วันที่ 22 พ.ค.2568 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สั่งการในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เร่งแก้ปัญหาสารปนเปื้อนโลหะหนักตกค้างในแม่น้ำกก, แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง ซึ่งมีสาเหตุจากการทำเหมืองแร่ที่ต้นน้ำในเมียนมา
ผลการตรวจสอบของกรมควบคุมมลพิษ และกรมอนามัย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า แม่น้ำในฝั่งไทยมีสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานหลายจุด แต่ไม่เป็นอันตรายในระยะสั้น โดยให้กรมทรัพยากรน้ำ ออกแบบการสร้างเขื่อนที่มีคุณสมบัติกรองสารพิษ และดูดตะกอนที่ติดค้าง เพื่อรองรับผลกระทบในอนาคต
ตอนนี้เริ่มสำรวจและกำลังออกแบบเขื่อนเพื่อป้องกันปัญหานี้
ย้อนข้อสั่งการนายกฯ เร่งแก้สารปนเปื้อนแม่น้ำกก-สาย
ที่ผ่านมาอาจยังไม่เห็นทิศทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจน แต่หลังประชุม ครม. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการหลายประเด็น เช่น การมอบหมายให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ ที่กำกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามและรายงานการจัดการแหล่งที่มาของปัญหา รวมถึงการเจรจากับเพื่อนบ้าน เพื่อหยุดหรือปรับปรุงวิธีการทำเหมือง
ส่วนสิ่งที่ดำเนินการไปแล้วและกำลังจะทำ แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ การจัดการแหล่งที่มาปัญหา มีข้อตกลงให้ กรมควบคุมมลพิษ ทำหน้าที่ประมวล สังเคราะห์ข้อมูล และร่วมหารือกับ GISTDA, ให้กรมอนามัย และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเมืองแร่ ประมวลข้อมูลส่งให้กรมกิจการชายแดนทหาร และกรมเอเชียตะวันออก ใช้ประกอบการเจรจา
การแก้ปัญหาการปนเปื้อนแหล่งน้ำ มีมาตรการ เช่น แผนขุดลอกแม่น้ำกก ระยะทาง 3 กิโลเมตร ใน อ.เมืองเชียงราย, ศึกษาการจัดการตะกอน เช่น ปรับสภาพน้ำ, ระบบตักตะกอน และการเบี่ยงกระแสน้ำ
การเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมและผลกระทบสุขภาพ สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความถี่เก็บตัวอย่าง น้ำและตะกอนดิน ทั้งแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง เพิ่มเป็น 2 ครั้งต่อเดือน เริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค. - ก.ย.นี้
การบริหารจัดการ ให้ตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน มีรองนายกฯ ประเสริฐ เป็นประธาน

นายกฯ กำชับถกปัญหาสารปนเปื้อน ผ่านการประชุม RBC
นายกรัฐมนตรี ยังได้กำชับให้มีการติดตามการแก้ปัญหาที่ต้นตอ ผ่านการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค หรือ RBC ที่เมืองเชียงตุง รัฐฉาน ระหว่างวันที่ 17 - 20 มิ.ย.นี้ โดยกรมกิจการชายแดนทหาร จะบรรจุปัญหานี้ในการหารือด้วย
ส่วนกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ จะทำหนังสือจากสถานทูตไทยในเมียนมา เชิญผู้แทนมาหารือการแก้ปัญหาอีกทางหนึ่งด้วย
นักวิชาการเสนอไทยประสานจีน เจรจา "ว้า" แก้ปัญหาเหมือง
ขณะที่ ผศ.ลลิตา หาญวงษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ มองว่า การประชุม RBC อาจช่วยแก้ปัญหาได้ไม่มาก เพราะรัฐบาลเมียนมา ไม่สามารถสั่งการไปยังพื้นที่อิทธิพลของว้า ที่พบการทำเหมืองได้โดยตรง จึงเสนอให้ไทยประสานความร่วมมือไปยังจีน เพื่อให้จีนช่วยพูดคุยกับว้า เพราะจีนคือผู้สนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆ ให้กับว้าในปัจจุบัน
ส่วนการที่ไทยจะคุยกับว้าโดยตรง เป็นไปได้ยาก เพราะว้าไม่ได้มีสถานะที่เป็นทางการ ไม่มีหลักประกันใด ๆ ในการเจรจา และหากมีการพูดคุยโดยตรงจริง เชื่อว่าเมียนมาจะทำหนังสือประท้วง เพราะเมียนมาไม่ได้รับรองสถานะว้าเช่นกัน จึงย้ำข้อเสนอการขอความร่วมมือจีน ควบคู่กับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่รัฐบาลไทยกำลังทำอยู่
นอกจากแนวนโยบายที่ได้เปิดเผยไปก่อนหน้านี้ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ ยังเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจ บริหารสถานการณ์ อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา วันนี้หารือถึงสถานการณ์แม่น้ำกก ซึ่งที่ผ่านมาหารือกับนาย อู ตาน ฉ่วย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ของเมียนมา เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้แล้ว
นอกจากนี้ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 46 ที่มาเลเซีย ระหว่างวันที่ 26-27 พ.ค.นี้ จะนำเรื่องนี้ขึ้นมาหารือ เพราะต้องให้มาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน มีบทบาทร่วมกับไทย และต้องให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้ามาพูดคุยผ่านกรอบของอาเซียนด้วย

อ่านข่าว : "แม่น้ำกก" วันนี้เหมือน "คลิตี้" ในวันวาน
สกู๊ปพิเศษ! เปิดพื้นที่อิทธิพล “ว้า” สู่เหมืองแร่ : กระทบคนลุ่มน้ำโขง-แม่กก-แม่สาย
พบปลาน้ำกก-น้ำโขง เป็นตุ่ม หวั่นสารพิษทำลายระบบนิเวศปลา จ.เชียงราย