การเข้ารับทราบข้อกล่าวหาของ สว.ชุดแรก 19 พ.ค. ทำผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ปี 2561 เท่ากับเริ่มต้นตามกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย โดยขั้นตอนการต่อสู้คดีได้เริ่มขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว เท่ากับไม่อาจใช้ความสัมพันธ์ทางการเมืองเจรจาเพื่อยุติปัญหาดังกล่าวอย่างถาวรได้
ยังไม่นับคดีฟอกเงินและอั้งยี่ ที่ดีเอสไอเป็นผู้ทำคดี และเป็นคดีอาญา บทลงโทษจะรุนแรงกว่าด้วยซ้ำ
เป็นผลจากการเดินหน้าสู้ของกลุ่ม สว.สำรอง ที่ยืนอยู่คนละข้างกับ สว.ชุดปัจจุบัน ที่ได้รับการรับรองจาก กกต. และทำหน้าที่อยู่ในขณะนี้ ไม่เพียงพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่ค้นหารวบรวมไว้ก่อนหน้านี้ บางคนยังระบุชัด ว่าเกี่ยวโยงไปถึงระดับหัวหน้าพรรคใหญ่คนหนึ่งด้วย
ทำให้การเมืองขณะนี้ เดินทางมาจุดตัดสำคัญ ท่ามกลางมรสุมปัญหารอบด้าน กูรูและคอการเมืองพันธุ์แท้ต่างฟันธงตรงกันว่า เป็นผลจากความขัดแย้งไม่ลงรอยกันเองในพรรคใหญ่ร่วมรัฐบาล เรื่องเจรจาต่อรองทางการเมืองหลายๆ เรื่อง รวมทั้งบทบาทของสว.เรื่องให้ความเห็นชอบกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีบทบาทสูงเช่นกัน ดังกระแสข่าวก่อนหน้านี้ ที่มีความพยายามจะให้ สว.เปลี่ยนค่ายและสีเสื้อ
จึงเชื่อมต่อถึงเรื่องขาดเอกภาพในรัฐบาล ที่พรรคหลักอย่างเพื่อไทย ต้องการเดินหน้า อาทิ ร่างกฎหมายเอนเตอร์เมนเมนค์คอมเพล็กซ์ ที่มีกาสิโนรวมอยู่ด้วย แต่ 2 พรรคประกาศจุดยืนไม่รับร่าง ประกอบด้วยพรรคประชาชาติ ที่ออกเป็นแถลงการณ์ และพรรคภูมิใจไทย ผ่านการยืนยันในสภาของนายไชยชนก ชิดชอบ เลขาธิการพรรค
สถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอน ยังโยงไปถึงกรณีชั้น 14 รพ.ตำรวจ หลังแพทยสภามีมติลงโทษแพทย์ 3 คน กรณีส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวชั้น 14 จนเข้าเกณฑ์พักโทษ แม้ตอนนี้อาจจะมีบางส่วน หวังลุ้นจะเห็นรัฐมนตรีสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ในฐานะสภานายกพิเศษ วีโต้มติดังกล่าว
แต่อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแม้ข้อสรุปของกรรมการทั้ง 10 คน ที่ได้รับแต่งตั้ง มีนัดประชุมครั้งแรก 22 พ.ค.นี้ หากเห็นต่างจากมติแพทยสภา ต้องส่งให้กรรมการแพทยสภาพิจารณาอีกครั้ง หากจะให้มีผลเปลี่ยนแปลงต้องใช้เสียงถึง 2 ใน 3 หรือประมาณ 47 คนจาก 70 คน ขณะที่นายสมศักดิ์ ก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันมหาศาลจากวงนอก หากจะวีโต้
บทสรุปกรณีนี้ เชื่อว่าจะมีผลต่อนายทักษิณ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ได้รับไต่สวนเองว่า มีการบังคับตามคำพิพากษาตามหมายจำคุกแล้วจริงหรือไม่ โดยนัดพร้อม 13 มิถุนายนนี้ และคาดหมายว่า ศาลน่าจะมีคำสั่งให้ส่งมติของแพทยสภา ที่ชัดเจนว่าเป็นการป่วยทิพย์ ไม่ได้ป่วยจริงถึงขั้นวิกฤติ ให้กับศาลประกอบการพิจารณาด้วย
ขณะเดียวกัน ศาลปกครองสูงสุด ยังนัดตัดสินชี้ขาด คดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กรณีต้องจ่ายเงินชดใช้ในโครการรับจำนำข้าว โทษฐานปล่อยปละละเลย ไม่ระงับยับยั้งความเสียหาย วงเงิน 35,000 ล้านบาทหรือไม่ ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ หลังจาก ปี 2564 สมัยรัฐบาลสมัยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังไปแล้ว
