วันนี้ (22พ.ค.2568) พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ตัวแทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สตง. ป.ป.ท. และ ปปง. ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนคดีอดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิงยักยอกเงินวัด
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ เปิดเผยว่า ภายหลังจับผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่เก็บหลักฐาน พร้อมตรวจสอบข้อมูลรายได้ของวัดไร่ขิง และบัญชีต่าง ๆ ที่ถือควบคุมอยู่ เพื่อตรวจสอบการกระทำความผิดที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อวัดและประชาชนอย่างรอบคอบ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและอาจกระทบต่อความศรัทธาของประชาชน

ช่วงหนึ่งของการแถลง เจ้าหน้าที่ได้เปิดคลิปเสียงการสนทนาระหว่างอดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง กับ น.ส.อรัญญาวรรณ โดย พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ยืนยันว่ามีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับ น.ส.อรัญญาวรรณ เป็นบุคคลที่สนทนากับอดีตเจ้าอาวาสในคลิปเสียงดังกล่าว ซึ่งนำเงินไปเล่นการพนัน
ส่วนความสัมพันธ์ของทั้งสอง แนวโน้มไปในทางมีความสัมพันธ์แบบลึกซึ้ง โดยรู้จักกันตั้งแต่ที่ น.ส.อรัญญาวรรณ เรียนอยู่ที่โรงเรียนวัดไร่ขิง และได้เริ่มติดต่อขอยืมเงินกันช่วงปี 2563 จำนวนหลักพันถึงหลักหมื่นบาท ก่อนความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้น ถึงขั้นวีดีโอคอล และพูดคุยกันในเชิงอนาจาร จนพบว่ามีเงินไหลออกจากบัญชีส่วนตัวและบัญชีวัดไร่ขิง เชื่อมโยงไปถึง น.ส.อรัญวรรณ มากขึ้น
จนกระทั่งในช่วงเดือน ธ.ค.ปี 2567 น.ส.อรัญญาวรรณ ได้ถูกตำรวจไซเบอร์ดำเนินคดีเกี่ยวกับเว็บการพนัน จึงขอความช่วยเหลือกับอดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง และพบโอนเงินในช่วงปี 2567 มากถึง 200 ล้านบาท ส่วนการตรวจสอบบัญชีในวัดไร่ขิง ข้อมูลในวันนี้ พบบัญชีของวัดไร่ขิง จำนวน 51 บัญชี, =บัญชีส่วนตัวของอดีตเจ้าอาวาส 21 บัญชี, บัญชี น.ส.อรัญวรรณ 12 บัญชี

จากแผนผังเส้นทางการเงินที่ถูกยักยอกออกไปจากวัด มีเงินจากแหล่งที่มาต่าง ๆ เข้าบัญชีอดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง จำนวนกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าได้มาจากการยักยอกของเงินวัดไร่ขิง เป็นส่วนใหญ่ ถูกโอนออกไปยังบัญชี น.ส.อรัญญาวรรณ 3 ช่องทาง ช่องทางแรกถูกโอนไปยังบัญชีส่วนตัวของอดีตเจ้าอาวาสฯ ไปยังบัญชี น.ส.อรัญญาวรรณ 63 ล้านบาท, ถูกโอนไปยังบัญชีพระมหาเอกพจน์ จำนวนกว่า 113 ล้านบาท และถูกโอนผ่านบัญชีของนายฉัตรชัย กว่า 63 ล้านบาท ก่อนเข้าสู่บัญชีนางสาวอรัญวรรณกว่า 300 ล้านบาท
ก่อนพบเส้นเงินของ น.ส.อรัญญาวรรณ ไปพัวพันกับเว็บการพนัน กว่า 2,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปี 2567

ส่วนประเด็นในเรื่องของการแบล็คเมล์ ที่ น.ส.อรัญญาวรรณ เข้าข่ายไปรีดเอาทรัพย์ของอดีตเจ้าอาวาสหรือไม่นั้น ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ระบุว่า ประเด็นนี้ไม่เข้าข่ายรีดเอาทรัพย์ เนื่องจากทั้งสองคนถือว่าร่วมการกระทำความผิดในคดียักยอกทรัพย์ และพบว่ามีการโยกย้ายเงินแปลงเป็นทรัพย์สิน เป็นโฉนดที่ดินในพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา อีกหลายแปลง โดยมีชื่อผู้ครอบครองเป็น น.ส.อรัญญาวรรณ
ส่วนการตรวจสอบแหล่งที่มาของรายได้วัดไร่ขิง ในช่วงปี 2567 ที่พบว่าถูกยักยอกเงินในบัญชีเป็นจำนวนมากนั้น ถูกแยกออกเป็น 3 ส่วน รายได้ที่ถูกจัดส่งห้องการเงินของวัดไร่ขิง จำนวน 107 ล้านบาท
รายได้ที่ไม่ได้นำส่งห้องการเงินจำนวน 69 ล้านบาท มาจาก วัตถูมงคลรุ่นพิเศษ 4 ล้านบาท, เงินประมูลร้านค้างานประจำปี 2 งาน 48 ล้านบาท, เงินกฐิน 4 ล้านบาท, ค่าเช่าร้านค้ารายเดือน 1 ล้านบาท, ร้านสวัสดิการ 12 ล้านบาท และส่วนบัญชีของมูลนิธิ 3 มูลนิธิของวัดไร่ขิง

จากข้อมูลพบว่าในส่วนนี้ ควบคุมโดย น.ส.เตย เป็นผู้ดูแลจัดการเกี่ยวกับเงินในบัญชีทั้งหมด ในจำนวนเงิน 69 ล้านบาท ที่ไม่ได้ส่งให้ต่อห้องการเงินของวัดไร่ขิง ขณะนี้ตำรวจอยู่ระหว่างหาความเชื่อมโยงว่าเงินจำนวนทั้งหมด ถูกยักยอกออกไปจากวัด หรือนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์อย่างไรบ้าง หากพบการกระทำความผิดก็จะต้องถูกดำเนินคดี รวมถึงข้อสงสัยที่เป็นชื่อผู้ครอบครองทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก
ส่วนข้อมูลเชิงลึกของ น.ส.เตย พบว่า สนิทกับอดีตเจ้าอาวาสตั้งแต่ปี 2551 แต่ในส่วนเส้นเงิน 300 กว่าล้านบาท ที่โอนให้กับนางสาวอรัญญาวรรณ น.ส.เตย ไม่มีเส้นเงินไปเชื่อมโยงถึง จึงไม่ได้ถูกกล่าวหาในฐานความผิดในส่วนนี้
พ.ต.ท.สิริพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบวงแรกที่มีการยักยอกเงินวัดออกไป พบประมาณเกือบ 10 คนที่เกี่ยวข้องเป็นคนใกล้ชิดกับอดีตเจ้าอาวาส รวมถึง น.ส.อรัญญาวรรณ และพระรูปอื่น ๆ ด้วย อีกทั้งยังพบรายการฝากถอนเฉพาะบัญชีเดียว (บัญชีวัด) กว่า 20,000 รายการ และยังมีการนำเงินไปซื้อที่ดิน อ.ปากช่อง อีกหลายแปลง โดยใช้ชื่อของ น.ส.อรัญญาวรรณ เป็นผู้ถือครอง
หลังจากนี้ยังมีอีกวงหนึ่งที่ต้องตรวจสอบ คือ วงของเงินที่นำออกไปใช้ ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบและสืบสวนต่อไปในทุกวง ทั้งนี้ ยังพบความผิดปกติในการเบิกจ่ายค่าน้ำค่าไฟของวัด เป็นจำนวน 4 ล้านบาท เข้าบัญชีของอดีตเจ้าอาวาส และ น.ส.อรัญญาวรรณ และยังมีการเบิกจ่ายเงินอีกหลายร้อยล้านที่ไม่ได้ทำบัญชีอย่างถูกต้อง ซึ่งตำรวจต้องติดตามหาเงินจำนวนดังกล่าว
ส่วนตู้บริจาคของวัดไร่ขิงจำนวน 185 ตู้ มีเงินบริจาคสูงสุดวันละ 1 ล้านบาท ต่ำสุดหลักแสน เฉลี่ยวัดไร่ขิงมีรายได้ต่อเดือนประมาณ

