขณะนี้ คิดว่าจะทำให้เกิดเหตุการณ์เหมือนในอดีตหรือไม่ นายปริญญา กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีน้ำเงิน สีส้ม สีเขียวหรือสีอะไรก็แล้วแต่

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม
ทุกคนก็เหมือนกับกีฬาว่าไปตามกติกา เหมือนสีแดงกับสีน้ำเงินเปรียบเหมือนมวยก็ต้องชกกันตามกติกา ถ้าเป็นฟุตบอลมีกี่ทีมกี่สีก็แข่งกัน ประชาธิปไตยแค่นี้ และ 4 ปีประชาชนก็มาตัดสินอีกครั้งว่าใครควรจะมาเป็นรัฐบาล เว้นแต่ว่ามีการยุบสภาเลือกตั้งก่อน ล้วนอยู่ในกติกา
เราจะไม่นองเลือดหรือรัฐประหารอีก แต่เราจะตกลงกันภายใต้กติกา และเลือกตั้งคือเจตจำนงของประชาชน ใครจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็แสดงออกด้วยประชาชนในการเลือกตั้ง
ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า เหตุการณ์นี้ตนนั่งร้องไห้กับเพื่อนที่อเมริกา ปัจจุบันนี้เราสู้กับประชาธิปไตยสีเทาๆทุกคนรู้เท่าทันเพราะฉลาดขึ้น เหตุการณ์เหล่านี้การให้ความรู้กับประชาชนและให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นสำคัญในระบอบประชาธิปไตย
"วันนอร์" หวังประชาชนหวงแหนประชาธิปไตย
ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตอนนั้นตนอายุ 48 ปีเหตุการณ์ในครั้งนั้นคล้ายกับอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือเป็นการต่อสู้โดยประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
เหตุการณ์นี้มีเกี่ยวข้องกับสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด เพราะต้นเหตุมาจากการตั้งรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารมีการแสดงวิสัยทัศน์แต่ไม่จบเพราะมีผู้ไม่พอใจออกมาประท้วง เป็นความวุ่นวายในสภาฯลุกลามจนสู่การชุมนุมที่ท้องสนามหลวง ที่หลายคนจำได้ในชื่อ “ม็อบมือถือ” ของคนชนชั้นกลาง
เราคิดว่าการสูญเสียในครั้งนั้นอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายรัฐธรรมนูญปี 40 จะดีที่สุดแต่ก็ถูกฉีก ดังนั้นต้องสร้างความตระหนักให้กับประชาชนว่าประชาธิปไตยเป็นของประชาชนเพื่อประชาชน ให้ประชาชนหวงแหนประชาธิปไตยเหมือนหลาย ๆ ประเทศที่เราได้เห็นถึงพลังในการต่อสู้เพื่อปกป้องประชาธิปไตย
"ณัฐพงษ์" มอง "รัฐประหาร" ทำเสียต้นทุนประชาธิปไตย
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตนเป็นตัวแทนของคนอีกหนึ่งรุ่นปฏิวัติที่ผ่านการปฏิวัติมา 3 ครั้ง ซึ่งก็ไม่เข้าใจทำไมประเทศไทยในขณะนั้นถึงต้องมีการปฏิวัติรัฐประหารอีก สิ่งที่น่ากลัวกว่าการปฏิวัติรัฐประหาร คือ ต้นทุนของประชาธิปไตยที่เราไม่สามารถเสียไปได้อีก คือ ความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนต่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งต่อการเมืองและในระบบรัฐสภา
ถ้าเมื่อไหร่ที่คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้เลิกเชื่อมั่นศรัทธาในคำว่าประชาธิปไตยนั่นคือจุดจบของประเทศนี้ ที่เราไม่สามารถปลูกต้นไม้เพื่อประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นมาในประเทศได้อีก
การเลือกตั้งที่ผ่านมาประชาชนกว่า 80 % ได้เลือกพรรคการเมืองที่ไม่ได้มาจากมรดกการรัฐประหาร ของ คสช.ตนอยากชวนขบคิดถึงหน้าตาของรัฐบาลในขณะนี้ว่า ตรงตามที่ประชาชนเลือกมาหรือไม่

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ดังนั้นจากนี้เราทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อว่านักการเมืองสัญญาอะไรไว้ก็ต้องดำเนินการอย่างนั้นเข้าสู่อำนาจการเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชน นี้เป็นสิ่งสำคัญที่ตนจะให้คำมั่นสัญญา และไม่ขอเรียกร้องอะไรไปมากกว่านี้นอกจากขอให้ทุกพรรคการเมืองดำรงตนเพื่อประชาชน
อ่านข่าว : "ทักษิณ" มั่นใจรัฐบาลแพทองธาร ไม่มีรัฐประหาร 100%
"โรม" ยกโมเดลรัฐสภาเกาหลีใต้ ทบทวน การเมือง-รัฐประหารไทย
นักวิชาการชี้ "รัฐประหาร" มักอ้างปราบทุจริต ที่แท้เป็นเสื้อคลุมคอร์รัปชั่นให้ยากต่อการตรวจสอบ