เท่ากับช่วงนี้ มีคดีความและเรื่องที่เกี่ยวกับนายทักษิณ และคนตระกูลชินวัตร ต่อเนื่องหลายเรื่อง แต่ในเชิงทางการเมือง มีความน่าสนใจ ที่ไม่มีความเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ปรากฏอยู่หน้าสื่อเลย นับแต่ล่าสุด ที่ปรากฎตัวต่อหน้าสาธารณชน ไปช่วยนายอัศนี บุรณุปกรณ์ หาเสียงรักษาเก้าอี้นายกเล็กจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปลายเดือนเมษายน
จากนั้น มีข่าวไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เดินทางออกนอกประเทศ ไปร่วมงานเลี้ยงต้อนรับประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประเทศกาตาร์ โดยศาลให้เหตุผลว่า เป็นการเชิญส่วนตัว
จากนั้นนายทักษิณ ก็เก็บตัวเงียบตลอด ขณะที่คดีฮั้วเลือก สว.ที่ถูกมองว่า เกี่ยวพันและทำให้ความขัดแย้งของ 2 พรรคใหญ่ในรัฐบาล เข้มข้นยิ่งขึ้น กระทั่งถึงขั้น กกต.ออกหมายเรียก 55 สว.
นอกจากนี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรียุติธรรม ที่มักออกโรงปกป้องนายทักษิณเสมอมาเรื่องปมชั้น 14 ถูกศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะดูแลดีเอสไอ และในฐานะรอง ปธ.กก.คดีพิเศษ หลังถูกร้องเรื่องฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซงการทำหน้าที่ของดีเอสไอ
ไม่ต่างจาก “ครูใหญ่” พรรคภูมิใจไทย นายเนวิน ชิดชอบ ที่เงียบหายไปจากหน้าสื่อ นับตั้งแต่บุตรชายคนโต อภิปรายไม่รับร่างกฎหมายกาสิโนในสภา ยกเว้นการปรากฏตัวในสนามแข่งขันฟุตบอล ในฐานะประธานสโมรสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด
แม้นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะให้สัมภาษณ์สื่อก่อนหน้านี้ว่า ได้พบปะพูดคุยกับนายเนวินแล้ว ปมเรื่องนายไชยชนก แต่ไม่เคยปรากฏข่าวนายเนวิน จะออกมาพูดยอมรับหรือปฏิเสธเรื่องดังกล่าวเลย
เช่นเดียวกับกรณีนายอนุทินอ้างว่า ได้นัดหมายพูดคุยกับนายไชยชนก ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา แต่ถึงขณะนี้ ไม่เคยมีปรากข่าวว่าทั้งคู่พบกัน หรือหากพบกัน ผลการเจรจาเป็นอย่างไร นอกจากจะย้ำคำพูดว่า พรรคภูมิใจไทย ไม่ถอนตัวจากรัฐบาล
ความจริง ประเด็นความขัดแย้งระหว่าง 2 พรรคการเมืองใหญ่ในรัฐบาล ได้เดินหน้าไปไกลมากแล้ว และเป็นที่รับทราบกันดีของคอการเมืองพันธุ์แท้ทั่วไป ขณะที่กระบวนการทางกฎหมายได้เดินหน้าควบคู่กันไปแล้ว แต่ 2 ผู้นำคนสำคัญ ที่ได้ชื่อว่าจะเป็นผู้มีส่วนกำหนดว่าการเมืองไทยจะเดินหน้าต่ออย่างไร กลับทำตัวเงียบ เข้าสู่โหมด “เก็บตัว”
ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเมืองไทยขณะนี้ วังเวงจนน่ากลัว ชนิดคาดการณ์อนาคตข้างหน้าไม่ได้ด้วยว่า จะลงเอยอย่างไร
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : “สำนักพุทธฯ” ทำอะไร? ในวันที่ “ศรัทธาพระพุทธศาสนา” อ่อนไหว
“อนุทิน” ลั่น "ฝันกลางวัน" ไม่รู้จักชื่อ "ณฐพร" ยื่นยุบพรรค
คุมตัวกรรมการบริษัทร่วมค้าคดีตึก สตง.ถล่ม ฝากขัง
แท็กที่เกี่ยวข้อง: