ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เจาะลึกช่องโหว่ "วัด" กับความเสี่ยงในการเป็นช่องทาง "ฟอกเงิน"

สังคม
20 พ.ค. 68
20:56
89
Logo Thai PBS
เจาะลึกช่องโหว่ "วัด" กับความเสี่ยงในการเป็นช่องทาง "ฟอกเงิน"
ปัญหาที่เกิดขึ้นในการบริหารจัดการเงินวัด ไม่ใช่เพียงการ "ยักยอกเงิน" แต่หากยังไม่มีการตรวจสอบที่รัดกุม วัดอาจกลายเป็นแหล่ง "ฟอกเงิน" นักวิชาการ TDRI ที่เคยทำวิจัยเพื่ออุดช่องโหว่เหล่านี้ พบว่าไทยยังต้องเพิ่มทั้งกลไกการตรวจสอบและความเข้มข้นของกฎหมายฟอกเงิน

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นกับวัดไร่ขิงนั้น ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ นักวิจัยอาวุโส TDRI พิจารณาตามข้อเท็จจริงแล้วว่า ยังไม่ถือว่าเป็นกระบวนการฟอกเงินตามนิยาม แต่เป็นลักษณะของการยักยอกเงินมากกว่า เป็นการนำเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว หรือโอนให้บุคคลอื่นเพื่อนำไปทำกิจกรรมผิดกฎหมายอย่างเว็บพนัน ซึ่งแตกต่างจากความหมายของการฟอกเงินโดยตรง
นิยามและการทำงานของการ "ฟอกเงิน"

การฟอกเงิน ตามนิยามที่กล่าวถึง คือ กระบวนการเปลี่ยนเงินที่ได้มาจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย (เงินดำ) ให้กลายเป็นเงินที่ "ขาวสะอาด" หรือเงินที่ถูกกฎหมาย

สำหรับรูปแบบการฟอกเงินที่อาจเกิดขึ้นผ่านวัด นักวิจัยอาวุโส TDRI ได้ยกตัวอย่างวิธีการที่วัดอาจถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงิน ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ เช่น

คดีเงินทอนวัด กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐยักยอกทรัพย์สินของรัฐโดยใช้วัดเป็นเครื่องมือในการทอนเงิน หากเจ้าหน้าที่นำเงินที่ได้จากการยักยอกนี้ไปโอนให้ผู้อื่น หรือนำไปลงทุนทำธุรกิจเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินในรูปแบบอื่น ก็ถือเป็นกระบวนการฟอกเงินอย่างหนึ่ง

การฟอกเงินผ่านมูลนิธิของวัด ดังกรณีคดียักยอกเงินสหกรณ์เครดิตคลองจั่น ที่มีการนำเงินไปผ่านวัดแห่งหนึ่งในแถบรังสิต ซึ่งวัดนั้นอาจมีมูลนิธิอยู่ภายใน ทำให้มีการฟอกเงินผ่านมูลนิธิของวัดอีกทอดหนึ่ง เช่น การนำเงินไปซื้อที่ดินถวายวัด หรือบริจาคเพื่อสร้างอาคารต่าง ๆ กรณีนี้ถือเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน

ตัวอย่าง นาย ก. ได้เงินจากการขายยาเสพติดมา แล้วไปติดต่อเจ้าอาวาสวัดหนึ่ง เพื่อเป็นเจ้าภาพจัดสร้างวัตถุมงคล โดยตกลงแบ่งรายได้จากการให้เช่าวัตถุมงคลคนละครึ่ง นี่ก็จะเป็นการฟอกเงิน โดยเปลี่ยนเงินที่ได้จากการขายยาเสพติดมาเป็นรายได้จากการสร้างวัตถุมงคล ตัวอย่างนี้อาจเคยเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย หรืออาจจะไม่เคยก็ได้ เนื่องจากมีการจัดสร้างวัตถุมงคลจำนวนมากในปัจจุบัน โดยไม่ทราบแหล่งที่มาของเงินที่ใช้จัดสร้าง

ปัญหาเชิงระบบ ช่องว่างวัดถูกใช้ฟอกเงิน

ช่องว่างสำคัญที่ทำให้วัดอาจตกเป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน มาจากปัญหาหลัก ๆ ซึ่งธารทิพย์มองว่าเป็น ปัญหาเชิงระบบ มากกว่าปัญหาที่ตัวบุคคล

  • การขาดระบบการตรวจสอบที่ดี ยังไม่มีระบบที่เข้มงวดในการตรวจสอบการดำเนินงานทางการเงินของวัด
  • การขาดความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูล ข้อมูลทางการเงินของวัดแทบจะไม่มีการเปิดเผยสู่สาธารณะ ทำให้ขาดการตรวจสอบจากภายนอก
  • จำนวนวัดที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ประเทศไทยมีวัดมากกว่า 40,000 แห่ง ซึ่งเป็นจำนวนที่มาก ทำให้การดูแลตรวจสอบทั่วถึงเป็นเรื่องยาก