นายคณพศ หวสาวรางกูร ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน (สตภ.3) จ.นครปฐม เปิดเผยว่า พบบัญชีมูลนิธิวัดไร่ขิง 3 บัญชี มีความเคลื่อนไหวผิดปกติ ได้แก่ บัญชีมูลนิธิหลวงพ่อวัดไร่ขิง บัญชีพระครูบาลีคุณูปมาจารย์ (ปัญญา อินทปัญโญ) มูลนิธิเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง)
ทั้ง 3 บัญชี อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง เป็นประธาน และการตรวจสอบพบว่าอดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง ได้ยืมเงินจำนวน 35 ล้านบาท จากบัญชีมูลนิธิหลวงพ่อวัดไร่ขิง โดยไม่บอกสาเหตุ ก่อนถูกทวงถามจากคณะกรรมการของมูลนิธิในช่วงปี 2567 และได้คืนจำนวนเงินมาเพียง 5 ล้านบาท ยังคงค้างอยู่อีก 30 ล้านบาท อีกทั้งมีข้อมูลยืมเงินจำนวน 9 ล้านบาทจากบัญชีพระครูบาลี คุณูปมาจารย์ จำนวน 9 ล้านบาท ใช้คืนงวดละ 1,100,000 บาท
ส่วนบัญชีมูลนิธิเมตตาประชารักษ์ ที่มีประเด็นว่าเงินจากตู้บริจาคไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลจริง ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบรายการเดินบัญชี
นายบุญเชิด กิตติรางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีมติให้วัดทำบัญชีทุกปี ซึ่งมีตัวอย่างการทำบัญชีวัด 75 วัด ที่ทำบัญชีอย่างถูกต้องและโปร่งใส แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับวัดไร่ขิงเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิด เมื่อเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว สร้างความเสื่อมเสียให้กับพระพุทธศาสนา สมเด็จพระสังฆราชจึงได้พระลิขิตมายังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อขอให้พิจารณาแนวทางในการนำเสนอข้อปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงประชุมร่วมกับมหาเถรสมาคม เสนอเป็นแนวทางปฏิบัติ 4 ข้อหลัก ดังนี้
แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการสาธารณสมบัติของวัด โดยมีประธานกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่วางแนวทางและข้อเสนอเชิงนโยบาย
ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการคลัง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อร่วมกันกำหนดกฎเกณฑ์ และกระบวนการบริหารจัดการทรัพย์สินของวัด ก่อนเสนอต่อมหาเถรสมาคมเพื่อประกาศเป็นข้อบังคับใช้ทั่วประเทศ
จัดทำบัญชีวัดให้ได้มาตรฐานตามหลักกฎหมายและธรรมาภิบาล โดยกำหนดนโยบายให้การจัดทำบัญชีมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นระบบที่ได้มาตรฐาน
ส่งเสริมการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการรับบริจาคและทำบัญชีวัด เพื่อให้ข้อมูลด้านการเงินสามารถตรวจสอบได้สะดวก และสอดคล้องกับข้อกำหนดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมสรรพากร

ส่วนประเด็นของเรื่องการวิ่งเต้นเจ้าคณะภาค 14 ที่มีรายงานข่าวว่าอดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง ใช้เป็นข้ออ้างไปยืมเงินเจ้าอาวาสในพื้นที่นครปฐม รายงานการสืบสวนพบว่ามีเงินเข้าบัญชีจากเจ้าอาวาสไปยังบัญชีอดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง 5 รายชื่อ แต่ยังต้องสอบสวนหาสาเหตุถึงการโอนเงินว่าให้เพราะสาเหตุใด ส่วนจะขายเรียกเงินเพื่อนำไปวิ่งเต้นขึ้นเจ้าคณะภาค 14 หรือไม่นั้น จะตรวจสอบภายหลัง ซึ่งประเด็นนี้ทางสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยืนยันว่ายังไม่ได้รับรายงานการร้องเรียนในเรื่องนี้
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
-