ปัญหาเชิงระบบที่ชัดเจน

  • ระบบการทำบัญชีของวัดยังไม่ได้มาตรฐานและไม่มีการบังคับส่งรายงาน เช่น ในปี 2558 มีวัดกว่า 41,000 แห่ง แต่มีวัดที่ส่งรายงานทางการเงินไม่ถึง 20,000 แห่ง หรือไม่ถึงร้อยละ 50 ด้วยซ้ำ
  • สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติยังขาดการตรวจสอบรายงานที่ส่งมา แม้จะมีรายงานส่งมา แต่ก็ไม่มีการตรวจสอบอย่างละเอียด
  • สาธารณะชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อตรวจสอบได้ ไม่มีช่องทางให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลทางการเงินของวัด

ศรัทธา-ข้อจำกัดด้านความรู้ ช่องโหว่ฟอกเงิน

  • ความศรัทธาของประชาชนต่อวัดและพระสงฆ์ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่อาจทำให้เกิดช่องโหว่ได้ ด้วยความศรัทธา อาจทำให้ประชาชนไม่กล้าเข้าไปตรวจสอบ มองว่าวัดเป็นเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และพระสงฆ์เป็นที่เคารพเลื่อมใส ผู้ทำบุญบางส่วนอาจมองว่าเมื่อบริจาคแล้วก็แล้วแต่พระคุณเจ้าจะนำไปใช้อย่างไร
  • ข้อจำกัดด้านความรู้บัญชีของเจ้าอาวาสที่ส่วนใหญ่มักมีอายุมากและอาจไม่มีความรู้เฉพาะด้านการทำบัญชี ซึ่งเป็นช่องว่างที่ทำให้ท่านต้องไว้ใจผู้อื่น และอาจนำไปสู่การถูกหลอกลวงหรือยักยอกได้ง่าย แนวทางแก้ไขคือ สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ อาจอำนวยความสะดวกโดยจัดหาเจ้าหน้าที่หรือบุคคลภายนอกเข้าไปช่วยทำบัญชีให้แก่วัดได้

ข้อจำกัดทางกฎหมาย ปปง. เข้าไม่ถึงวัด

ประเด็นสำคัญอีกประการคือ อำนาจหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แม้ ปปง. จะมีหน้าที่ดูแลการฟอกเงินอยู่แล้ว แต่ ปปง. สามารถดูแลได้เฉพาะในส่วนของ "มูลนิธิ" เท่านั้น เนื่องจากวัดยังไม่เข้าข่ายนิยามของคำว่า "มูลนิธิไม่แสวงหาผลกำไร" ซึ่งมีนิยามเรื่องรายได้ที่วัดไม่เข้าเกณฑ์

ดังนั้น วัดจึงถูกแยกออกจากการกำกับดูแลของ ปปง. กฎหมายของ ปปง. ยังไปไม่ถึงวัด ทำให้ ปปง. ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบหรือดำเนินการใด ๆ กับวัดได้ เว้นแต่จะมีเหตุอันเป็นประจักษ์พยานหรือเห็นหลักฐานชัดเจนจริง ๆ แม้จะมีมาตราที่ระบุว่าหากมีเหตุอันควรสงสัย ปปง. สามารถเข้าไปสืบค้นได้ แต่ในกรณีของวัดนั้นแตกต่างออกไปเพราะไม่เข้าเกณฑ์นิยาม

ปัจจุบัน วัดมีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายอยู่จริง แต่เป็นการทำอย่างง่าย ๆ และ ยังไม่มีการบังคับให้เปิดเผยต่อสาธารณะ เป็นเพียงการขอความร่วมมือเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ไขปัญหาช่องโหว่ อาจจะต้องมีการเพิ่มความเข้มข้นในจุดนี้ตั้งแต่ต้นทางในอนาคต นักวิชาการอาวุโส TDRI กล่าวปิดท้าย

อ่านข่าวอื่น :

มส.เคาะ 4 มติ จัดระเบียบทรัพย์สินวัด ดึงหน่วยงานนอกตรวจบัญชี

"หลวงพี่น้ำฝน" ยอมรับเคยถวายเงิน อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง

ไม่รอลงอาญา! "เสก โลโซ" ศาลสั่งจำคุกคดีปืน-ยา-ขู่ตำรวจ

เปิดเส้นเงิน "วัดไร่ขิง" ตู้บริจาค 185 ตู้ ไม่เข้าบัญชี จำนวนมากเบิกเกินจริง-ผิดวัตถุประสงค์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง